‘จิตร์ จิตฺตสํวโร’ กับการใช้ชีวิตให้เหมือนบันทึก ที่พร้อมวางปากกาเมื่อถึงหน้าสุดท้าย

Last updated on ก.พ. 24, 2023

Posted on ต.ค. 12, 2021

สำหรับคุณแล้ว มองว่าชีวิตเป็นปลายเปิดหรือว่าปลายปิด และมองว่าชีวิตที่คุณกำลังใช้อยู่นั้นเป็นสิ่งที่ไร้กาลเวลาหรือว่ามีจุดสิ้นสุด?

วันนี้เราได้รับเกียรติพูดคุยในเรื่องของชีวิต และความสำคัญของการเข้าใจตัวเอง กับ พระอาจารย์ ‘จิตร์ จิตฺตสํวโร’ หรือหลวงพี่โก๋ ผู้เป็นเจ้าของเพจวิชาใจ และท่านยังเคยขึ้นพูดบนเวที TEDxBangkok เมื่อหลายปีก่อน

หลายคนอาจเคยได้รู้จักท่านจากบทบาทนักกลยุทธ์โฆษณาของเอเจนซี่ชั้นนำ รวมถึงการเป็นอาจารย์สอนด้านการดีไซน์เมื่อหลายปีก่อน ทว่าปัจจุบันหลวงพี่ได้ลาออกจากทางโลกมากว่า 7 ปีแล้ว และในวันที่เรามีโอกาสได้พูดคุยกับหลวงพี่นั้น หลวงพี่บอกเราว่าตอนนี้ท่านมีอาวุธในการพูดคุยกับเราเพียง 2 สิ่งเท่านั้น คือหูฟังที่คนอื่นให้มา และโทรศัพท์มือถือหนึ่งเครื่องที่หลวงพี่ก็ไม่แน่ใจว่าเป็นรุ่นอะไร หรือแม้กระทั่งว่าตอนนี้โลกนี้ดำเนินไปถึงไหนแล้ว อินเทอร์เน็ตที่หลวงพี่ใช้ก็ไม่ค่อยเสถียร เดี๋ยวหมุนเดี๋ยวค้าง และไหนจะเสียงเครื่องจักรขุดดินในบริเวณที่พำนักของหลวงพี่แทรกมาให้ได้ยินเป็นระยะ ทว่าวันนั้นเรากลับได้รับสิ่งสำคัญของบทสนทนานี้มาอย่างเต็มเปี่ยม ด้วยความตั้งใจของหลวงพี่ที่อยากให้ในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับคนฟัง… 

ขอเชิญทุกคนเข้าสู่บทสนทนาที่คุณจะได้รับอะไรหลายๆ ที่อาจคลายความสงสัยและปรับมุมมองบางอย่างเกี่ยวกับชีวิตที่เคยคุมเครือให้ได้กระจ่างมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมาก่อน


ทำไมหลวงพี่ถึงเลือกจะยุติบทบาทในวงการโฆษณาแล้วมาบวชเป็นพระ

จริง ๆ เป็นคนรักงานนะครับ ถ้าไม่พบการบวชก็คงจะไม่ยอมเกษียณหรอก เพราะรักการทำงาน รักการที่เราจะได้เข้าใจเพื่อนมนุษย์ แม้จะค้าขายกับเขา แต่เป็นคนที่จะไม่คิดว่าเราหักหลัง consumer เราจะรู้ว่าเค้าต้องการสิ่งนี้ แล้วก็ business mission ต่าง ๆ เขาสามารถไปดูแลทำให้คุณภาพชีวิตเค้าดีขึ้นได้ยังไง เราเป็นคนรักเพื่อนมนุษย์โดยธรรมชาติ เวลาที่เราศึกษาเรื่องเพื่อนมนุษย์แล้ว เราก็สนใจที่จะศึกษาเรื่องตัวเองด้วย เพราะฉะนั้นในปีหลัง ๆ มันเลยเรียกว่าคู่ขนาน เวลาที่เราเข้าใจจิตใจของคน เราก็อยากจะเข้าใจ จิตใจตัวเอง แล้วก็เราอยากจะทำสิ่งนี้ full time เลย

ยิ่งทำงาน ยิ่งเข้าใจเลยว่า ทุกอย่างมันเริ่มต้นที่ใจ คนเราทำอะไรหลาย ๆ อย่าง เพราะมันเป็นความที่เราโหยหา หรือเราอะไรสักอย่างที่ใจของเรา แล้วสินค้าบริการต่าง ๆ มันเข้าไปเติมเต็ม
คำถามของหลวงพี่ก็คือ ถ้าเราสามารถเติมเต็มตัวเองได้ ถ้าเราสามารถเข้าใจตัวเองได้ เราน่าจะมีความสุขมาก


