ทุกวันนี้เรามีเรื่องต้องให้เลือก และต้องตัดสินใจหลายอย่างด้วยกัน ?
🤔 ตื่นเช้ามาก็ต้องตัดสินใจเลยว่า วันนี้จะใส่เสื้อสีมงคล สีอะไรดีนะ ?
🤔 ไหนจะการทำงานที่ต้องตัดสินใจในหลาย ๆ โปรเจกต์ ?
🤔 เวลากินข้าวตอนเที่ยง เรายังต้องเลือกเลยว่า เที่ยงนี้กินอะไรดี ?
🤔 ก่อนกลับบ้าน งานก็ยังไม่เสร็จต้องตัดสินใจแล้วว่า งานนั้นสำคัญต้องทำด่วน หรือทำพรุ่งนี้ได้ ?
🤔 ก่อนจะนอน เอ๋..วันนี้ดู Netflix เรื่องอะไรดีนะ ?
งานวิจัยระบุว่า คนส่วนใหญ่โดยเฉลี่ยตัดสินใจต่อวันมากถึง 221 ครั้ง!
มีงานวิจัยที่น่าสนใจจาก Cornell University โดยให้เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยและนักศึกษากว่า 139 คน ตัดสินใจเลือกเมนูอาหารในแต่ละวัน ซึ่งผลวิจัยระบุไว้ว่า คนส่วนใหญ่โดยเฉลี่ยจะต้องตัดสินใจกับเลือกเมนูอาหารประมาณ 15 ครั้ง ถึงจะสามารถสั่งอาหารได้ และจากค่าเฉลี่ยโดยรวมจากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด เราจะพบว่ามีการตัดสินใจมากถึง 221 ครั้งต่อวัน เหตุเพราะความลังเลกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ กลับส่งผลให้การตัดสินใจมีประสิทธิภาพที่ต่ำลง แถมยิ่งเราเจอตัวเลือกที่มากขึ้น จะยิ่งทำให้การตัดสินใจของเราลดลงมากกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัว โดยอาการเหล่านี้เราเรียกว่า ‘Choice Paralysis’ หรือความลังเลในการตัดสินใจ
ในทางจิตวิทยาแล้วสิ่งนี้คือ Decision Paralysis หรือถ้าแปลกันแบบตรงตัวมันคือการที่คนเราเกิดเป็นอัมพาตในการตัดสินใจ มีความลังเลทางความคิด หรือถ้ายิ่งเจอทางเลือก ตัวเลือกที่มากจนเกินไป เราจะยิ่งแย่เข้าไปกันใหญ่ เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่มนุษย์จะรู้สึกหนักอึ้งจากตัวเลือกที่มีมากเกินไป
ถ้ายิ่งเราเจอเรื่องนี้บ่อย ๆ ไม่รีบจัดการปัญหา เราจะกลายเป็นคนที่แม้แต่ทางเลือกในชีวิตประจำวันก็อาจจะตัดสินใจไม่ได้เลยด้วยซ้ำ เพราะมันจะนำพาเพื่อนอีกตัวมาด้วย นั่นคือเจ้าความเครียด นำไปสู่ความวิตกกังวลนั่นเอง ดังนั้นใครที่อ่านบทความนี้อยู่ วันนี้เรามีตัวช่วยที่จะมาทำให้ทุกคนสามารถตัดสินใจได้แม่นยำขึ้น เฉียบคมขึ้น และเพิ่มความมั่นใจมากยิ่งขึ้น เพื่อลดความกังวลทั้งในเรื่องงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน
The “5-3-1” Decision Funnel ตัวช่วยให้เราตัดสินใจได้เฉียบคมขึ้น
scienceofpeople ได้เผยเทคนิคที่น่าสนใจมีชื่อว่า “The 5-3-1 Decision Funnel” เป็นหนึ่งในกฎที่ถูกนำมาปรับใช้กับหลากหลายศาสตร์ โดยให้เพื่อน ๆ คิดภาพตามว่ามีรูปร่างเหมือน Funnel ลำดับเป็นขั้น ๆ โดยจะไล่ตั้งแต่บน-ลงล่าง เพื่อใช้สำหรับการตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญ เพื่อทำให้เรื่องที่เราตัดสินใจนั้นเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยเรียงลำดับตามตัวเลขตั้งแต่ 5 - 3 - 1 ตามลำดับ ดังนี้
