แล้วอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะทำอย่างไรต่อไป? กับวันที่ต้องเผชิญกับความล่มสลายจากโควิด-19

Last updated on มี.ค. 24, 2023

Posted on พ.ค. 8, 2020

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ 3-4 เดือน มีหลายคนไม่น้อยที่กำลังขะมักเขม้นกับการวางแผนเที่ยววันหยุดยาวช่วงเดือนเมษายน ตั๋วเครื่องบินและที่พัก แถมวันลาในปีนี้เองก็ลงตัว แต่แล้วด้วยการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ที่กระจายไปทั่วโลก (Pandemic) ทำให้แพลนเที่ยวต้องพับลงอย่างไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าเราจะได้ไปเที่ยวกันอีกครั้งเมื่อไหร่ รวมถึงธุรกิจ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไล่ตั้งแต่การบิน ขนส่ง ที่พัก และเอเจนซี่ทัวร์ต่างๆ ล้วนแต่ได้รับผลกระทบอย่างสาหัสกันถ้วนหน้า 

กอฟ-กสม วิชชุลดา MD บจก.นำไปใช้

ด้วยสถานการณ์ที่มีเริ่มมีความหวังในประเทศแถบเอเชียอย่างไต้หวัน เกาหลีใต้ ที่สามารถควบคุมการระบาดได้บ้างแล้วและมียอดผู้ติดเชื้อที่น้อยลง ทุกคนจึงเริ่มตั้งคำถามว่าแล้วอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในไทยเองจะเป็นอย่างไรบ้างหลังโควิด-19 นี้ Creative Talk พูดคุยกับกอล์ฟ-กสม วิชชุลดา MD บจก.นำไปใช้ ผู้คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ด้าน Content Mangement Agency ซึ่งมีกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม 

ภาพรวมของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลกตอนนี้

ก่อนหน้านี้ถือว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกำลังเติบโตขึ้นสูงมาก เพราะว่าหนึ่งมาจากเรื่องของค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่ถูกลง  แล้วก็พอค่าใช้จ่ายในการเดินทางถูกลงปุ๊ปเนี่ยมันเลยทำให้ข้อจำกัดในการท่องเที่ยวลดลง คนก็เลยติดเที่ยวกันมากขึ้น หลายประเทศทั่วโลกเลยจัดนโยบายด้านการท่องเที่ยวเป็นตัวกระตุ้นหรือตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งหลายประเทศทำได้ดีมากเลยมันก็เลยเกิดการธุรกิจท่องเที่ยวก็เลยเติบโตขึ้น ต้องเรียกว่าเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วแทบจะทุกประเทศทั่วโลก นี้คือสภาพการท่องเที่ยวของทั้งโลกนี้

ฤดูกาลท่องเที่ยวแต่ละช่วงของไทยในตลอดหนึ่งปี 

แต่ละประเทศโลกมันจะมีฤดูกาลมาเป็นตัวกำหนดในเรื่องการท่องเที่ยว อย่างของไทยเราจริงๆ ก็จะเริ่มนับไฮซีซั่นกันช่วงพฤศจิกายน-ธันวาคม มาจนถึงประมาณกุมภาพันธ์ เรียกว่าพีกเลยก็ได้ เพราะเป็นจุดหมายปลายทางของต่างชาติ อย่างที่นิยมของเราก็คือภูเก็ต ด้วยธรรมชาติฟ้าใส ทะเลสวย อากาศกำลังดี ฝรั่งเขาก็หนีหนาวมา ไฮซีซั่นจะลากยาวถึงมีนาคม จากนั้นชาวต่างชาติจะเริ่มเดินทางกลับประเทศแล้ว แต่ก็จะเข้าซัมเมอร์ของคนไทย เมษายน-พฤษภาคมช่วงที่คนไทยเริ่มเที่ยว มีวันหยุดยาวอย่างวันจักรี วันสงกรานต์ วันแรงงานและวันสำคัญทางศาสนา แม้ว่าสองเดือนนี้แล้วก็ยังร้อนกันอยู่ คนไทยก็จะเที่ยวก็จะออกเดินทางซึ่งถือว่าเป็นช่วงไฮซีซั่นทั้งคนไทยและต่างชาติเลยก็ว่าได้  