รวบรวมวันพักร้อนสมัยทำงานไปบวช

หลวงพี่บวชตั้งห้าครั้งนะ ไม่ใช่เป็นคนแบบโอ้ เด็ดขาด บวชทีเดียว หลวงพี่ก้าวเข้า แล้วก็ก้าวออกทั้งหมดแล้วสี่ครั้ง กว่าจะถึงวันนี้ ตั้งแต่สมัยยังเป็นพนักงานบริษัท ยังเป็นลูกจ้างเลย ก็จัดสรรเวลาไปบวช รวบรวมพักร้อน เมื่อก่อนเป็นพนักงานระดับ operation level หลวงพี่รวบรวมพักร้อนทั้งหมดมาบวชหนึ่งเดือน แล้วก็ชอบนะ ไม่ได้ชอบที่แบบแยกไปจากคน แต่ชอบที่กระบวนการที่จะเรียนรู้ ที่จะสังเกตการณ์ความเป็นไปของตัวเอง ไม่ชอบพิธีกรรมนะ ไม่ได้ชอบชุดสงฆ์

หลวงพี่ไม่ได้เป็นคนชอบพิธีกรรม ติดไปทางรำคาญด้วยซ้ำ เราไม่ชอบพิธีรีตอง เราไม่ชอบอะไรที่มันมีระดับ แต่ชอบการทำความรู้จักตนเอง เผอิญศาสตร์ที่เรานิ่ง หยุดนิ่ง แล้วก็กลับมาสังเกตตัวเอง เป็นศาสตร์ที่หลวงพี่ได้เรียนรู้จากพระพุทธศาสนา จริง ๆ ศาสนาอื่นก็อาจจะสอน แต่เผอิญ entry point ของหลวงพี่คือการไปปฏิบัติธรรม จนอยากทำแบบนี้ full time


จุดที่ทำให้ตัดสินใจจะทำ Full Time

ที่หลวงพี่ตัดสินใจทำ full time ก็เพราะหลวงพี่พบว่าชีวิตเราไม่ต้องทุกข์ก็ได้ ถ้าเราเข้าใจจิตใจ เข้าใจร่างกาย คนเราไม่ต้องทุกข์ก็ได้ เราไม่จำเป็นต้องเป็นทุกข์ อันนี้พอเริ่มรู้จักรสชาติของมันจริง ๆ ว่ามันเป็นอย่างนี้จริง ๆ หลวงพี่ไม่อยากให้มันเป็นนามธรรม

เหมือนกับความรู้สึกนึกคิดอารมณ์เรา มันเหมือนเป็นของร้อนเลยนะ มีเพลงที่เขาพูดกัน เพลงก้อนหินก้อนนั้น นานมากแล้ว มันเหมือนเป็นเรื่องร้อนใจ แล้วเราก็กำมันไว้ เราไม่อยากไม่สบายใจ เราไม่อยากรู้สึกอย่างนั้น แต่เราก็ยังจะรู้สึกอย่างนั้น แล้วบางทีเราก็ไม่รู้ว่าเราจะออกจากความรู้สึกเหล่านั้นได้อย่างไร

หลวงพี่เรียนวิธีที่รู้ว่าเรากำอะไรอยู่ มันเกิดขึ้นได้ยังไง แล้วเราก็คลายมือ คือจริง ๆ แล้ว มัน simple มากเลยนะครับ มันไม่ได้สลับซับซ้อน มันเหมือนกับการที่เราหยุดอยู่กับตัวเอง โดยที่มีจุดอะไรสักจุดหนึ่ง เป็นจุดที่หยุด แล้วเราดูว่าจิตใจเราเขาทำอะไร เขาไปอะไร เขามีพฤติกรรมยังไง แล้วเราเริ่มไม่เอาด้วยกับเขา


เราแยกกันหรอคะ?

มันแยกกัน มันแยกกันจริง ๆ จิตใจคนเรานะ อันนี้ขอพูดแบบภาษาไม่ใช่ธรรมะธรรมโมนะ มันเหมือนเรามีนกอยู่ในหัวใจ แล้วเขาก็พูดนั่นพูดนี่ เมื่อก่อนเราพูดเออออห่อหมกกับเขาหมดเลย ร้อยเปอร์เซ็นต์ จนกระทั่งหลวงพี่มาสังเกตเรื่อย ๆ ว่าเราไม่จำเป็นต้องเออออห่อหมกกับเขาด้วยหนิ ซึ่งบางทีมันก็ไม่แฟร์ เขาชวนให้เรารู้สึกไม่ดีกับคนอื่น ชวนให้เรารู้สึกไม่ดีกับตัวเอง ชวนให้เราต้องการนู่น ชวนให้เราโมโหนี่ เฮ้ย เราไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย แล้วหลวงพี่ก็เริ่มไม่เออออห่อหมกกับเขามากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วเรามีความสุขมาก เรารู้ว่าเรามีทางเลือกที่จะไม่ต้องโอเคกับเขาก็ได้ เหมือนกับเราอยู่กับความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ของเรา อย่างเป็นกลาง แล้วมันก็อยู่กันไป


