‘ตูน – Stoondio’ กับการขับเคลื่อนสิ่งที่ชอบให้ไปพร้อมกับการใช้ชีวิต

Last updated on ก.พ. 24, 2023

Posted on ต.ค. 19, 2021

หากคุณเป็นคอเพลงอินดี้ หรือคนที่ฟังเพลงไทยมาตลอดหลายปี ชื่อของ ‘Stoondio’ น่าจะเป็นหนึ่งในศิลปินที่หลายคนรู้จักและชื่นชอบบทเพลงของวงนี้ ซึ่งบุคคลผู้เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน Stoondio มาตลอด 9 ปี ก็คือ ‘ตูน โชติกา คำวงศ์ปิน’ ผู้ที่ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงเป็นนักร้องเป็นหลัก แต่ยังแต่งเพลงเอง เล่นดนตรีเอง และมิกซ์เสียงเอง รวมถึงสร้างองค์ประกอบต่าง ๆ ที่กอปรทุกสิ่งขึ้นมาเป็นบทเพลงของ Stoondio 


ซึ่งวันนี้ Creative Talk ก็มีโอกาสได้พูดคุยและทำความรู้จักกับเธอในอีกหลายมิติที่หลายคนอาจไม่เคยรู้จักมาก่อน ในด้านของมุมมองความคิดที่มีต่อทุกสิ่งที่ตัวเองทำ ไม่ว่าจะเรื่องของดนตรี เรื่องของการทำงานออกแบบ และด้านความเป็นไปของชีวิตที่ถูกสะท้อนผ่านความคิดและความรู้สึกบางอย่างของเธอขึ้นมาเป็นบทเพลงให้เราได้ฟังกัน เราพูดคุยกับเธออย่างเพลิดเพลินเหมือนได้อ่านหนังสือที่เล่าความนามธรรมบางอย่างสักเล่ม และทำให้มองเห็นสิ่งที่เป็นมาและเป็นไปในการเติบโตของตูน Stoondio มาตลอด 9 ปี


บทความนี้ Creative Talk จึงขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับตูน Stoondio ที่เป็นทั้งนักดนตรี และนักออกแบบในคนเดียว และเราเชื่อว่าทั้งความคิดและความเป็นเธอรวมถึงสิ่งที่เธอทำ ล้วนน่าสนใจไม่แพ้บทเพลงของ Stoondio เลย


คุณตูนเล่าว่าหลายคนรู้จักเธอในฐานะของนักร้อง และศิลปินวง Stoondio แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าอาชีพหลักของเธอตลอดหลายปีที่ผ่านมานั้นไม่ใช่ศิลปิน แต่เป็นครีเอทีฟ กราฟิกดีไซเนอร์ และอารท์ตไดเรคเตอร์ ผู้เติบโตในวงการเอเจนซี่ ส่วนเรื่องของดนตรีเรียกว่าเป็นนิสัย เพราะเธอทำมันมาตลอดตั้งแต่สมัยเรียน


จุดเริ่มต้นของ Stoondio

พาย้อนกลับไปสิบสองสิบสามปีที่แล้ว สมัยที่อยู่มหา’ลัย อยู่ม.ปลาย จำความไม่ได้แต่มันนานมาก ตอนนั้นร้านหนังสือมันยังขายอยู่ แล้วมันจะมีพวก magazine ที่แถมซีดี เป็น demo version แถมโปรแกรมทำเพลง แล้วเราก็ไปซื้อมาเอามาลงในเครื่อง แล้วก็ค่อย ๆ เปิดไปตาม tutorial เขา 

คือตอนเด็ก ๆ มีความรู้สึกว่าอยากจะเล่นคีย์บอร์ด อยากจะเล่นกีต้าร์ แต่ไม่เคยเรียนพิเศษอะไรเลย ก็เลยไปหาอะไรมาเล่นเอง แล้วพอมันมีโปรแกรมแถมฟรี เลยลองมาเล่น แล้วก็เริ่มเข้าใจว่ามันเป็นเลเยอร์เหมือนโฟโต้ชอป ยุคนั้นยังไม่มี youtube เลยนะ 

จนมหาลัยมันก็เริ่มเป็นชิ้นเป็นอัน เริ่มเขียนถึงอาจารย์ แต่งให้เพื่อน ตามประสาเด็ก สำหรับเราถ้าวัดความจริงจังก็คือแบบนั้น ไม่เคยไม่นั่งทำ ตีสามยังทำไปเรื่อย ๆ เพียงแต่ว่ามันไม่เป็นที่รู้จัก ก็เป็นเหมือนสนามฝึกหัดของเรา