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยหลังโควิด19

ทีนี้คำว่าเข้าโลวซีซั่น ในสายตาชาวต่างชาติเวลาเขามาเที่ยวเมืองไทย มักจะไปทะเลกันเยอะ พอเริ่มเข้ามิถุนายน กรกฎาคม สิงหาคม กันยายน ฝนเริ่มตก ทะเลก็จะเที่ยวไม่ได้แล้วเท่ากับว่าตัวเลือกในการไปเที่ยวจะน้อยลง สถานที่ท่องเที่ยวจะเหลือแค่พวกภูเขาหรือที่อื่นๆ แม้กระทั่งการเที่ยวภูเขาเองถ้าฝนตกมันก็ไม่ค่อยสนุกเหมือนเวลาหน้าหนาวที่อากาศแบบเย็นๆ ปกคลุมไปด้วยหมอก

คุณกอล์ฟคิดอย่างไรจากข่าวที่รัฐบาลประกาศว่าอาจมีการเลื่อนวันสงกรานต์ไปเดือนกรกฎาคมแทน 

จากที่ติดตามนโยบายหรือประกาศของรัฐบาลเอง เราจะเห็นว่าช่วงแรกๆ มีคำสั่งเลื่อนวันหยุดในเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ โดยเลื่อนไปหยุดชดเชยช่วงอื่นแทนซึ่งคาดการณ์ว่าช่วงกรกฎาคมซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นควอเตอร์ที่ 3 พอดี ประจวบกับมีกฎหมายลดภาษีเชื้อเพลิงของธุรกิจสายการบินซึ่งได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนเยอะอยู่ ประกาศฉบับนี้บอกว่าจะลดไปถึงวันที่ 30 กันยายนนี้ ผมกลับมองต่างมองไปถึงโอกาสว่าน่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง จริงๆ ก็เป็นการแค่ประกาศเพื่อให้ผู้ประกอบการสายบินจะได้วางแผนว่าในอนาคตอันใกล้ เมื่อเปิดสนามบินแล้วเดินทางมาได้เขาได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งซึ่งมันไม่เยอะหรอก แต่ถือว่าเป็นการหุ้นส่วนหนึ่งจากรัฐบาลมาแล้วเขาจะจัดโปรโมชั่น ส่งเสริมให้คนไปเที่ยวได้อย่างไร 

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยหลังโควิด19

รวมถึงไทม์ไลน์ช่วงเดือนกรกฎาคม-เดือนกันยายนผมลองคาดการณ์ว่า หากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น รัฐอาจนำเงินมาอัดฉีดการท่องเที่ยว หลายโรงแรมก็เริ่มวางแผนเปิดได้ช่วงเดือนกรกฎาคม ฉะนั้นแล้วการอัดฉีดเงินการท่องเที่ยวเพื่อให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวเร็วที่สุด เพราะว่าจริงๆ การท่องเที่ยวสามารถกระจายเม็ดเงินลงได้ค่อนข้างกว้างและทั่วถึง ตั้งแต่โรงแรม ซึ่งโรงแรมก็จ้างพนักงาน ร้านอาหารและร้านของฝาก โดยรัฐเองก็จะกระตุ้นให้คนไทยเที่ยวไทย เพราะนักท่องเที่ยวก็คงยังไม่เข้ามาเร็วๆ นี้ ที่สำคัญยังเป็นการกระจายเม็ดเงินสู่แต่ละพื้นที่แต่ละชุมชนได้ค่อนข้างดีสำหรับสถานการณ์ตอนนี้ แต่การย้ายวันหยุดสงกรานต์ไปในช่วงเดือนกรกฎาคมเองก็มองว่าฝืนเหมือนกันนะ เพราะเดือนกรกฎาคมเป็นช่วงฝนตกหรือมรสุมเลยอย่างภูเก็ต ตราดฝั่งเกาะกูด เกาะช้าง นั่นหมายความว่าจุดหมายในการเที่ยวก็อาจน้อยลงสำหรับบางคน 