ใช้เวลาเตรียมตัวก่อนบวชเยอะไหมคะ

หลวงพี่พูดตรง ๆ หลวงพี่แทบต้องละทุกอย่างเลยนะครับ ตอนนั้นที่บวชนี่หลวงพี่ก็ยกทั้งหมดเลยให้กับทีมงาน หลวงพี่ใช้เวลานะ ไม่ใช่แบบคิดจะบวชจะไปแล้วนะ หลวงพี่มี exit plan นะครับ เตรียมตัวตั้งสามปี ค่อย ๆ  step back และช่วงหลังนี่ถึงกับต้องบวชประมาณสองถึงสามหนก่อนที่จะมาบวชแบบยาว ๆ ครั้งที่สาม บวชที่วัดหลวงพ่อกล้วย  แล้วก็มันยังมีเหมือนสัญญาใจ ที่เราต้องออกมาช่วยเหลืออยู่ แต่หลวงพี่รู้แล้วว่าหลวงพี่เลือกสิ่งนี้ แล้วก็ออกมาปุ๊บก็มาบวชอีกหนึ่งพรรษา คือเมื่อไหร่มีโอกาส หลวงพี่จะขอบวช แล้วหลังจากหนึ่งพรรษาหลวงพี่ก็เคลียร์ทุกอย่างให้เสร็จหมดเลย งานสอนหนังสืออะไรก็สอนให้เสร็จ ให้เกรดให้เสร็จ หมดทุกอย่างเลย แล้วหนนี้เรารู้แล้ว เราเลือกสิ่งนี้แหละ เราเลือกสิ่งนี้เป็นชีวิต เราเลือกสิ่งนี้เป็นวิถีชีวิต


อะไรทำให้เลือกสิ่งนี้เป็นวิถีชีวิต

อย่างแรก คือเราไม่จำเป็นต้องทุกข์แล้ว ถ้าเราอยู่กับตัวเองเป็น ปกติแล้วเนี่ย คนเราอยู่กับตัวเองไม่เป็นนะ เราต้องอยู่กับอะไรซักอย่าง เราต้องอยู่กับข้าวของเครื่องใช้ อยู่กับใครสักคนหรืออยู่กับความคิด ถ้าเราอยู่กับตัวเองเป็น คือเราอยู่กับร่างกาย จิตใจตัวเองเป็น เราสบายแล้ว หลวงพี่ไม่อยากเรียกว่ามีความสุขมาก เรียกว่าสบาย ไม่ทุกข์ร้อนเรื่องตัวเอง หลวงพี่ยังไม่ได้บรรลุอะไรใหญ่โตนะ แต่แค่นี้หลวงพี่ก็รู้สึกขอบคุณมากแล้ว อันนี้คือเหตุผลที่หนึ่ง คือหลวงพี่พบว่ามันดีจริง ๆ

อย่างที่สองหลวงพี่เห็นคนที่ไม่สบายใจ ทั้ง ๆ ที่เขา deserve มากเลยที่จะสบายใจ เขามีปัจจัยสี่ครบ แต่ก็ยังไม่สบายใจ หลวงพี่อยากจะบวชเพื่อคนเหล่านี้ด้วย เพราะว่าเขาควรที่จะสบายใจได้ เขาไม่จำเป็นที่จะต้องรู้สึกแย่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นหลวงพี่บวชเพื่อตนเอง และหลวงพี่คิดว่ามันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากสำหรับคนที่สนใจด้วย


การช่วยเหลือลูกค้าตอนทำโฆษณากับการช่วยเหลือผู้คนตอนบวชเป็นพระ

การช่วยเหลือลูกค้า pain point ก็คือ business issue ต่างๆ ประเด็นทางธุรกิจต่าง ๆ พอมาอยู่ที่นี่ หลวงพี่คิดว่ามันต่างกันมากเลยนะ ในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมา หลวงพี่มีโอกาสไปดูแลเป็นจิตอาสาให้ผู้ป่วยระยะสุดท้าย หลวงพี่ว่ามันสำคัญมาก ๆ เลย คือ ในระยะสุดท้าย ถ้าคนอยู่กับตัวเองเป็น อยู่กับความคิด อยู่กับอารมณ์ของตัวเองเป็น มันจะเป็นอีกทรงนึงเลยนะ ถ้าอยู่ไม่เป็นแล้วถูกความคิดความรู้สึก อารมณ์ ความเห็น อะไรต่าง ๆ เหล่านี้รังแก จะเป็นผู้ป่วยที่เดือดเนื้อร้อนใจมาก มันเห็นได้ชัดครับ สิ่งที่เราทำมากก็คือชวนให้คนพาตัวเองออกจากอารมณ์ พาตัวเองออกจากอารมณ์ง่าย ๆ 