แต่มันเป็นที่รู้จักเพราะว่า เราเองเอาไปส่ง bedroom studio ตอนปี 2012 แต่จริง ๆ ทำเพลงมาตั้งแต่ 2007 – 2008 แล้ว เราสมัครเฟซบุ๊คช่วงนั้น แล้วก็อัปโหลดเป็นไฟล์วิดีโอเน่า ๆ แต่แค่การเป็นที่รู้จัก มันคือการได้เอาเพลงตัวเองไปให้ทาง Fat Radio ปี 2012 ซึ่งจริง ๆ Untitled ไม่ใช่เพลงแรกที่เขียน มันแค่เป็นจังหวะที่เราเอาไปสู่หูคนอื่นที่ไม่ใช่เพื่อนเรา


กลายเป็นว่า จากตอนแรกเป็นตูนที่ชอบทำเพลง เพื่อนก็กดแชร์ อารมณ์แบบสงสารมันอ่ะ เห็นมันแต่งเพลงอยู่ในเฟซบุ๊ค (หัวเราะ) เหมือนเราตอนทำอะไรใหม่ ๆ แล้วเพื่อน ๆ ก็เย้เย้ แต่พอหลังจาก Untitled 001 ถูกปล่อยออกไป มันไม่ใช่แค่คนรู้จักที่สนับสนุนงานเรา เลยเป็นจุดเปลี่ยน หลังจากนั้นมันก็เป็นเรื่องของคนไม่รู้จัก ที่หันมาชอบเพลงเรา


การเติบโตของ Stoondio

จริง ๆ Stoondio มันไม่ได้โตแบบพลุ มันไม่ได้ทำให้เรารู้สึกประหม่า หรือว่าทำให้เราต้องไปดีใจกับมันขนาดนั้นนะ คือความเป็น Stoondio ในสมัยก่อนมันไม่ค่อยได้มารบกวนชีวิตพื้นฐานเราเท่าไหร่ เราไม่ได้ดังแบบเปรี้ยง แล้วเราก็ไม่สันทัดการเป็น frontman เราแค่ชอบทำเพลง และโชคดีที่มันมีอินเตอร์เน็ตเข้ามาพอดี มีแพลตฟอร์มที่คนเขาฟังเพลงจริง ๆ คือถ้าเป็นในยุคก่อนนู้น เป็น one way communication ที่มันจะต้องเป็น TV Broadcast เหมือนจะต้องเอาตัวเราอีกด้านนึงไปแนะนำให้คนรู้จัก ซึ่งเราไม่ชอบ เพราะเราไม่ใช่คนแบบนั้น


เราก็ตั้งคำถามมาตลอดว่าเราชอบแค่ทำเพลง รู้จักเราแค่ทำเพลงไม่ได้หรอ เราก็เลยล็อคตัวเองว่าฉันอยู่ของฉันแค่นี้ เพราะตอนนั้นเราก็เพิ่งทำงานเอเจนซี่ใหม่ ๆ เราก็เหนื่อย เราไม่ได้มาโฟกัสตรง Stoondio มาก เราอยากพัฒนาตัวเองไปเป็นครีเอทีฟ ส่วน Stoondio คือพื้นที่บำบัดเรา

ส่วนเพจก็ทำมาตั้งแต่ยุคที่คนยังไม่ฮิตทำเพจ เราทำมาเรื่อย ๆ เหมือนเป็นไดอารี่เล็ก ๆ ที่เอาไว้คุยกับคนที่เขาชอบงานเรา ก็เลยรู้สึกว่ามันไม่ได้ทำให้เรารู้สึกเคอะเขิน แล้วเราก็ไม่ต้องไปพยายาม เหมือนเป็น portfolios สะสมผลงานเรามากกว่า แต่ถามว่ามันต้องแคร์มั้ย ธรรมชาติคนมันแคร์อยู่แล้วนะ ถ้าจะบอกไม่แคร์น่าจะโกหก เพียงแต่ว่าเรามีสิทธิ์สร้างสิ่งแวดล้อมตัวเองได้ ด้วยบุคลิกที่เรานำเสนอออกไป ถ้าเรานำเสนอแบบห่าม เราก็จะได้คนอีกแบบนึงเข้ามา ถ้าเรานำเสนอแบบ polite แล้วก็มีวิธีการพูดที่เราต้องการ feedback ยังไง เราก็พูดออกไปแบบนั้น


