คุณเคยสงสัยไหมว่าใครเป็นคนคิดค้น Taxi Meter และคนเดียวกันนี้แหละ ยังประดิษฐ์แผ่น Floppy Disk และ CD เสียด้วย ถ้าให้เดาก็คงนึกว่าต้องเป็นฝรั่งสักคนแน่ ๆ ใช่ไหมล่ะ แต่จริง ๆ นักประดิษฐ์เอเชียเราก็เก่งไม่แพ้กัน
CREATIVE TALK ขอเชิญทุกคนมาทำความรู้จักท่านเซอร์ ดร.โยชิโระ นากามัตสึ (Sir Dr.Yoshiro Nakamutsu) นักประดิษฐ์สัญชาติญี่ปุ่น ที่ปัจจุบันอายุหลัก 90 ปี เข้าไปแล้ว และคุณปู่มีความตั้งใจจะมีอายุยืนยาวถึง 144 ปีด้วยนะ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาท่านใช้ไปอย่างคุ้มค่ามาก ๆ ทั้งได้รับปริญญาบัตรถึง 360 ใบ และเป็นเจ้าของสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์กว่า 3,500 ชิ้น ซึ่งมากกว่า ‘โทมัส อัลวา เอดิสัน’ (Thomas Alva Edison) นักประดิษฐ์หลอดไฟคนดังถึง 3 เท่า และเพิ่งจะได้รางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดไปได้จาก ‘Ig Nobel Prize 2020’ อีกด้วยนะ สุดยอดเทพนักประดิษฐ์คนนี้มี 3 วิธีคิดแบบไหน มาติดตามไปด้วยกันครับ
1. คิดเผื่อคนอื่น อยากช่วยให้ชีวิตผู้คนดีขึ้น
ปู่โยชิโร่มักใส่ใจลงไปในสิ่งประดิษฐ์เสมอ ตั้งแต่สิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรกที่คิดค้นขึ้นมาเมื่ออายุเพียง 5 ขวบ เพราะอยากช่วยให้มือคุณแม่ไม่เปื้อนและไม่เหม็นน้ำมันก๊าด จึงสร้าง ‘เครื่องปั๊มน้ำมันก๊าดอัตโนมัติ’ ขึ้นมา และต่อไปนี้ คือ 4 สิ่งประดิษฐ์สุดฮิตแห่งยุค 80’s ที่กำลังจะกลายเป็นไอเท็มในตำนาน
- Floppy Disk
ปู่โยชิโร่ได้เสนอขายลิขสิทธิ์สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ให้แก่ IBM บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน จึงทำให้สิ่งประดิษฐ์ของเขานั้นใช้แพร่หลายไปทั่วโลก แต่เด็กรุ่นใหม่คงจะไม่เคยใช้ หรืออาจจะไม่เคยเห็นกันเลยด้วยซ้ำว่ามันมีหน้าค่าตาอย่างไร ลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมทำจากพลาสติก ขนาดประมาณไม่เกินฝ่ามือ ข้างในบรรจุแถบแม่เหล็กใช้บันทึกข้อมูลออกจากเครื่องคอมพิวเตอร์ หนึ่งแผ่นบรรจุไฟล์ได้เพียง 1.44 เมกะไบต์เท่านั้น
อยากให้น้อง ๆ ที่ไม่ทันได้ใช้ ลองนึกภาพความยากลำบากเวลาพวกพี่ต้องเซฟไฟล์งาน Photoshop แค่ไฟล์ เดียว จะต้องแตกไฟล์แยกเซฟงานใส่ลง ‘Floppy Disk’ ถึง 30 แผ่น ถ้าเกิดอุบัติเหตุแผ่นใดแผ่นหนึ่งหายไปอย่างไม่คาดฝัน จะต้องเป็นอันต้องนั่งทำงานชิ้นนั้นใหม่ทั้งหมดถ้าหากลบออกจกเครื่องคอมพิวเตอร์ไปแล้ว
- CD
สาเหตุที่ทำให้ปู่โยชิโร่คิดค้น CD ขึ้นมานั้น ก็เพราะเขารำคาญเวลานั่งฟังเพลงคลาสสิกของบีโทเฟ่นผ่านแผ่นเสียงแล้วมีอันต้องสะดุด เพราะแผ่นเสียงตกร่องขัดจังหวะสุนทรีย์เสียทุกที ก็เลยสร้างสิ่งที่ดีกว่ามาแทนที่ ลักษณะเป็นแผ่นพลาสติกใสกลมบาง มีรูตรงกลาง ด้านบนทึบ ด้านล่างใสเห็นแผ่นบันทึกสีเงินสะท้อนแสง
มักนิยมใช้เก็บไฟล์เพลง ภาพยนตร์ ภาพถ่ายและไฟล์งานเอกสารดิจิทัล ซึ่งน่าจะใกล้เลิกผลิตตาม ‘Floppy Disk’ ไป เชื่อว่าในไม่กี่ปีข้างหน้าเครื่องคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊ครุ่นใหม่ ๆ อาจจะไม่มีเครื่องอ่าน CD ในตัวอีกแล้วก็เป็นได้ เพราะพวกเราเริ่มเข้าสู่ยุคดิจิทัลกันเต็มตัว เลือกเก็บสำรองไฟล์ไว้บนระบบคลาวน์ อย่างเช่น Google Drive กันไปแล้วเพราะสะดวกกว่า
- Calculator