บางทีนะเรากลับมานั่งหายใจของเราสักครู่นึง แล้วเราวางตัวเองจากความคิดอะไรต่าง ๆ ปลีกตัวจากความคิด ความกังวล ความเห็นสักครู่ มันก็สบายใจมาก ๆ แล้วนะ เราลองคิดดู เวลาที่เราไม่ต้องกังวล เวลาที่เราไม่ต้องห่วง เวลาที่เราไม่ต้องดีใจ เวลาที่เราไม่ต้องเสียใจ เพราะมันเป็นช่วงเวลาที่ดี ดีใจยังไงมันก็ดีกว่าเสียใจ ดีกว่ากังวลเนอะ สมหวังมันก็ดีกว่าผิดหวัง แต่การที่เราออกจากทุกอารมณ์ มันเป็นช่วงเวลาเกลี้ยง ๆ แล้วเราก็เห็นอารมณ์ต่าง ๆ เป็นของมา ๆ ไป ๆ เป็นเพื่อนแหละ เราอยู่กับสิ่งเหล่านั้นเป็น เราไม่ได้ไปรับทุกข์ รับโทษของเขา ก็คือทำให้เราอยู่กับตัวเองเป็น


มุมมองและความเข้าใจที่มีต่อโลกเปลี่ยนไป

เราเข้าใจโลกต่างกันมากนะ มุมมองเมื่อก่อนเราจะพยายามทำความเข้าใจเหตุผล ทำไมมันถึงเป็นแบบนี้ ทำไมมันถึงเป็นอย่างนี้ Why อยู่ตลอดเวลา แล้วก็มันเป็นอย่างอื่นได้ไหม เพราะว่าอาชีพของเราคือการเปลี่ยนแปลงคนอื่น อยากจะให้เขาซื้อ อยากจะให้เป็นอย่างที่เราคิดว่ามันควรจะเป็น เราอยากจะให้โลกเป็นอย่างที่มันควรจะเป็น

ทุกวันนี้ คำว่าทำไมมันถึงเป็นอย่างนี้มันน้อยลงมาก แต่เรารู้ว่าเขาเป็นอย่างนั้น และเรายอมรับเขาได้

เพราะฉะนั้นจากการที่เมื่อก่อน Why ก็คือ investigate ว่าทำไมมันถึงเป็นอย่างนี้ล่ะ แล้วในสมัยก่อนถ้าเรารู้สึกเราพอทำอะไรได้ เราก็จะเข้าไปแทรกแซง ให้มันเป็นไปในลักษณะที่มันควรจะเป็น ทุกวันนี้ถามว่าเรามี intervention มั้ยก็มี แต่กระบวนการที่ดีขึ้นมาก ๆ เลย ก็คือการยอมรับ เพราะฉะนั้นเราจะไม่เข้าไปแทรกแซง เพราะเราเซ็ง เรารับไม่ได้ เรารำคาญ เราโกรธ แต่ intervention ต่าง ๆ เราจะเข้าไปก็เพราะเราเห็นแล้วว่าเราพอทำได้


เปลี่ยนจากการตั้งคำถามมาเป็นการทำความเข้าใจ?

เมื่อก่อนเราก็ทำความเข้าใจ แต่ตอนนั้นเวลาที่เราทำความเข้าใจแล้ว ความคิดเห็นเราเยอะ เห้ย อย่างนี้มันไม่ดี อย่างนี้มันไม่ถูก แต่เดี๋ยวนี้เรารับได้ เราเข้าใจนะ แล้วเราก็รับได้ คือมันมีกระบวนการที่เราโอเคกับมัน ก่อนที่เราจะก้าวเข้าไป ดูว่าเราทำอะไรให้ดีขึ้นได้มั้ย แต่เมื่อก่อนมันทำเพราะเรารู้สึกเราไม่ชอบ หรือเราไม่สบายใจ ทำแล้วมันจะสบายใจ


สิ่งที่ยากของการเป็นฆราวาส กับสิ่งที่ยากของการเป็นพระ

เป็นฆราวาสยากนะ ต้องดูแลหลาย ๆ มิติ ตั้งแต่ความเป็นอยู่ของตัวเอง ความเป็นอยู่ขององค์กร ครอบครัว สารพัดเลย เราต้องดูแลทุกอย่างไปหมดเลย แต่การเป็นพระ เราเริ่มต้นจากการดูแลตัวเองให้ดี ดูแลคำพูด ดูแลความคิด ดูแลการกระทำ เพราะฉะนั้นจุดที่เราดูแลตัวเองและเราเอาตัวเองที่เรียบร้อยไปดูแลผู้อื่น มันคล้าย ๆ กัน แต่ว่าเวลาที่เราเป็นฆราวาส เรามักจะดูแลผู้อื่น แล้วลืมดูแลตัวเอง


