อ.วรรณี เจียรวนนท์ รอสส์ จากนักธุรกิจสู่การก่อตั้งโรงเรียนนานาชาติคอนคอร์เดียน กับมุมมองอนาคตการศึกษา

Last updated on เม.ย. 1, 2024

Posted on ส.ค. 14, 2020

อ.วรรณี เจียรวนนท์ รอสส์ จากนักธุรกิจและนักการเงินธนาคาร สู่เส้นทางการเป็นคุณครู และก่อตั้งโรงเรียนนานาชาติคอนคอร์เดียน อะไรคือจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจ เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักที่มาที่ไปและมุมมองเรื่องของการศึกษาจาก อ.วรรณี เจียรวนนท์ รอสส์ ในบทความนี้

ถอดความจาก Morning Call Podcast 
รับฟังในรูปแบบพอดแคสต์ได้ที่ https://bit.ly/31RZHgy

จุดเริ่มต้นของความสนใจที่จะเปิดโรงเรียน

จุดเริ่มต้นคือ ตัวเองทำธุรกิจกับประเทศจีนมานาน เล็งเห็นแล้วว่า อีกไม่นานประเทศจีนจะต้องมีบทบาทในเวทีต่าง ๆ ภาษาจีนจะกลายเป็นภาษาที่สำคัญ เราเลยอยากให้ลูกเก่งภาษาจีน ซึ่งที่เมืองไทยเองยังไม่มีใครสอนภาษาจีนอย่างจริงจัง จึงตั้งใจพาลูกของไปเข้าโรงเรียนในฮ่องกง เพราะเราเองก็มีบ้านอยู่ที่ฮ่องกง

วันหนึ่งระหว่างนั่งรอลูกอยู่ในโรงเรียนนั้น เราได้พบกับประโยคหนึ่งของโรงเรียนที่ว่า

“โรงเรียนนี้อยากจะเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น ให้เด็กที่เข้ามาเรียนที่นี่ มีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงโลก” 

เลยมานั่งคิดว่า เออ จริง ๆ มันทำได้นะ เพราะเด็กที่เรียนอินเทอร์ พ่อแม่มีความสามารถในการส่งเรียนโรงเรียนที่ดี มีปัจจัยพื้นฐานหลายอย่างที่เพียบพร้อม เด็กเหล่านี้มีโอกาสอย่างมากที่จะใช้ความรู้ บวกกับความพร้อมของเขาไปสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม ถ้าลูกหลานเราคิดดี เป็นคนดี มีจิตใจดี ธุรกิจที่ทำต่อจากนี้ ก็จะมีผลกระทบในทางบวกกับสังคมนั้น ๆ อย่างแน่นอน

เราเลยคุยกับโรงเรียนที่ฮ่องกงว่า ทำไมไม่ขยายมาเมืองไทยล่ะ เพราะเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเมืองไทยมีโรงเรียนนานาชาติน้อยมาก ถ้าเป็นโรงเรียนใหญ่ ๆ มีไม่กี่โรงเรียน ส่วนโรงเรียนอนุบาลรวมกันแล้วประมาณ 40 โรงเรียน ปรากฏว่า เขาไม่อยากขยายสาขาโรงเรียน เพราะโรงเรียนมันต้องทำจากใจ พร้อมกับถามเราว่า “ทำไมคุณไม่ตั้งโรงเรียนเองเลยล่ะ ถ้าคุณอยากทำ เราจะช่วยแนะนำให้” 

เขาแนะนำองค์กรที่ดูแลเกี่ยวกับโรงเรียนนานาชาติทั่วโลกให้เราไปทำความรู้จัก หลังจากคุยกัน เขาถามเราว่า “ประเทศไทยมีโรงเรียนอินเตอร์ตั้งเยอะแล้ว ทำไมคุณถึงอยากเปิดโรงเรียนอีกล่ะครับ”

เราเลยตอบว่า “ฉันไม่ได้อยากเปิดโรงเรียนอินเตอร์ แต่ฉันอยากเปิดโรงเรียนอินเตอร์ที่สอนภาษาจีนและสอนให้เด็กมีคุณธรรม”

เขาก็แนะนำหลักสูตรต่าง ๆ ที่ตอบโจทย์ของเรา พอเราอ่านแล้ว เลยคิดว่า “ถ้าหลักสูตรแบบนี้ มีการสอนสิ่งที่ดี รวบรวมจริยธรรมอันดี มอบให้เด็ก นี่แหละสิ่งที่เราอยากทำ”

“เราไม่ได้เปิดโรงเรียน เพราะว่าอยากเปิดโรงเรียน แต่เราอยากสร้างความเปลี่ยนแปลง พร้อมกับปลูกฝังความคิดที่ดีให้กับเด็กด้วย เพราะในช่วงที่เด็กกำลังเติบโต เขาใช้เวลาอยู่ที่โรงเรียน พอ ๆ กับการอยู่ที่บ้านเลย” ยิ่งในปัจจุบัน ที่สังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก โรงเรียนยิ่งเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของเด็ก ๆ และเราเองที่มีโอกาส มีความสามารถที่จะให้สิ่งดี ๆ กับเด็ก ในด้านคุณธรรม วัฒนธรรม และจริยธรรม เราเลยอยากสร้างโรงเรียนให้เป็นสังคมที่แข็งแรง อยากให้เด็กมีเพื่อนที่คอยสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพื่อให้เด็กคนนั้น เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดี มีความคิดที่ดี ในอนาคต 