สถานการณ์ท่องเที่ยวของไทยหลังโควิด-19 

เม็ดเงินส่วนใหญ่ของการท่องเที่ยวไทยมาจากต่างชาติ ถ้าเราดูจากสถานการณ์โลกตอนนี้เราก็จะเห็นว่า จีนเริ่มควบคุมได้จริงๆ มีพวกแบบหลายๆข่าว หลายสำนักเริ่มให้ข่าวว่า เอเจนซี่จีนเริ่มมีความต้องการของนักท่องเที่ยวจีนที่จะมาเที่ยวไทย ดังนั้นตอนนี้สถานการณ์ท่องเที่ยวของไทยอยู่ในสภาวะแย่ที่สุด ผมคิดว่าตั้งแต่เกิดมาเนี่ยไม่เคยเห็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศเราไม่เคยตกต่ำขนาดนี้  แต่ทีนี้อัตราการฟื้นตัวค่อยๆ เป็นไปอย่างช้าๆ ถ้าปีนี้แทบจะลืมฝรั่งไปได้เลย ทีนี้ประเด็นดันมีอยู่ว่า อ้าวแล้วถ้าปีนี้ฝรั่งไม่เข้ามา ไฮซีซั่นที่เป็นทางด้านเศรษฐศาสตร์ของการท่องเที่ยวจะมีอยู่หรือเปล่า ในเมื่อความต้องการมันต่ำลง หมายความว่า คงไม่มีโรงแรมหรือผู้ประกอบการไหนสามารถทำราคาสูงได้เท่าเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่เชื่อว่าตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้ไทยจะเริ่มมีนักท่องเที่ยวจีนทยอยเข้า

คิดว่าสิ่งที่โรงแรมใหญ่หรือว่าพวกธุรกิจต่างๆ ที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวควรเตรียมตัวหลังจากนี้

ผมคิดว่าระยะยาวแต่ละโรงแรมคงไม่มีปัญหา ปัญหาคือระยะสั้นว่าจะผ่านไปได้ยังไง สิ่งที่จะเกิดขึ้นในวงการจะมีสองสิ่งที่เป็นโจทย์สำคัญมากๆ

หนึ่งคือเรื่องของ Revenue Management คือ การบริหารรายได้ สมมติในอดีตเราเคยขายห้องในเดือนธันวาคมคืนละ 3,000 บาท ที่เราขายได้เพราะความต้องการนักท่องเที่ยวเยอะ ก็พูดง่ายๆ ว่าของแพงคนก็ยังอยากซื้ออยู่ แต่ว่าคำถามของ Revenue Management ถ้าปีนี้เราจำเป็นต้องตัดนักท่องเที่ยวฝรั่งออกหมดเลย จากโรงแรมที่เคยมีร้อยห้องแล้วมีนักท่องเที่ยวฝรั่ง 90 ห้องแล้วปีนี้ 90 ห้องนั้นหายไป เรายังจะกล้าคิดคืนละ 3,000 บาทอยู่หรือเปล่า เรื่องนี้เป็นโจทย์ท้าทายของ Revenue Management ของแต่ละโรงแรมอันนี้เป็นเรื่องของการบริหารธุรกิจ 

และเรื่องที่สอง คือ Rescale ธุรกิจ สมมติว่าโรงแรม 400 ห้อง มีนักท่องเที่ยวฝรั่งพักไป 380 ห้อง ซึ่งเราคาดการณ์ว่าปีนี้ฝรั่งไม่มาแน่ๆ 400 ห้องนี้จะทำอย่างไร  แทนที่จะคิดว่าเราเป็นโรงแรม 400 ห้องเราอาจจะปิดสัก 330 ห้องเปิดขายแค่ 70 ห้อง จ้างพนักงานเหมือนโรงแรมที่บริหาร 70 ห้องมันก็จะเกิดปัญหาบางอย่างตามมาใกล้ๆ คือภาวะว่างงานของคนทำงานสายโรงแรม เพราะว่าเราคงไม่สามารถเปิด 400 ห้องแล้วจ้างคน 400 ห้องทั้งๆ ที่เรารู้ว่าเราไม่มีทางหาคนมาพัก 380 ห้องที่หายไปได้ แต่วิธีคิดก็จะเปลี่ยนเป็นว่างั้นเราย่อโรงแรมตัวเองให้เป็นเหมือน 70 ห้อง  มีค่าใช้จ่าย 70 ห้องแล้วให้ขาย 70 ห้องให้ได้หรือใกล้เคียง จะกลายเป็นเกณฑ์การท่องเที่ยวธุรกิจโรงแรมภายในปีนี้ ซึ่งก็จะไปสอดคล้องบางอย่างกับเรื่องของมาตรการด้านสาธารณสุขด้วยเช่นกัน 