👉 Start with Five
เริ่มต้นด้วยการเลือกมา 5 เรื่องที่ดูน่าสนใจ
หากเราอยู่ในสถานการณ์ต้องเลือกอะไรบางอย่าง ตัวอย่างเช่น เรากำลังคิดไอเดียในการคอนเทนต์ 1 ชิ้น แต่ไอเดียกลับกระจัดกระจายเยอะแยะเต็มไปหมด มีหลายเรื่องให้น่าทดลอง เทคนิคนี้เพื่อน ๆ สามารถทำควบคู่ไปกับการทำ Brain Dump หรือการหยิบไอเดียทั้งหมดที่เรามีจดใส่กระดาษออกมาให้หมด ต่อให้ไอเดียนั้นจะเป็นไปไม่ได้ ให้หยิบไอเดียในหัว จดออกมาเป็นตัวหนังสือให้หมด
หลังจากนั้นค่อยนำเทคนิค ‘Start with Five’ ในการเลือกไอเดียเหล่านั้นที่เพื่อน ๆ เลือกออกมา คัดให้เหลือเพียง 5 ประเด็นเท่านั้น โดยทุกประเด็นที่เลือกต้องเป็นไอเดียที่เราชั่งน้ำหนักแล้วว่า มีความเป็นไปได้ และเราทำสิ่งนั้นได้จริง
👉 Narrow Down to Three
กลั่นกรองตัวเลือกเหล่านั้นให้เหลือเพียง 3 ตัวเลือก
เทคนิคนี้คือการจำกัดให้ไอเดียของเราแคบลง กระชับขึ้น โดยเราต้องพิจารณาจาก 5 เรื่องก่อนหน้าอย่างละเอียดถี่ถ้วน ซึ่งตัวอย่างก่อนหน้าเราพูดถึงประเด็นเนื้อหาคอนเทนต์ ต่อมาต้องคิดต่อว่าเราต้องเลือกเรื่องเหล่านั้น โดยประเมินตามลำดับความสำคัญ, ประเมิน Value ของเนื้อหา หรือหากมีวัตถุประสงค์ที่เรากำหนดไว้ 3 เรื่องนี้ต้องเข้าเป้าตรงโจทย์กับที่เราอยากทำ และเลือกทางเลือกที่เป็นไปได้ว่าเราทำได้ดี เป็นสิ่งที่เราเชื่อมั่น
👉 Choose One
เลือกมา 1 ตัวเลือกที่เราวิเคราะห์แล้วว่าดีที่สุด
สุดท้ายนี้คือการเลือกตัวเลือกจาก 3 ให้เหลือ 1 ตัวเลือกสุดท้าย โดยขั้นตอนนี้เราอาจจะใช้เวลาเพิ่มมากขึ้นได้ในการวิเคราะห์ข้อดี - ข้อเสีย เพื่อประกอบการตัดสินใจ แต่สิ่งสำคัญของการเลือกที่ดีคือเราต้องไม่กังวลใจ หรือคิดมากจนเกินไป ว่าถ้าหากตัดอีก 2 ตัวเลือกออกจะรู้สึกแย่ แต่กลับกันเลยเราต้องมั่นใจว่าตัวเลือกที่เราตัดนั้น อาจจะยังไม่ดีพอในช่วงเวลานี้ อาจจะเก็บไว้เป็น Checklist ให้เราในอนาคตได้
โดย The “5-3-1” Decision Funnel ไม่ได้มีหน้าที่แค่ช่วยให้เราตัดสินใจง่ายขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นหลักประกันว่าเราได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนกับเส้นทางที่มากมายให้เราเลือก โดยไม่ต้องติดกับดักจากจิตวิทยา Choice Paralysis หากเราทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เกิดความเคยชิน เราจะมีระบบการตัดสินใจที่ดีขึ้น แล้วความมั่นใจก็จะกลับมา กลายเป็นคนที่ตัดสินใจได้อย่างมีเหตุมีผล ไม่ได้ใช้เพียงแค่อารมณ์ในการตัดสินนั่นเอง
เทคนิคเหล่านี้ไม่ได้นำมาใช้แค่กับเรื่องงานเท่านั้น แต่สามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันของเราได้เช่นกันน๊า 😊✌️
แปล เรียบเรียง: กิตติภพ ปานล้ำเลิศ
ที่มา
- Choice Paralysis: 8 Techniques to Make Better Decisions
- 'Mindless autopilot' drives people to dramatically underestimate how many daily food decisions they make, Cornell study finds