ความเรียบง่ายของการเป็นพระ

คือหลวงพี่แฮปปี้มากเลยนะ ที่หลวงพี่มีเสื้อผ้าอยู่ชุดเดียวแล้วไม่ต้องคิด แล้วก็ฉันอาหารมื้อเดียวแล้วก็ไม่ต้องคิด เราไม่จำเป็นจะต้องมานั่งคิดเรื่องพวกนี้แล้ว เราไม่จำเป็นจะต้องมานั่งคิดว่าเราจะไปที่ไหน คือไม่ได้อยากไปที่ไหน เราไม่จำเป็นต้องคิดเรื่องหาสตางค์ เราศึกษาเรื่องข้างใน ถ้าพูดตรงที่สุดเลยนะ หลวงพี่คิดว่าเป็นบุญมากเลยนะ เป็นพระอยู่ในศาสนาพุทธ ในประเทศไทย มันเหมือนสังคมเขาลงทุนให้เราเรียน คนก็ให้อาหารเรา คนก็ให้ที่พักเรา ญาติให้เสื้อผ้ามาสักสองชุด เราก็อยู่ได้แล้ว คือความอยู่ง่าย กินง่าย นอนง่าย มันอยู่ในนั้น แล้วเราก็เอาทุนที่สังคมมอบให้มาเรียนเรื่องใจ แล้วก็ตอบแทนสังคมในระดับที่เราพอทำได้ คือถ้าไม่ตามใจปาก ไม่ตามใจการนอน ไม่ตามใจตัวเองเรื่องความเป็นอยู่ ชีวิตพระมันเป็นอะไรที่เรียบง่ายมากเลยนะ


แต่การตัดสินใจบวชเป็นพระนี่ยาก?

ยากครับ เพราะมันคือการที่เราจะต้องวางชีวิตมิติทางโลกเรา มันก็ช็อคเหมือนกันนะ เมื่อก่อนที่เรารู้สึกว่าเรามีค่า แล้วเราแบบมาบวชหนึ่งปี ก็ไม่มีใครเดือดร้อน มันดูเหมือนคุณหายไปจากโลกเลยก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถ้าบางทีคิดดูดี ๆ มันก็น่าตกใจ

หลวงพี่หายไปจากโลกแล้วเนี่ยเจ็ดปี ก็ไม่มีใครเสียใจ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น มันก็น่าช็อคเหมือนกันนะ ว่าบางทีโลกก็ไม่ได้ต้องการเราขนาดนั้นหรอก’

เคยคิดมั้ย ถ้าเราหายไปจากครอบครัวซักหนึ่งสัปดาห์เขาต้องเดือดร้อนแน่ ๆ แต่พอเวลาผ่านไป เราจะพบว่าเราไม่ได้สำคัญขนาดนั้นเลย เราเคยคิดว่าเราคงสำคัญกับที่ทำงาน ก่อนหน้านี้จะหยุดยังไงน้า หนึ่งเดือน จะหยุดยังไงนะ สามเดือน นี่หลวงพี่พักร้อนจากโลกมาเจ็ดปีแล้วเนี่ย ไม่เห็นมีใครเดือดร้อนเลย เราไม่ได้มีค่าอะไรเลย มัน wake up call มากนะ


ศึกษานิติเวชเพื่อทำความรู้จักร่างกายมนุษย์?

ถ้าหลวงพี่เล่าแล้วไม่แน่ใจจะคิดว่าหลวงพี่เพี้ยนรึเปล่านะ หลวงพี่ทำเรื่องมากเลยนะกว่าจะเข้าไปศึกษาในนิติเวชได้ หลวงพี่อยากจะรู้ว่าร่างกายของเรา นิติเวชก็คือการชันสูตรร่างกายของคนที่เสียชีวิต หลวงพี่อยากจะรู้ว่าจริง ๆ แล้วร่างกายของมนุษย์มันคืออะไรกันแน่ ที่เรารักร่างกายเรามาก ๆ เวลาที่เขาจะต้องมีการชันสูตรศพ นี่มันอาจจะไม่ใช่ร่างกายเรา ไม่ใช่ร่างกายคนในครอบครัวเรา หรือคนที่เรารัก แต่ไม่น้อยก็มาก ร่างกายมนุษย์มันก็ประมาณนี้แหละ หลวงพี่มีโอกาสสังเกตการณ์ไปประมาณสิบกว่าร่างกาย ในช่วงเวลาห้าวันจันทร์ถึงศุกร์ หลวงพี่คิดว่ามันก็ประมาณนี้แหละ 