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยหลังโควิด19

อย่างตอนนี้เวลาร้านอาหารเปิดส่วนใหญ่ รัฐจะให้เว้นระยะห่าง 1.5-2 เมตร ดังนั้นให้เราลองนึกถึงห้องอาหารของโรงแรมก็จะถูกดึงที่นั่งออกไปครึ่งหนึ่งโดยอัตโนมัติ ซึ่งห้องอาหารของโรงแรมเคยมีไซต์เอาไว้รองรับลูกค้าไว้เบ็ดเสร็จ เท่ากับว่าจริงๆ โรงแรมจะถูกบังคับให้รับแขกได้ครึ่งหนึ่งไปโดยอัตโนมัติ ตามพื้นที่สเกลของห้องอาหารที่ลดลงเพราะว่าหลายๆ โรงแรมลูกค้าตื่นมาก็ยังต้องมากินอาหารเช้าที่ห้องอาหาร ซึ่งขนาดของห้องอาหารถูกกำหนดจากจำนวนของคนที่จะลงมากินอาหารเช้าโรงแรม แปลว่ายิ่งโรงแรมห้องเยอะห้องอาหารยิ่งใหญ่ โรงแรมเล็กห้องอาหารเขาก็เล็ก ทีนี้พอเหมือนกับห้องอาหารมันถูกบังคับว่าให้นั่งได้ครึ่งเดียว มันก็จะเป็นการบังคับโรงแรมกลายๆ ว่าคุณเปิดห้องได้แค่ครึ่งเดียว เพราะสุดท้ายห้องอาหารก็ไม่รองรับจำนวนคน รวมถึงการปรับจากไลน์อาหารรูปแบบบุฟเฟต์มาเป็นเมนูจานเดี่ยวเพื่อป้องกันโควิด-19 ดังนั้นปริมาณที่เราจะทำอาหารให้แขกได้ก็จะน้อยลง 

ปัจจัยที่ว่ามานี้ล้วนเกี่ยวพันกับเรื่องของ Rescale ของธุรกิจหมดเลย แล้วก็ผูกพันไปกับเรื่องของมาตรการด้านสาธารณสุขโดนตรง แต่ว่าเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับสาธารณสุขตั้งแต่ก่อนล็อกดาวน์หลายโรงแรมเขามีความพร้อมเรื่องนี้อยู่แล้ว เรื่องแบบการตรวจวัดอุณหภูมิ เจลแอลกอฮอล์ คิดว่าพวกนี้ไม่น่าต้องเปลี่ยนแปลงอะไรแต่ละโรงแรมมีความพร้อมไว้ดีอยู่แล้ว 

ผลกระทบของที่พักลักษณะโฮสต์เทลและสิ่งที่ควรจะรับมือหลังโควิด-19 

อย่างที่เล่าไปว่าหลังโควิด-19 เรายังไม่มีกลุ่มนักท่องเที่ยวฝรั่งเข้ามาเร็วๆ นี้ ฉะนั้นแล้วโฮสต์เทลเองได้รับผลกระทบแน่ๆ เพราะเป็นกลุ่มลูกค้าหลักเลยก็ว่าได้ที่เขาชอบสัมผัสประสบการณ์ท้องถิ่น (Local) กลับกันคนไทยหรือคนเอเชียบางกลุ่มไม่ค่อยชอบที่พักลักษณะนี้ หลายแห่งเป็นห้องน้ำรวม คนไทยหรือคนเอเชียจะรู้สึกแบบเขิน ไม่ค่อยสะดวกจะใช้ห้องน้ำรวมโฮสต์เทลจึงเป็นที่ไม่นิยมในตลาด แต่ฝรั่งเขาไม่ได้ขี้อายแบบเรา 