วัตถุดิบการสร้างสรรค์งานของ Stoondio

คิดว่ามันน่าจะเป็นความชอบตั้งคำถามของเรานะ คือเป็นหนูน้อยจำไมตั้งแต่เด็ก แต่คำถามเรามักจะไม่ได้คำตอบ เพราะว่าเราจะถามในสิ่งที่ถ้าคนไม่เก๊ตหรือผู้ใหญ่ไม่เก๊ต ก็จะรำคาญ คือเราก็ไม่ได้มองตัวเองว่าเป็นคนที่ลึกซึ้ง แต่เราแค่รู้สึกว่าชอบถาม ชอบนั่งคิดอะไรไปเรื่อย เป็นนิสัยของเรา เช่นทำไมมันเป็นแบบนี้ ทำไมเขาทำแบบนั้น ทำไมเขาถึงเลือกจะพูดแบบนี้ ทำไมเราถึงหงุดหงิด มันจะมีอารมณ์ที่เราจะเลี่ยง หรืออายที่จะบอกออกมา ว่าจริง ๆ มันคืออะไร เรารู้สึกว่า Stoondio ทำหน้าที่ไปเขี่ยความรู้สึกตรงนั้นที่คนเราฟอร์ม ๆ กันอยู่

เราเป็นคนที่คิดอยู่กับตัวเอง แล้วรู้สึกว่าอารมณ์นี้มันเยอะกว่าแค่ฉันรักเธออีกนะ มันแอบซ่อนอะไรไว้ เหมือนอาหารไทย ที่ไม่ใช่แค่เปรี้ยว มันมีซ่อนหวาน อารมณ์คนมันเยอะกว่านั้นอีก เราว่ามันละเอียด เพลงมันก็เลยไม่ค่อยดัง (หัวเราะ) สมมติเรามองอารมณ์แค่สิบอารมณ์ในโลก แต่เราว่ามันมีเป็นร้อย มันมีสับเซ็ตของมันซ้อนลงไปอีก จริง ๆ อารมณ์คนเรามันละเอียดนะ แต่บางทีเราก็ยังหยาบกระด้าง ซึ่งอันนี้เราอาจไม่รู้ ต้องให้คนที่ใกล้ ๆ ตัวเราเขาบอก แต่บางครั้งเราก็ไม่สามารถละเอียดอ่อนได้ตลอดเวลา ไม่งั้นเราคงทำงานไม่ได้  การตัดสินใจบางอย่างบางครั้งมันก็ต้องยอมแบบหยาบ ๆ ถ้ามานั่งละเอียดอ่อนทั้งหมด พอดีใจพังกันหมด


คิดว่าเพลงหรือดนตรีให้อะไรกับคนฟังได้บ้าง?

จริง ๆ เราว่าทุกเพลงในโลก ไม่ว่ามันจะดังที่สุด หรือไม่มีใครได้ยิน หรือแค่เจ้าตัวที่แต่งขึ้นมาชอบอยู่คนเดียว มันมีความหมายหมดเลยนะ

สำหรับเรา เรา respect คนที่ทำอะไรแบบนี้ออกมามาก ๆ เพราะไม่ว่ามันจะมีคนฟังมากฟังน้อยมันถูกเลือกมาแล้วว่าคุณเป็นคนที่ interpret ความรู้สึก หรือสิ่งที่เขียนออกมาเป็นเพลงเป็นดนตรีได้ 
สำหรับเรามันเป็นอาชีพ ไม่รู้จะใช้คำว่าอาชีพได้รึเปล่านะ แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่มีเกียรติมาก ๆ เลย มันคืออิสระทางความคิด อิสระทางการนำเสนอ และดีใจที่มีความสามารถกันได้มากพอที่ออกมาเป็นงานได้ เราว่ามันไม่ยาก แต่มันก็ไม่ได้ง่ายเลยนะ มันไม่ใช่สิ่งที่ใครก็ทำกันได้ เราก็เลยรู้สึกว่า ไม่ว่ามันจะดังที่สุดหรือไม่มีใครฟังมันเลย

กับบางคนที่อยากจะทำเพลงเพื่ออะไรแบบนี้ เราไม่อยากให้เขาท้อแท้เลย มันยากตั้งแต่กระบวนการแล้ว ที่เหลือคือเราแคร์สิ่งแวดล้อม แคร์คนอื่นแล้ว แต่เราอย่าลืมมองว่า การผลิบานออกมาได้หนึ่งครั้งมันไม่ง่ายนะ

เราก็เลยรู้สึกว่าทุกเพลงที่เวลามันให้อะไรกับคนฟัง มันคือกำไรล้วน ๆ มันเหมือนคนฟังคนแรกคือเรา คือผู้แต่ง ไม่ว่าคุณจะแต่งไปด้วยเหตุผลทางธุรกิจ หรือทางอะไรก็แล้วแต่ มันให้คุณค่ากับผู้แต่งอยู่แล้ว


กำไรก็คือการที่เราส่งไอสิ่งนี้ไปถึงคนคนนึงได้ ไม่ว่าเขาจะเป็นใครก็ตาม?