แล้วท้ายที่สุดแล้ววันใดวันหนึ่ง พวกเราทุกคนก็ประมาณนี้แหละ มันตั้งคำถามมาก หลวงพี่มาเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า ชีวิตคือร่างกายและจิตใจ เวลาที่หลวงพี่เห็นอย่างนี้ และหลวงพี่เป็นพระ ง่าย ๆ เลยในวัดมันก็มีเมรุใช่ไหม เดือนนึงก็ต้องมีคนมาเผาซักครั้งนึง


ชีวิตเป็นหนังสือที่มีหน้าสุดท้าย

ง่าย ๆ เลยหลวงพี่เห็นชัดมากว่าชีวิตมันเป็นปลายปิด ถ้ามันเป็นหนังสือ มันมีหน้าสุดท้าย แต่ถ้าดูดี ๆ มนุษย์เราบางคนใช้ชีวิตอย่างกับชีวิตเป็นปลายเปิด เหมือนชีวิตเรา endless แต่หลวงพี่พบว่าชีวิตเป็นปลายปิด เดี๋ยวก็ตายแล้ว ตายตอนไหนไม่รู้ แต่เราทุกคนต้องมีหน้านั้น มีบันทึกหน้านั้น มีวันนั้น

‘จะไม่ให้หลวงพี่ตั้งคำถามหรอ ว่ากว่าจะถึงหน้านั้น ไม่รู้เลยว่าเหลืออีกสักกี่หน้าจากวันนี้ จากบันทึกหน้านี้จนถึงบันทึกหน้านั้น หลวงพี่อยากจะทำอะไร’

แล้วสัญชาตญาณของนักกลยุทธ์ก็คือ เรื่องของการจัดลำดับความสำคัญ งานกลยุทธ์มันคืองาน prioritization นะ อะไรสำคัญกว่าเราต้องทำให้เรียบร้อย และหลวงพี่คิดว่าอันนี้สำคัญมาก ในการเข้าใจตัวเอง ก่อนเราจะเจอบันทึกหน้าสุดท้ายของตัวเอง บอกว่าเห้ย มันหมดหน้าแล้ว หน้าถัดไปไม่มีแล้ว พรุ่งนี้ไม่มีแล้ว


แต่คนส่วนมากก็มองข้ามการทำความเข้าใจกับตัวเองไปเยอะเหมือนกัน?

หลวงพี่คิดว่าบางทีเราก็ประมาทเนอะ เมื่อก่อนตัวเองก็เป็น ใช้ชีวิตราวกับว่ามันเป็นปลายเปิด ใช้ชีวิตราวกับว่ามันจะไม่มีจุดสิ้นสุด เพราะฉะนั้น ลองติ๊ต่างดู รู้ว่าถ้าชีวิตเป็นบันทึกสักเล่ม มันมีหน้าสุดท้ายแน่นอน แล้วเราก็ไม่รู้ว่าหน้าสุดท้ายมันเป็นยังไง เราลงเอยยังไง เราจะพิกลพิการ เราจะช่วยเหลือตัวเองได้รึเปล่า หน้าสุดท้ายอาจจะไม่กี่ชั่วโมงถัดไป เราแน่ใจรึเปล่า ว่าบันทึกเล่มนี้ มันเป็นบันทึกที่เรารู้สึกไม่เสียดาย

‘หลวงพี่ให้ความสำคัญมากว่าชีวิตนี้ หลวงพี่ต้องไม่เสียดายชีวิต เมื่อมีสัญญาณบอกว่าหน้านี้คือหน้าสุดท้ายแล้ว หลวงพี่ต้องพร้อมวางปากกา แล้วต้องยิ้มกับชีวิตตัวเองได้ ต้องขอบคุณตัวเองได้’


หลวงพี่คิดเรื่องนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่คะ

เรื่อยๆ เลย หกเจ็ดปีคิดมาอย่างนี้ตลอด เพราะฉะนั้น หลวงพี่จะทำอะไรที่มัน worth living แน่นอนว่าสมัยที่หลวงพี่ยังมีความสนุก ชีวิตที่มัน worth living ก็คือชีวิตที่ได้ไปกิน ได้ไปเห็น ถัดมาก็คือได้ทำประโยชน์ ถัดมาก็คือทำอะไรที่มีความหมาย ประโยชน์ก็คือ usefulness อันนี้เรารู้สึกว่ามันดี มันมีประโยชน์ ถัดมามันอาจจะมีประโยชน์แต่มันอาจจะไม่มีความหมายอะไรเลย 

หลวงพี่รู้เลยว่าชีวิตมันมีคุณค่ามาก มันมีคุณค่ามากกว่ามาแค่ entertain ตัวเอง หลวงพี่ทำในสิ่งที่มีความหมายทุกวัน แต่ละวันมันขึ้นอยู่กับโอกาส สิ่งที่มีความหมายกับเราตอนนี้คือเราเข้าใจความหมายของชีวิตว่าชีวิตนี้เราเกิดมาเพื่ออะไร ทำไมเราถึงต้องเกิดด้วย ทำไมเราถึงต้องเป็นอย่างนี้ เราเป็นอย่างอื่นไม่ได้หรอ แล้วเราไม่เป็นอะไรเลยได้มั้ย

