‘This Too Shall Pass’ วลีคลาสสิกที่สอนให้เราได้เรียนรู้ถึงความหมายของความไม่จีรัง
เพราะไม่ว่าคุณจะกำลังเผชิญกับอะไรอยู่ ในท้ายที่สุดแล้วมันก็จะเปลี่ยนไป ไม่ในวันหนึ่ง ก็ชั่วโมงหนึ่ง นาทีหนึ่ง หรือแม้แต่วินาที อย่างแน่นอน ทุกประสบการณ์ของมนุษย์เรานั้นจึงล้วนแต่เป็นสิ่งชั่วคราว…
แม้ที่มาของวลีนี้อาจจะไม่มีอะไรแน่ชัด แต่ก็มีข้อมูลบางส่วนที่พูดถึงตำนานพื้นบ้านชื่อดังของชาวยิวเรื่องหนึ่งในยุคกลาง ที่ว่าด้วยเรื่องราวของแหวนวงหนึ่งของกษัตริย์ Solomon แหวนวิเศษที่ทำให้ชายผู้โศกเศร้ามีความสุข และทำให้ชายผู้มีความสุขรู้สึกโศกเศร้า
ตำนานว่าด้วยวันหนึ่งคิงโซโลมอน ได้เอ่ยกับ Benaiah ขุนนางคนหนึ่งที่เขาเชื่อใจที่สุด ว่า “มีแหวนอยู่วงหนึ่งที่เราอยากให้ท่านไปเอามาให้ เราอยากสวมมัน แล้วเราจะให้เวลาท่านหกเดือนในการหามัน”
ซึ่ง Benaiah ก็ตอบกลับว่า “หากมันมีอยู่จริงที่ใดก็ตามบนโลก กระหม่อมจะไปหามันมาให้ฝ่าบาท เพียงแต่เหตุใดแหวนวงนี้ถึงได้วิเศษเพียงนั้น?”
คิงโซโลม่อนตอบกลับว่า “เพราะว่าแหวนวงนี้มีอำนาจวิเศษอย่างไรล่ะ ถ้าชายผู้มีความสุขมองไปยังแหวนวงนี้ เขาจะรู้สึกเศร้า แต่ถ้าชายผู้โศกเศร้ามองไปยังแหวนวงนี้ เขาจะมีความสุข”
ฤดูใบไม้ผลิผ่านพ้นไปกระทั่งฤดูร้อนมาถึง Benaiah ก็ยังคิดไม่ตกว่าเขาจะไปหาแหวนเช่นนั้นได้ที่ไหน ทว่าคืนหนึ่งก่อนถึงเทศกาล Sukkot เขาตัดสินใจเดินไปในมุมหนึ่งของนครเยรูซาเล็ม และเดินผ่านพ่อค้าที่เพิ่งเริ่มตั้งร้าน
เขาเอ่ยถามพ่อค้าว่า “เคยได้ยินเรื่องของแหวนวิเศษที่ทำให้คนที่มีความสุขลืมความสุขของเขา และทำให้คนที่หัวใจแหลกสลายลืมเลือนความเศร้าของเขาบ้างไหม”
พ่อค้าอาวุโส นำแหวนทองคำเกลี้ยงมาจากพรม แล้วสลักอะไรบางอย่างลงไป จนเมื่อ Benaiah ได้อ่านสิ่งที่อยู่บนแหวนวงนั้น สีหน้าของเขาก็เปลี่ยนไปพร้อมปรากฎรอยยิ้มกว้างทันที
วันที่ Banaiah เข้าพบคิงโซโลมอน โซโลมอนเอ่ยทักเขาทันที “เป็นอย่างไรบ้างสหาย ได้พบสิ่งที่เราฝากไว้หรือยัง?” บรรดาขุนนางคนอื่นต่างหัวเราะ ส่วนคิงโซโลมอนก็ยิ้มออกมา แต่แล้วทุกคนก็ได้พบกับความประหลาดใจ เมื่อ Banaiah หยิบแหวนทองเล็กๆ วงหนึ่งขึ้นมา พร้อมป่าวประกาศว่า “หม่อมฉันได้มาแล้วพะยะค่ะฝ่าบาท” และในวินาทีที่คิงโซโลมอนได้อ่านถ้อยคำที่อยู่บนแหวนวงนั้น รอยยิ้มกว้างก็อันตรธานหายไปจากใบหน้าของพระองค์ทันที
ในวันนั้นช่างทำอัญมณีได้เขียนอักษรฮิบรู 3 ตัว ลงบนแหวนวงนั้น แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า This too shall pass หรือแปลเป็นไทยว่า ‘แล้วมันก็จะผ่านไปเช่นกัน’