ใช่ เพราะพอมันเป็นเพลง เสียงมันจะดังกว่าเสียงที่เราพูดกันแบบนี้อีกนะ ถ้าเรากำลังพูดถึงความรู้สึกในเพลง ‘เสียดาย’ ถ้าเราปรึกษาเพื่อน เราอาจจะปรึกษาเขาได้ประมาณนี้ แล้วมันก็จบไป แต่พอมันเป็นเพลง คิดดูสิ ว่ามันออกไปถึงคนกี่แสนคนได้ มันไป collect คนที่ความรู้สึกใกล้ ๆ กันให้เขารู้สึกว่าเขา secure หรือเพลง ‘ยินดีที่ได้พบเธอ’ คือถ้าเราบอกกับคนไม่กี่คนหรือบอกกับตัวเอง มันก็มีประโยชน์แล้วนะ แต่มันเจ๋งมั้ยล่ะ ถ้ามันมีประโยชน์ไปกับคนระดับแสนคน ก็เลยรู้สึกว่าแบบมันดีเนอะ จริง ๆ ดนตรีมันจะดูเหมือนธรรมดาก็ธรรมดา แต่มันก็ไม่ธรรมดา


แล้วเพลงของ Stoondio เป็นอะไรกับคนฟัง?

ตอนแรกเราก็ไม่รู้หรอก ก็เขียนไปเรื่อย ๆ เราชอบฟัง feedback มากกว่า แต่ไม่ได้ไปนั่งซีเรียสกับตัวเอง ว่าเขาจะต้องรู้สึกยังไง เอาเป็นว่าเราค่อนข้างจะ complete ตัวเอง ตั้งแต่ที่ฉันแต่งเสร็จแล้ว มันกลายเป็น default เราไปแล้ว ซึ่งเราโคตรขอบคุณเลย รู้สึกได้รับเกียรติมาก ๆ เพียงแต่ว่าเราไม่เอาข้อความตรงนั้นมาเผยแพร่สู่สาธารณะ เพราะเรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่เราควรแค่รับรู้ เราไม่ได้ต้องการให้มันเป็นการอวดอ้าง เพราะแค่นั้นก็ดีใจมากแล้ว มันก็ดีนะ มันเหมือนยา เพียงแต่มันไม่ได้ออกมาเป็นรูปแบบของเคมี มันเป็นมูลค่าที่เราประมาณไม่ได้ด้วยซ้ำ บอกไม่ได้เลยว่ามันรู้สึกดีขนาดไหน

ซึ่งเราก็คงจะใช้มูลค่านี้ในการขับเคลื่อนชีวิตด้วยนะ

มันก็คงเป็นเชื้อเพลงให้เรารู้สึกเราอยากทำต่อมั้ง คือคนเราอ่ะ เวลามันทำอะไร ลึก ๆ มันไม่มีทางหรอกที่เราทำไปแล้ว ถ้ามันไม่เกิดอะไรขึ้น ไม่เกิดความเคลื่อนไหว ยังไงคนเราก็จะหยุดทำนะ แต่ถามว่าบางคนทำเพลงแล้วไม่เป็นที่รู้จัก แต่มันเกิดความเคลื่อนไหวกับเขาไง เขาทำแล้วเขาฟีลกู้ด ต่อให้ไม่มีคนฟังเขาก็ทำต่อ เพราะมันเกิด motivation ในตัวเขา อย่างเราก็เกิด motivation กับตัวเราไปแล้ว แล้วมันดันเกิด motivation กับคนอื่นอีกที่ได้ยินมัน มันก็เลยขับเคลื่อนไปเรื่อยไง มันก็เลยเก้าปีไง เป็นคนขี้บ่นมาเก้าปีแล้วเนี่ย ในบทเพลงอ่ะ (หัวเราะ)