หลวงพี่ลองพูดอย่างนี้ มันอาจจะเป็นนามธรรมมากนะ เชื่อมั้ยว่าบางคนไม่ได้เลือกเกิด ไม่ได้ สมมติว่า ถ้ามีคนมาพูดไม่ดีกับเราแล้วเราโกรธเราเลือกเป็นคนโกรธจริง ๆ หรือเปล่า บางทีคนมาชมเรา เราเลือกการเป็นคนภาคภูมิใจในตัวเองรึเปล่า ไม่ เราเป็นไปเองเลย เราเกิดมาเป็นอย่างนั้น เราปล่อยให้ตัวเองมีคาแรกเตอร์อย่างนั้น เราปล่อยตัวเอง ให้เป็นอย่างนั้น แล้วใช้ชีวิตเหมือนอยู่ในโหมดของปฏิกิริยา reaction เขาชมก็ภูมิใจ เขาตำหนิก็คอตก มีเรื่องถูกใจก็ยิ้มหัวเราะ มีเรื่องไม่ถูกใจ ก็เซ็งก็บ่น ต่อสู้ ต่าง ๆ นานา เราไม่ได้เลือกอารมณ์นะ เราไม่ได้เลือกที่จะรู้สึก

คือหลวงพี่เป็นคนที่รู้ตัวมาตั้งแต่สมัยฆราวาสแล้ว ว่าไม่เห็นจำเป็นต้องคิดอย่างนั้นเลย ถ้าคิดอย่างนั้นแล้วมันไม่สบายใจ พอเราเป็นพระแล้วเราพบว่าไม่เห็นต้องคิดอะไรเลย ถ้ามันไม่มีประโยชน์จะไปคิดทำไม


 เพื่อให้เข้าใจตัวเองได้มากขึ้น เราจำเป็นต้องบวชเป็นพระไหม?

ส่วนตัวคิดว่าไม่จำเป็น แต่ที่หลวงพี่เลือกเส้นทางนี้เพราะว่าหลวงพี่อยากทำแบบนี้ full time เผอิญเส้นทางที่หลวงพี่เลือกเนี่ย หลวงพี่เลือกเป็นพระ ก็เลยไม่กล้าตอบว่าเป็นฆราวาสจะเข้าใจตัวเองได้มากเหมือนกับบวชเป็นพระไหม แต่หลวงพี่คิดว่าถ้าคนจะเอาจริงๆ ก็น่าจะได้เยอะอยู่นะ ต่อให้ไม่บวช แต่ถ้าเป็นคนมีวินัยกับตัวเองจริง ๆ เช่น ถ้าไม่จำเป็นต้องคิดแล้วก็จะไม่คิด ถ้าจำเป็นต้องคิดเราจะคิดแต่สิ่งที่มีประโยชน์เท่านั้น ถ้าไม่จำเป็นต้องพูด เราจะไม่พูด ถ้าจำเป็นต้องพูด เราจะพูดแต่สิ่งที่มีประโยชน์ สิ่งที่เป็นความจริงเท่านั้น ถ้าไม่จำเป็นต้องทำอะไร เราจะไม่ทำอะไรที่ไม่เป็นประโยชน์ จะทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์เท่านั้น

เราจะเจอกับความเรียกร้องของจิตใจตัวเองไม่น้อย ก็อยากนี่ รู้ว่าไม่มีประโยชน์หรอก แต่อยาก เราจะได้ยินอาการของใจเยอะทีเดียว เราจะได้ยินเดอะบอส ที่ปั่นป่วนเราข้างใน และนี่แหละครับ การฝึกตัวเองก็คือการที่เราไม่ตามจิตใจตัวเอง เรารู้ว่าเราคิดอะไร แต่เราไม่เอาด้วยแล้ว


การเข้าใจตัวเองสำคัญกับชีวิตเราแค่ไหนคะ?

หลวงพี่คิดว่าหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์เลย หลวงพี่ไม่รู้นะว่า quote นี้เป็นของใครแต่หลวงพี่ชอบมากเลย บอกว่า จงระวังความคิดของเธอ เพราะความคิดของเธออาจจะกลายเป็นคำพูด ระวังคำพูดนะ เพราะคำพูดของเธออาจจะกลายเป็นกระทำ แล้วระวังการกระทำ เพราะมันจะกลายเป็นนิสัย และระวังนิสัยของเธอ เพราะมันอาจจะกลายเป็นชะตาชีวิต


ถ้าเรามองว่าชีวิตมันก็แค่นี้ เลยใช้ให้มันเต็มที่ แล้วบอกว่ามันคุ้มหลวงพี่คิดยังไงคะ?

