จากสถิติของ WebConfs ให้ข้อมูลว่าระยะเวลาเฉลี่ยที่คนทั่วไปให้ความสนใจและรับรู้แบรนด์อยู่ที่ 10 วินาทีเท่านั้น
ลองคิดดูว่าหากชื่ออ่านยาก หรือเรียบง่ายจนไม่เตะตาเตะใจเอาเสียเลย 10 วินาทีที่จะดึงดูดความสนใจของผู้คนคงหายไปอย่างน่าเสียดาย
ชื่อแบรนด์ที่คุ้นหูคุ้นตาหลายแบรนด์ กลายเป็นคำเรียกสิ่งของต่างๆ ทั้งที่จริงเป็นชื่อแบรนด์ต่างหาก แต่ผู้คนก็นำมาใช้กันจนเป็นเรื่องปกติ และแปลกกว่าตรงที่บางครั้งเราเอาชื่อนั้นไปทำเป็นกริยาของสิ่งต่างๆ ด้วย เช่น ชื่อแบรนด์อย่าง Google ถูกหยิบยกมาใช้เป็นกริยา ในเชิงความหมายว่า “ค้นหา” ไปด้วย นั่นแปลว่า คนทั่วไปต้อนรับแบรนด์ที่มีชื่อไม่คุ้นชินและไม่รู้จะอ่านว่าอย่างไรมากกว่าชื่อง่ายๆ บางคนอาจเถียงว่า Apple ยังใช้ชื่อง่ายๆ เลย แต่อย่าลืมว่าในวันที่ Apple เข้ามาในตลาดเทคโนโลยีนั้น ชื่อนี้ก็นับว่า “แปลก” ในวงการอยู่ดี
แต่จะตั้งชื่อแบรนด์อย่างไรให้เข้าไปอยู่ใน 10 วินาทีแรกนั้นของลูกค้าดี หากคุณไปถามผู้เชี่ยวชาญ พวกเขาคงบอกคุณว่าให้ตั้งชื่อแค่พยางค์เดียว หาคำที่ออกเสียงง่ายๆ หรืออะไรก็ได้ที่เชื่อมโยงระหว่างชื่อกับผลิตภัณฑ์หรือบริการของคุณ ซึ่งเมื่อคุณทำตามคำแนะนำเหล่านี้ คุณจะรู้สึกตัวเองกำลังงมเข็มอยู่ในมหาสมุทร
6 เทคนิคในการตั้งชื่อแบรนด์
กฎ Von Restorff
มนุษย์เราถูกกำหนดให้สังเกตอะไรก็ตามที่แตกต่าง ช่วงปี 1930 จิตแพทย์ชาวเยอรมัน Hedwig von Restorff พบหลักฐานว่ามนุษย์สนใจและจดจำสิ่งที่แตกต่างได้มากกว่าสิ่งที่เหมือนๆ กัน และนั่นคือสิ่งที่คุณที่ต้องการจะทำแบรนด์ต้องการไม่ใช่หรือ ลองใส่กฎ Von Restorff ในการตั้งชื่อแบรนด์ แล้วละเว้นความสั้นกระชับ รูปแบบเดิมๆ หรือความหมายแฝงแบบง่ายดู
ข้อดีของความหมายเชิงลบ
ลองใช้ชื่อที่แสดงถึงความขี้เกียจ การไม่อยากทำอะไร แบบเตะใจคนอ่านว่า “นี่แหละฉันเลย” ช่วยดึงดูดในคนทั่วไปมาเป็นลูกค้าได้ง่ายขึ้น เพียงเพราะอินกับชื่อแบรนด์ ตัวอย่างแบรนด์ใหญ่อย่าง Slack ที่ให้ผู้ใช้ห้ามทำอะไร นอกจากขี้เกียจ
(ขลุกขลักที่จะ) พูดอย่างเต็มปากเต็มคำ
แบรนด์อย่าง TBD (twitter handle @TBD54566975) เป็นกรณีตรงข้ามของ Apple อย่างเห็นได้ชัด แบรนด์พยายามจะสร้างอนาคตที่ทุกคนเข้าถึงได้ และมีส่วนในเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยคริปโต ชื่อแบรนด์ที่ดูคลุมเครือ ให้ทุกคนตีความหมายเอง แถมยังไม่กล้าพูดเต็มปากเต็มคำ เพราะไม่แน่ใจว่าอ่านอย่างไร ก็สร้างความโดดเด่นให้ไม่เหมือนใคร
ห้ามน้อยกว่า 4 พยางค์
หลายคนอาจชอบคำสั้นๆ กระชับ ได้ใจความ แต่การเล่นคำที่มีความหมายสองแง่สองง่ามก็เป็นที่จดจำได้ง่าย บางแบรนด์จึงนำประโยคทั้งประโยคมาใส่เป็นชื่อเลย อย่าง WeBuyAnyCar ที่แค่เห็นชื่อก็รู้แล้วว่ารับซื้อรถ หรือชื่อแบรนด์สุด chic อย่าง Baboon to the Moon แบรนด์ขายกระเป๋าชื่อดัง ที่มีดีไซน์สดใสไม่ต่างไปจากชื่อเลย
ทำให้ไม่แน่ใจว่าขายอะไรกันแน่
จะตั้งชื่อให้เชื่อมโยงกับสินค้าเหรอ ลองคิดอีกที เพราะบางทีการตั้งชื่อให้เป็นนามธรรมก็ทำให้คุณไม่ต้องกังวลว่าในอนาคตอาจมีการต่อยอดธุรกิจกว้างไปกว่าเดิม ลองดูตัวอย่างแบรนด์ Amazon ที่ไม่ได้หมายถึงป่า แต่กลับขายสินค้าตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบได้ โดยไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับชื่อแบรนด์แต่อย่างใด
อย่าทำตามสัญชาตญาณ
การตั้งชื่อตามสัญชาตญาณเป็นเรื่องผิดมหันต์ ตัวอย่าง Netflix เกือบจะโดนตัดออกจากลิสต์รายชื่อ เพียงเพราะใครบางคนบอกว่า ชื่อคล้ายกับหนังโป๊ เพราะฉะนั้น หากใครอยู่ในฐานะคนที่มีอำนาจตัดสินใจในการเลือกชื่อแบรนด์ ก็ไม่ควรจะฟันธงว่าชื่อนั้น “แปลก” เกินไป
การตั้งชื่อแบรนด์ให้เข้าไปอยู่ในใจลูกค้าอาจเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าคุณลองเอา trick เล็กๆ น้อยๆ ที่นำมาฝากในวันนี้ไปลองตั้งชื่อแบรนด์ของคุณดู คิดว่าน่าจะได้ไอเดียเพิ่มอีกมากมาย ไม่แน่… คำกริยาต่อไปที่คนนิยมใช้กันอาจเป็นชื่อแบรนด์ของคุณ เหมือนอย่างที่ Google ทำก็เป็นได้ ใครจะรู้
ที่มาของข้อมูล – Want to find a great name for your brand? Embrace the strange