มันก็ยังดีที่มันมีคนที่ อ่ะ ไปกับกูด้วยเว่ย ยังฟังอยู่ ด้านนึงก็แบบเขาไม่เบื่อกันหรอวะ แต่สักพักนึง เราก็ไม่ได้เบื่อตัวเองไง เพราะบางทีมนุษย์เรามันก็ไม่ได้ต้องการความหลากหลายอะไรขนาดนั้นหรอก อารมณ์มันก็ซ้ำ ๆ เดิม ๆ ที่เปลี่ยนเรื่อง ก็เลยยังสนุกอยู่ เพราะบ้านเมืองมันก็ยังมีอะไรให้เราตั้งคำถามเยอะมากมาย ถ้าเรายังไม่ตายจากไปซะก่อน


ความ ‘จริง’ ในเพลงของ Stoondio

เราเป็นคนชอบความจริง ไม่ชอบอะไรเพ้อฝัน ดูหนังยังไม่ดูแฟนตาซีเลย ชอบดูหนังคนคน อ่ะ เราไม่ใช่คนมีจินตนาการล้ำเลิศนะ ไม่ใช่สายนั้น แต่เพลง Stoondio มันคือการเล่าความจริงมั้ง หรือแม้กระทั่งตัวเราเองเวลาที่ใครมาปรึกษา เวลาที่เขามีปัญหา หรือเขาไม่อยากเสียใจ เราก็จะบอกไปว่า จริง ๆ มันต้องเสียใจนะ เพราะมันเป็นเรื่องที่ควรจะต้องเสียใจ ถ้าไม่เสียใจสิแปลก คือพยายามมองอะไรแบบนี้ให้มันเป็นเรื่องธรรมดา แค่มองว่าการแสดงออก ความรู้สึกนึกคิดเรามันไปกระทบกระทั่งใครรึเปล่า ส่วนปัญหาว่าเดี๋ยวเขาจะมองว่า เขาจะนู่นนี่นั่น นั่นคือปัญหาของเขา ปัญหาของเราเราไปแคร์เขามากเกินไปรึเปล่า มีบ้างได้ แต่ก็อย่ามากไป

เราใช้ชีวิตบนพื้นฐานความชอบคนอื่นไม่ได้ เพราะจริง ๆ แล้วทุกคนมันต้องจัดการกับตัวเอง เราจะต้องเลิกวัฒนธรรมการแคร์คนอื่นมากเกินไป โดยที่ไม่ได้พูดความจริงกัน อันนั้นไม่ได้

ให้เชื่อมั่นในความรู้สึกตัวเองที่แท้จริง แล้วก็เคารพมัน แคร์คนอื่นได้ในระดับนึง แต่สุดท้ายเราต้องเคารพตัวเอง เพราะไม่งั้นสุดท้ายคุณร่อยหรอ ใจคุณพัง


‘Key Message’ ของ ‘ตูน Stoondio’

เราว่าคือความรับผิดชอบ คนเราละทิ้งความรับผิดชอบกับอะไรไม่ได้ เราชอบทำเพลง เราก็รับผิดชอบกับสิ่งที่เราทำ คำว่ารับผิดชอบมันเป็นคำที่ใหญ่นะ มันเป็นคำที่ทำให้เราทำอะไรแล้วเราไม่หยุดกลางทาง ยุคนี้มันเยอะมาก ที่เราลองไปเรื่อย ไหลไปเรื่อย แล้วเราไม่ทำแล้ว เราดูเค้าไม่สุด มันเต็มไปด้วยความเฟล ไม่ได้หรอก บางครั้งกลับมาคิดว่าเราตัดสินใจเดินออกจากตรงนี้เร็วไปไหมเราต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองทำ รับผิดชอบในความชอบตัวเอง

ความชอบของตัวเองมันก็เป็นสิ่งที่เราต้องรับผิดชอบเขานะ เราอุตส่าห์เกิดมาเพื่อรู้ตัวเองแล้วว่าเราชอบอะไร เราก็ต้องเคารพเขาต้องรับผิดชอบกับความรู้สึกนี้ด้วย ไม่ว่าจะมีคนเห็นมากเห็นน้อยอะไรก็ตาม อย่างน้อยเราต้องรู้สึก fulfilled กับตัวเอง


รับฟังบทสัมภาษณ์เต็มรูปแบบของ The Key Message EP.4 - ‘เพราะความรับผิดชอบ คือสิ่งที่ทำให้เราไม่หยุดอยู่กลางทาง’ ได้ที่
🖥️ YouTube: https://youtu.be/9LMWJxcWqIA
🎧 SoundCloud: https://bit.ly/3FMeqgh
🎧 Spotify: https://spoti.fi/2Xe4ElC
🎧 PodBean: https://bit.ly/3G0coth
🎧 Apple Podcasts: https://apple.co/2YPjuQx
trending trending sports recipe

Share on

Tags