หลวงพี่เข้าใจ ก็คือ life is short เพราะฉะนั้นก็เลย celebrate ชีวิตซะ เพราะฉะนั้นมันเป็นการ celebrate เพื่อที่เราจะตามใจตัวเองหรือเปล่า แต่มีใครที่เข้าใจชีวิตผ่านการเติมเต็มชีวิตล่ะ ใจเรามนุษย์เรานะ อย่างกับหลุมดำ มันเติมยังไงก็ไม่เต็ม แต่เวลาที่เราเข้าใจหลุมดำแล้ว มันจะเลิกสูบโลกทั้งโลกเข้ามาหาตัวมันเอง

เอาความพอใจมา เอาคำชมมา เรื่องดีๆ ทั้งหมด ปรารถนาว่ามันจะมาเติมหลุมดำ แต่ถ้าเราทำความเข้าใจกลไกของหลุมดำ มันจะทำงานตรงกันข้าม มันจะเหวี่ยงออก อะไรดี ๆ เราอยากจะมอบให้กับคนรอบตัว มันไม่ได้ดูดเข้ามาที่แกนกลางแล้วก็หายไป อย่างไรสาระ เราลองคิดดู เราจะกินอาหารมื้อละกี่บาทก็ตาม มันก็เข้าห้องน้ำ แต่ถ้าเราทำตัวเหมือนพร่อง อะไรดีที่สุด แล้วมันมีดีกว่านี้มั้ย มันไม่จบไม่สิ้น


ก่อนจะถึงหน้าสุดท้าย ยังมีอะไรที่หลวงพี่อยากทำความเข้าใจเพิ่มขึ้นไหม

หลวงพี่เข้าใจค่อนข้างมากแล้วนะ ว่าอะไรคืออะไร หลวงพี่อยากจะทำตรงนี้ให้กลายเป็นธรรมชาติใหม่ของตัวเอง คำว่าธรรมชาติใหม่ก็คือ บางคนมีธรรมชาติของความโกรธ ธรรมชาติใหม่ที่เขาฝึกก็คือเราอยากกลายเป็นคนไม่โกรธ ก็คือเป็นคนไม่โกรธเป็นธรรมชาติเลย หลวงพี่ก็มีธรรมชาติใหม่ก็คือ เป็นคนที่ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องคิด ถ้าจะคิดก็คิดแต่เรื่องดี ๆ ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องพูด ถ้าจะพูดก็พูดแต่เรื่องดี ๆ พูดแต่เรื่องที่เป็นประโยชน์ ที่มันจะมีความหมายกับใครสักคนเราถึงจะพูด เพราะฉะนั้นหลวงพี่อยากเป็นคนที่มีธรรมชาติใหม่ คือเป็นคนที่ยืนเคียงข้างชีวิตตัวเอง 


ยืนเคียงข้างชีวิตตัวเอง?

บางคนเป็นตัวเองเลยเต็ม ๆ เลย นึกออกไหม ตามใจตัวเอง หลวงพี่ขอยืนเคียงข้างตัวเอง แล้วประคับประคองให้ตัวเองทำแต่คุณงามความดี หลวงพี่พูดไปแล้วเดี๋ยวมันจะดูเป็นนามธรรม แต่เราทำเป็นธรรมดาเหมือนกันทุกคนเลย คุณเคยไหม เวลาอยู่ในห้องประชุมแล้วรู้สึกอยากจะกล่าวคำบางคำที่ไม่ควรกล่าว แล้วเราก็ห้ามตัวเอง เราจะไม่กล่าวคำนั้น ไม่เอา ไม่ดี พูดไปเดี๋ยวมันไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะทำได้ในตอนนี้ อันนั้นใครเป็นคนปรามเราล่ะ? ตัวเองใช่ไหม มีสติที่รู้ว่า คุณคนที่นั่งอยู่ตรงนี้ เขาคิดอะไร แล้วเขารู้ด้วยว่าพูดออกไปแล้วจะไม่ดี แล้วเราก็ควบคุมเขาไม่ให้เขาพูด หลวงพี่กำลังทำสิ่งนี้ให้กับตัวเองตอนนี้ทั้งชีวิต


ฟัง The Key Message Podcast EP.3 - 'ใช้ชีวิตให้เหมือนบันทึก ที่เราพร้อมวางปากกาเมื่อถึงหน้าสุดท้าย' ผ่านทางช่องทางอื่น ๆ
🖥️ Youtube: https://youtu.be/jlTq3fKaQcs
🎧 SoundCloud: https://bit.ly/3oJnvk0
🎧 Spotify: https://spoti.fi/3Dn47NQ
🎧 PodBean: https://bit.ly/3mCa56t
🎧 Apple Podcasts: https://apple.co/3Fs41pS
trending trending sports recipe

Share on

Tags