แต่ถ้าเรามาดูในมุมสาธารณสุขของสถานการณ์ช่วงนี้ต่อโฮสต์เทล พื้นที่ของโฮสต์เทลค่อนข้างแคบ นอนติดกันหรือเตียงสองชั้น ดังนั้นธุรกิจโฮสต์เทลจึงได้รับกระทบทั้งจากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่หายและความปลอดภัยของคนที่ไม่ต้องการเสี่ยงกับโควิด-19 

ก่อนหน้านี้ธุรกิจโฮสต์เทลในไทยเราโดยภาพรวมก็ไม่ได้ดี คือมีโฮสต์เทลเปิดขึ้นมาค่อนข้างเยอะเกินไป การแข่งขันกันสูงแล้วก็ต้องทำราคากันต่ำ พอมาเจอสถานการณ์นี้เหมือนกับทุกอย่างมันไปกำหนดหมดเลยว่าเคยได้เปรียบเรื่องราคา เอาเข้าจริงผมก็ต้องบอกว่าก็พอสู้ได้แต่ก็สู้ยาก โดยไอเดียที่ลองนั่งคิด ข้อที่หนึ่งคือ ปรับเอาจุดแข็งของตัวเองตั้งมาใหม่อีกครั้ง คือจุดแข็งของโฮสต์เทลเนี่ยจริงๆ แล้ว คือเรื่องของประสบการณ์พี่เคยแนะนำรุ่นน้องที่ทำโฮสต์เทลว่า เขาควรจะทำตัวยังไงดีหลังจากนี้ เราบอกเขาว่าให้เขาเปลี่ยนวิธีคิดจากคิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของโฮสต์เทลเป็นผู้ให้บริการ Local Experience Provider เราจะเห็นว่าโปรดักของโฮสต์เทลมีหลากหลายขึ้นมาอัตโนมัติ เราอาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องขายเตียงละห้าร้อยหกเตียงสมมุติในห้องหนึ่งมีหกเตียง เตียงละห้าร้อยเก็บตังค์ได้สามพันถูกไหมแต่ถ้าเราเป็น  Local Experience Provider จากเจ็ดเตียงเหลือแค่สองเตียงแล้วคิดแค่เตียงละพันห้าแล้วเราพาเขาเที่ยวพาเขาแนะนำร้านอาหารหรือกิจกรรมต่างๆ ก็แล้วแต่ว่าจะออกแบบประสบการณ์แบบไหนออกมา  

กับอีกวิธีหนึ่งก็คือเปลี่ยนรูปแบบการขาย คือจากแทนที่จะขายคนละ 500 บาทต่อห้องหนึ่งอยู่ได้ 6 คนมันอาจจะแบบเปลี่ยนมากลายเป็นขายห้องสำหรับห้องละ 2,500 หรือ 3,000 บาทได้ 6 คน คือให้คนเขามากับกลุ่มคนของเขาเองมากับครอบครัวของเขาเองมากับเพื่อนของเขาเองแล้วขายเหมาห้อง ก็ยังเป็นตลาดที่มีช่องว่างอยู่เพราะว่า 

ถ้าโฮสต์เทลดีๆ คนจะเชื่อมั่นในมาตรฐานการทำความสะอาดมากกว่า อย่าง Airbnb คือบ้านเราไม่รู้เลยว่าจะเจอโฮสต์ดีหรือโฮสต์ที่ไม่มีความรับผิดชอบ โฮสต์เทลสามารถโปรโมทตัวเองว่ามีการวางมาตรฐานสาธารณสุข มีการทำความสะอาดตลอด เวลาโปรโมทไปมันมีความน่าเชื่อถือกว่า

เรื่อง : ณิชา พัฒนเลิศพันธ์
ภาพ : สุธาทิพย์ อุปสุข


บทความอื่นที่คุณอาจสนใจ

trending trending sports recipe

Share on

Tags