ความยาก – ง่าย ของการสอนในสิ่งที่เราเชื่อให้เด็ก ๆ คืออะไรครับ

ขอบอกเลยว่า “เรื่องนี้ ไม่ง่ายเลย เราอาจจะสอนอย่างหนึ่ง แต่พ่อแม่ หรือสิ่งแวดล้อมต่างๆ บอกเด็กให้ทำอีกอย่างหนึ่ง เพราะว่าจริงแล้วเด็กก็เหมือนผ้าขาวที่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะแต้มสีสันอะไรลงไป”

ตัวอย่างเช่น เด็กคนหนึ่งเกิดมาในครอบครัวที่การพูดจาหยาบคายเป็นเรื่องปรกติ แล้วเขามาโรงเรียน เขามาพูดจาหยาบคายกับเพื่อน ๆ ตกลงแล้ว นี่เป็นความผิดของเด็กหรือเป็นความผิดของผู้ปกครอง 

ในขณะเดียวกัน ถ้าเด็กคนเดิม เขามาโรงเรียนที่ทุกคนพูดจาไพเราะ พูดเพราะใส่กัน เขาอาจจะเห็นความแตกต่าง จนเปลี่ยนไปเป็นคนพูดเพราะน่าฟังก็ได้ และดีไม่ดี เขาอาจจะกลับไปเปลี่ยนครอบครัวของเขาก็ได้ 

ในฐานะที่เรามีความพร้อม เราเชื่อว่าเรื่องแบบนี้ เราสามารถเปลี่ยนแปลงเด็ก ๆ ได้ แต่มันก็ไม่ง่ายเช่นกัน และในฐานะคนที่ทำโรงเรียนอยู่ เราก็พยายามพิสูจน์เรื่องนี้มาตลอด เราเลยอยากให้คนที่มี Power ทุกคน มาช่วยกันเปลี่ยนสังคม เปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ รอบตัวให้มันดีขึ้น รวมถึงอยากให้เด็ก ๆ ที่จะโตไปแล้วมี Power มี Mindset ที่ดีติดตัวไปด้วย เพื่อที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม 

คำถามสุดท้าย คิดว่าอนาคตของการศึกษาที่มีอินเทอร์เน็ตเข้ามาเกี่ยวข้อง จะส่งผลต่อความคิด ความอ่านของเด็ก ๆ มากน้อยแค่ไหนครับ 

แน่นอน มันจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องของการเข้าถึงความรู้ ข้อมูล และการศึกษาหาความรู้ต่าง ๆ การเรียนออนไลน์ก็จะเป็นอีกหนึ่งทางที่จะช่วยให้เขา เข้าถึงการศึกษาที่ดีขึ้น แต่สิ่งที่เราอาจจะขาดคือ หนึ่งการเทรนคุณครูให้สอนออนไลน์ได้อย่างน่าสนใจ และสองคือการเทรนคุณครูให้สามารถใช้สื่อออนไลน์ได้อย่างถูกต้อง 

ซึ่งในมุมของเราเองที่กำลังสอนอยู่ในยุคที่ข้อมูลต่าง ๆ เยอะแยะไปหมด เขาก็ต้องเปิดใจเรียนรู้เรื่องใหม่ไปพร้อมกับเด็กด้วย และในมุมของผู้ปกครอง ก็ต้องเปิดใจยอมรับด้วยว่า บางทีคุณครูก็ไม่ได้เก่งรอบด้าน 

เราอยากสนับสนุนให้ผู้ปกครองเป็น back up ของคุณครู หรือเป็นอีกคนที่คอยให้กำลังใจคุณครู เพราะว่าลองคิดดูนะ ว่าคุณครูเขาต้องรับมือกับเด็กมากมาย ต่างคนต่างเรื่องราว และถ้าเขาไม่ได้รับกำลังใจเลย เขาอาจจะหมด passion กับการสอนไปเลยก็ได้ สุดท้ายเรื่องราวก็จะกลายเป็นว่า เขามาเพื่อสอนเด็กให้จบ ๆ ไป เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า ตำแหน่งคุณครูก็จะหายไป

อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่า เรายังต้องมีคุณครูที่ช่วยสนับสนุน คอยให้กำลังใจเด็กๆ ในเวลาที่เขาผิดพลาด ช่วยเป็นโค้ชที่ช่วยชี้แนะ และคัดกรองสิ่งที่ดี – ไม่ดี เป็นพี่เลี้ยงช่วยเอาใจใส่ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่อินเทอร์เน็ตไม่สามารถทำได้ 

รับฟังเนื้อหาเต็มในรูปแบบพอดแคสต์ได้ที่ https://bit.ly/31RZHgy

เรียบเรียงโดย สนธยา สุตภักดิ์

trending trending sports recipe

Share on

Tags