และในเวลานั้นเอง คิงโซโลมอน ก็ตระหนักได้ว่า ปัญญาทั้งหมดของเขา ความร่ำรวยและอำนาจมหาศาลของเขา ล้วนเป็นสิ่งชั่วคราว เพราะสุดท้ายวันหนึ่งแล้วเขาอาจจะไม่ได้เป็นอะไรเลยนอกจากเถ้าธุลี…
ปัญญาอันลึกซึ้งที่อยู่เบื้องหลังวลี This too shall pass จึงไม่เพียงแต่สอนเราถึงความไม่จีรังของเรื่องราวแย่ๆ ในชีวิต แต่ยังสอนถึงความไม่จีรังของสิ่งดีๆ ในชีวิตด้วย เพราะทุกสรรพสิ่งบนโลกล้วนชั่วคราว
การเรียนรู้ปรัชญาของความไม่จีรัง จึงอาจทำให้ใครหลายคนโอบกอดและมองเห็นคุณค่าของทุกสิ่งที่ดีในชีวิตได้มากขึ้น เพราะเราทุกคนต่างมีช่วงเวลาที่จำกัดในชีวิต ที่จะได้ซึมซับและรื่นรมย์กับมัน ลองเรียนรู้ที่จะชื่นชมในสิ่งที่คุณมีอยู่ และจินตนาการดูว่าชีวิตจะเป็นอย่างไรหากไม่มีสิ่งเหล่านี้เพื่อรับรู้ว่าตัวคุณนั้นโชคดีแค่ไหน
เมื่อไหร่ที่คุณตระหนักได้ว่ามันมีอะไรมากมายในชีวิต มากกว่าจะยึดติดกับสิ่งที่เป็นวัตถุที่ผ่านมาแล้วผ่านไป จะทำให้คุณโฟกัสในสิ่งที่สำคัญกับชีวิตมากกว่า และยังช่วยกระตุ้นให้เรามีเมตตามากขึ้น แบ่งปันมากขึ้น และเห็นแก่ตัวเองน้อยลงด้วย
สำหรับแนวคิด ‘This too shall pass’ หรือความไม่จีรังในทางพุทธก็มีคำว่า ‘อนิจจัง’ ที่หลายคนเคยได้ยินกันบ่อยๆ ส่วนในฝั่งกรีกก็มีคำว่า Panta Rhei ของ Heraclitus ซึ่งมีความหมายว่า ‘everything flows’
ซึ่งถ้าเรานำบทเรียนของความไม่จีรังยั่งยืนนำไปปรับใช้ได้ถูกต้อง มันจะช่วยจำกัดความเจ็บปวดในชีวิต ที่มนุษย์ทุกคนล้วนเผชิญได้ ซึ่งมนุษย์ที่เข้าใจปรัชญญาของความไม่จีรังยั่งยืนของสรรพสิ่งก็จะทำให้เราไม่ยึดติดกับความสุข และไม่มัวแต่วิ่งหนีความทุกข์ และได้เรียนรู้ที่จะเห็นคุณค่าในเวลาที่พบเจอกับสิ่งดีๆ พร้อมกันนั้นก็ยอมรับและปล่อยผ่านสิ่งแย่ๆ ได้เร็วขึ้น ด้วยจิตใจที่สงบ
เพราะสิ่งเดียวที่จะอยู่เคียงข้างเราเสมอคือเวลาและความใจเย็น และเมื่อไหร่คุณตระหนักถึงความเป็นจริงที่ว่าทุกอย่างล้วนชั่วคราวได้ คุณก็สามารถเอาชนะทุกอย่างได้แล้ว ไม่ว่าสถานการณ์ต่างๆ ที่คุณพบเจอจะยากแค่ไหนให้นึกถึงวลี this too shall pass แล้วคำกล่าวนี้จะมอบความแข็งแกร่งพร้อมกับความกล้าหาญให้กับคุณ
ท้ายที่สุดแล้ว ความไม่จีรังยั่งยืนนี้เองที่จะสอนเราว่า เราจะเป็นคนที่ฉลาดกว่าเดิมและมีความสุขกว่าเดิมได้อย่างไร
อ้างอิงข้อมูลจาก
- เนื้อหาบางส่วนจากรายการพอดแคสต์ The ORGANICE 190 – 2 นิทานชี้ทางชีวิตจากหนังสือ “จะเล่าให้คุณฟัง” โดยคุณโจ้ ฉวีวรรณ คงโชคสมัย
- https://www.theemotionmachine.com