ถ้าเปรียบการทำธุรกิจเหมือนการวิ่ง มีหลายแบบ มีหลายสถานการณ์ เจอพื้นวิ่งที่พื้นผิวแตกต่างกัน แล้วธุรกิจจะวิ่งต่ออย่างไรในยุคพิษเศรษฐกิจแบบนี้?
ในงาน The Secret Sauce Summit 2024 หัวข้อ Economic Outlook 2025: Adapting for SMEs เทรนด์เศรษฐกิจโลกและไทย SMEs ควรปรับตัวอย่างไร โดยคุณขัตติยา อินทรวิชัย ได้เล่าถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจภาพรวมในไทย กับความเป็นไปได้ที่ SME ที่เป็นเหมือนกระดูกสันหลังภาคธุรกิจจะรอดไปได้
🔥 พิษเศรษฐกิจยังอยู่ ถ้าไม่ ‘ปรับ’ ก็ต้อง ‘ปิด’
-
ต้นทุนภาคธุรกิจมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงตัวค่าจ้างและพลังงานก็เพิ่มสูงขึ้น เรื่อย ๆ
-
เศรษฐกิจจะโตต่ำ แบบไร้ปัจจัยหนุน โดยเฉพาะเศรษฐกิจใหม่ (Digital Economy) แม้จะอัตราการเติบโตที่มากกว่าเศรษฐกิจดั้งเดิม (Old Economy) แต่ก็ยังเป็นสัดส่วนที่น้อย
-
ปี 2025 กฎหมาย และสงครามคาร์บอนจะเข้มข้นขึ้นมาก อาทิ การเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมกับสินค้า 6 ประเภท (มาตรการ CBAM) คือ ปูนซีเมนต์, พลังงานไฟฟ้า, ปุ๋ย, ไฮโดรเจน, เหล็ก และอะลูมิเนียม
-
สังคมสูงวัยในไทยเพิ่มขึ้น มีถึง 20% ของประชากรทั้งหมด ส่งผลกระทบให้เราขาดแคลนคนวัยทำงาน ขาดคนที่เป็นกำลังซื้อสำคัญ การบริโภคก็จะเติบโตช้าไปอีก รวมไปถึงการเพิ่มภาระทางการคลังที่ต้องดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นด้วย
-
ทุนต่างชาติรุกหนัก แต่เราต้องมองให้เป็นโอกาส มีทุนจีนเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มหลายเท่า จากผลของสงครามการค้า และประเด็นภูมิรัฐศาสตร์
-
สถานการณ์การปิดโรงงานอาจจะรุนแรงขึ้นอีก ในธุรกิจที่แข่งขันไม่ได้ โดยเฉพาะ SMEs หากไม่ปรับตัวหรือลดต้นทุนมากพอที่จะคงความสามารถในการแข่งขันได้
“เศรษฐกิจจะไปต่อได้ธุรกิจต้องปรับ ซึ่งธุรกิจในไทย 99% เป็นผู้ประกอบการ SMEs“
🔥 SMEs ส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมรับแทบทุกประเภทความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ…
- โรคระบาดใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
- ลูกค้าต่างชาติที่ลดลงอย่างมาก
- กำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศลดลง
- กระแสความนิยมซื้อของออนไลน์ของผู้บริโภค
- ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่สูงขึ้น
- การย้ายออกจากประเทศไทยของกิจการต่างชาติ
ซึ่งในบางประเภทของความท้าทายก็มีกลุ่ม SMEs ที่สามารถปรับตัว เสริมความรู้ และทำออกมาได้อย่างดีเยี่ยมเช่นกัน แล้วธุรกิจจะทำอย่างไรให้สามารถวิ่งหาแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เจอ
🔥 “คิด วิเคราะห์ เข้าใจ” ทางรอด ไปต่อของธุรกิจ
- “ทำไม ทำ” คิดว่าทำไมถึงทำธุรกิจธุรกิจนี้ ทำไปเพื่ออะไร
- “คิดถึง ลูกค้า” ตอบโจทย์ลูกค้าจริงไหม จะทำอย่างไรให้ถ้าเราไม่อยู่ในธุรกิจ เขาต้องคิดถึง รู้สึกขาดอะไรบางอย่างเพราะไม่มีใครแทนเราได้
- “นอกกรอบ” แปลว่ามีโอกาสไปสู่ตลาดที่จะตอบโจทย์ลูกค้าได้
- “ทำได้” คิดให้ทำได้จริง ๆ
- “BottomLine” คิดถึงกำไร รายได้ ค่าใช้จ่าย
- “ไม่หยุด” ไปต่อ อย่าหยุด ถ้ายังไม่สำเร็จ ก็คิดวนใหม่อีกที ว่ามันพลาดที่ตรงไหน
สุดท้ายคือต้องเลือกว่าจะทำอะไร และไม่ทำอะไร
“Difference game, Difference shoe”
จะให้ธุรกิจไปรอดในแต่ละ Stage ก็ต้องใช้รองเท้าวิ่งที่แตกต่างกัน ฝึกฝน ฝึกกล้ามเนื้อไปเรื่อย ๆ ด้วยความเก่งที่ไม่เหมือนเดิม และการทำธุรกิจนั้นไม่ได้มีเส้นชัยเหมือนการวิ่ง เพราะเราไม่มีวันหยุดวิ่ง ถึงเป้าหมายหนึ่งแล้วก็ต้องไปต่อ ไม่ว่าคู่แข่งจะหาย คู่แข่งจะเพิ่มขึ้น
“เราก็ต้องไปต่อ”
เรียบเรียง: ชญานิศ จำปีรัตน์