ถ้าไม่มีเครื่องคิดเลขเราก็คงต้องท่องสูตรคูณ ฝึกคณิตคิดเร็วแล้วทดไว้ในใจ พอมีเครื่องคำนวณเลขให้เราอัตโนมัติ พ่อค้าแม่ค้าก็คิดเงินได้แม่นยำขึ้น ไม่เผลอบวกลบเกินราคาหรือเข้าเนื้อขาดทุน ใช้ทำบัญชีคิดกำไรขาดทุน คำนวณตัวเลขเยอะ ๆ ง่ายกว่านั่งดีดลูกคิดแบบสมัยก่อน
- Taxi Meter
แท็กซี่มิเตอร์ นับเป็นเครื่องมือสันติภาพลดเรื่องน่าปวดหัวระหว่างคนขับกับผู้โดยสาร ช่วยคำนวณระยะทาง แปลงออกมาเป็นเงินค่าเดินรถ ต่างฝ่ายต่างไม่ต้องเสียเวลาต่อรองราคา หรือต้องจำยอมจ่ายราคาเหมาแบบไม่เป็นธรรม
2. คิดให้สนุกและสุดไปสักทาง
สิ่งประดิษฐ์ที่คุณปู่โยชิโร่นึกสนุกขึ้นมา ก็ใช่ว่าจะแพร่หลายเสียทุกชิ้น แต่ด้วยเพราะเขาไม่เคยยอมแพ้ที่จะลงมือสร้างความคิดของเขาออกมาให้เป็นจริง ถึงแม้ว่ามันอาจจะขายไม่ได้ก็ตาม และการลงมือทำนี่แหละคือจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ
แต่ก็ยังได้รับรางวัล Ig Nobel Prize ไปในปี 2020 ซึ่งเป็นรางวัลที่มักมอบให้แก่การทดลองสุดแหวกแนว หรือสร้างสิ่งประดิษฐ์คิดไปได้ ตัวอย่างสิ่งประดิษฐ์ขำขำของคุณปู่ก็อย่างเช่น
‘รองเท้ากระโดด’ ใส่แล้วจะกระโดดได้สูงขึ้น ‘วิกป้องกันตัว’ ไว้ขว้างใส่คนร้ายยามฉุกเฉิน
‘หมอนกันหลับ’ ปกติหมอนเค้ามีแต่ไว้นอนให้หลับ
แต่หมอนใบนี้จะสั่นและส่งกระแสไฟฟ้ากระตุ้นให้คุณต้องสะดุ้งตื่น
ถ้าอยากเห็นมุมนักประดิษฐ์สติเฟื่องขนาดไหนให้ตามไปดูกันได้ที่ https://youtu.be/AnjSjJOEfSc
3.คิดไม่ออกให้ออกไปหาแรงบันดาลใจ
งานวิจัยเรื่อง Mind Shift ของมหาวิทยาลัย McMaster ค้นพบว่ากระบวนการสลับการทำงานของสมอง ที่ช่วยเปลี่ยนโหมดสมองจากสิ่งเร้ารอบตัวที่เข้ามารบกวนนิด ๆ แบบกำลังดี อย่างเช่น ทำงานในร้านกาแฟ เปิดเพลงในห้องคลอไปด้วย จะช่วยให้สมองเรียนรู้ได้ดีขึ้น เกิดความคิดสร้างสรรค์ มีไอเดียดี ๆ พุ่งกระฉูดมากกว่าอยู่ในห้องเงียบ ๆ
สำหรับปู่โยชิโระเอง เวลาอยากจะหาไอเดียออกแบบสร้างสิ่งประดิษฐ์ชิ้นใหม่ เขามักจะไปดำน้ำ จมตัวนิ่งอยู่ก้นสระ ตั้งใจกลั้นหายใจจนถึงที่สุด ให้ไปถึงจุดที่รู้สึกเหมือนอยู่ระหว่างความเป็นความตาย ใกล้จะหมดลมขาดอากาศหายใจแล้วนั่นแหละถึงจะถีบตัวขึ้นมาจากน้ำ สมองของเขาก็มักจะปิ๊งแวบสิ่งประดิษฐ์เจ๋ง ๆ ออกมาได้เอง (สมแล้วที่เป็นคุณปู่!)
New York คือเมืองโปรดของคุณปู่โยชิโระ เขาชื่นชอบเอเนจี้ที่เคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่งของเมืองนี้มาก คุณปู่มองว่าสิ่งนี้ช่วยเพิ่มพลังให้คนในเมืองมีชีวิตชีวา ส่งผลให้เกิดพลังความคิดสร้างสรรค์ได้มากกว่าเมืองสงบ นิ่ง ๆ เย็นๆ เป็นระเบียบเรียบร้อยแบบญี่ปุ่น ที่มีความเคร่งครัดทำให้รู้สึกตึงเครียดเกินไป
เขายังให้ความเห็นว่าการศึกษาในโรงเรียนไม่ควรที่จะตีค่าระดับสติปัญญาของนักเรียนจากผลคะแนนสอบ เพราะคนเราไม่มีทางจะฉลาดเท่ากันในทุกเรื่อง โรงเรียนทำหน้าที่เป็นเพียงห้องทดลองที่มนุษย์สร้างขึ้นมา เพื่อจะควบคุมสภาพแวดล้อมภายนอก ไม่ให้เราไขว้เขวออกจากการเรียนเท่านั้น
เมื่อครั้งที่คุณปู่โยชิโระเดินทางมาเยือนเมืองไทย เขาได้บอกเคล็ดลับความรู้อีกอย่างคือ ‘สมาธิ’ เวลาเรียนก็ต้องตั้งใจจดโน้ต จากนั้นก็ให้สรุปความรู้ออกมา แล้วหมั่นหยิบกลับมาทบทวน และค้นคว้าสิ่งที่ยังไม่เข้าใจเพิ่มเติมด้วยล่ะ
เพราะแบบนั้นเมื่อคิดไม่ออก จงออกไปหาแรงบันดาลใจกันเถอะ
(แต่ไม่ต้องถึงกับกลั้นหายใจแบบนั้นหรอกนะ!)