ถึงแม้เราจะใช้ “วัจนภาษา” ในการสื่อสารในชีวิตประจำวันเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นภาษาพูดหรือภาษาเขียน
แต่สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้ “วัจนภาษา” เลยก็คือ “อวัจนภาษา” ซึ่งประกอบไปด้วย น้ำเสียง ท่าทาง สายตา กลิ่น ระยะห่าง สัมผัส หรืออากัปกิริยาต่างๆ
ซึ่งมนุษย์เราไม่สามารถพูดหรือเขียนได้ตั้งแต่เกิด แต่เราแสดงออกด้วยท่าทางต่างๆ ออกมาแทนในเวลาที่ต้องการสื่อสาร เช่น การร้องไห้เมื่อหิว และเมื่อเราโตขึ้นมาจนสามารถสื่อสารได้ทั้งสองทางแล้ว เราก็ยังคงใช้ภาษากายเป็นหลักอยู่ดี ซึ่งข้อมูลจากการวิจัยพบว่า มนุษย์เราใช้ภาษากายมากกว่า 70-93% ในการสื่อสารแต่ละครั้ง
และภาษากาย คือ พฤติกรรมต่างๆ ที่เราแสดงออกโดยอัตโนมัติ และส่วนใหญ่ผู้สื่อสารมักแสดงออกมาโดยไม่รู้ตัว สังเกตได้จากเวลาที่คนเรารู้สึกประหม่าเมื่ออยู่ต่อหน้าคนเยอะๆ เราก็จะเผลอจับมือจับผมตลอดเวลา อย่างไรก็ตามถึงแม้เราจะไม่ค่อยรู้ตัวนัก แต่ภาษากายก็เป็นสิ่งที่เราควบคุมได้ นั่นคือสาเหตุที่เราเห็นผู้คนที่อยากมีบุคลิกภาพที่ดีไปเข้าคอร์สสอนบุคลิกภาพ หรือถ้าคุณหมั่นลองสังเกตพฤติกรรมของตัวเอง ก็สามารถควบคุมและปรับบุคลิกได้เช่นกัน
สิ่งที่ต้องระวัง
ถึงแม้หลายๆ คนจะเชื่อว่าคนเราหลอกกันด้วยคำพูดได้ แต่หลอกด้วยภาษากายไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังคือ “การตีความภาษากาย” เพราะ วัฒนธรรม และบริบทที่ต่างกันมีผลต่อการตีความภาษากายที่ต่างกันออกไป เช่น การผงกหัวของคนทั่วไป คือ การเห็นด้วย หรือ การตกลง แต่ที่อินเดีย การผงกหัวหมายถึง การปฏิเสธ ส่วนการไขว่ห้าง หรือ ไขว้ขา สำหรับคนเอเชียอาจจะดูไม่สุภาพ แต่สำหรับบางคนโดยเฉพาะคนสมัยใหม่ อาจจะหมายถึงท่านั่งที่รู้สึกสบายที่สุดก็เป็นได้
และบางครั้งการที่เราตีความภาษากายผิดพลาดอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ได้ หากเราคิดว่าสิ่งที่อีกฝ่ายสื่อสารออกมาผ่านภาษากายแล้วทำให้เราไม่แน่ใจในความหมาย เราควรจะพูดคุยกับอีกฝ่ายเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อน เพราะว่าบางครั้ง พฤติกรรมที่เขาแสดงออกมาเขาอาจไม่รู้ตัว แต่เพียงทำไปโดยอัตโนมัติ
ดังนั้นเพื่อการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ในฐานะผู้ส่งสารก็ควรระมัดระวังทั้ง ‘วัจนภาษา’ และ ‘อวัจนภาษา’ ไปพร้อมๆ กัน ในขณะเดียวกัน ถ้าเราอยู่ในฐานะผู้รับสารก็อย่าลืมว่า ภาษากายไม่ใช่สิ่งที่มีพลังมากที่สุดในทุกการสื่อสาร และการตีความที่เรารู้สึกไม่สบายใจและไม่มั่นใจ ก็ควรเอ่ยปากถามอีกฝ่ายทันที เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดที่อาจเกิดขึ้นได้
เนื้อหาบางส่วนจากรายการพอดแคสต์ Rise & Shine 109 Body Language จิตวิทยาของภาษากายกับเรื่องเข้าใจผิด โดย อาจารย์ภูมิ ถิรพุทธิ์ ปิติฉัตร