“อายุยังน้อย แต่ได้เป็นหัวหน้าแล้ว” ฟังดูดี แต่ความจริงคือ "หัวหน้าอายุน้อย" มักต้องเผชิญปัญหาที่ไม่ค่อยมีใครบอกไว้ตั้งแต่ต้น
ทำไมตำแหน่งมาไวกว่าความมั่นใจ?
หลายคนกลายเป็นหัวหน้าเพราะ “เก่งงาน” แต่การเป็นหัวหน้าที่ดี ไม่ใช่แค่ทำงานเก่ง แต่ต้อง “เก่งคน” และ “เก่งฟัง” ด้วย
ในรายการ CREATIVE TALK Sunday Night Live ได้มีการพูดถึงคนรุ่นใหม่หลายคนขึ้นเป็นหัวหน้าเร็วมากซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดี ที่ศักยภาพ ความสามารถบางอย่างของคนทำงานมีความฉายแววที่จะเติบโต แต่ก็อาจจะทำให้คน ๆ นั้นไม่ได้มีเวลาสะสมทักษะการบริหารจัดการคนที่มากพอ พอเจอของจริง เลยสับสนและไม่มั่นใจว่าจะจัดการทีมยังไงดี ไม่ว่าจะเป็นการให้ Feedback การแจ้งข่าวร้าย หรือแม้แต่การวางเป้าหมายกับทีม
และนี่คือสรุปจากในรายการ CREATIVE TALK Sunday Night Live ที่จะรวมปัญหายอดฮิตของคนเป็นหัวหน้ามือใหม่ หรือหัวหน้าอายุน้อย ที่อยากจัดการปัญหาอย่างมืออาชีพ แต่ไม่รู้จะจัดการอย่างไรดี
ฟังรายการเต็ม ๆ ได้ที่
1. Feedback ทีมยังไงไม่ให้เฟล?
หนึ่งในประเด็นฮอตคือ "การให้ Feedback" คำว่า Feedback ในออฟฟิศไทย มักแปลว่า ‘เรื่องไม่ดี’ ทันทีที่ได้ยิน ใคร ๆ ก็ใจหล่น โดยเฉพาะเวลาต้องพูดกับคนที่อายุเท่ากัน เคยเป็นเพื่อน หรืออายุมากกว่าเรา
💭 ถ้าเป็นเรื่องดี → ชมให้ชัด และชมในที่สาธารณะ
💭 ถ้าเป็นเรื่องไม่ดี → คุยแบบส่วนตัว และตั้งใจเตรียมตัวให้ดี
💭 เลือกบรรยากาศที่เหมาะกับสไตล์ของคนฟัง เช่น นัดคุยระหว่างจิบกาแฟ แทนที่จะเรียกเข้าห้องประชุมให้กดดัน
และที่สำคัญ…อย่าใช้ Feedback เป็นการ “หักหน้า” แต่ให้คิดว่าเรากำลัง “ส่งเสริม” เพื่อให้เขาเก่งขึ้น
2. Feedback ลูกน้องที่รู้สึกงานที่ออกมาโอเคแล้ว
บางครั้งทีมรู้สึกว่าทำดีที่สุดแล้ว แต่หัวหน้ากลับเห็นว่ายังไม่เข้าเป้า นี่แหละจุดที่ต้องหาทาง “พูดความจริงโดยไม่บั่นทอนใจ” เพราะบางทีมันอาจจะเกิดจากการที่เราตั้งเป้าหมาย หรือวางความคาดหวังไว้ไม่ตรงกัน ไม่ได้เห็นภาพเดียวกันแต่แรก
🤔 ตั้งเป้าหมาย (Ultimate Goal) ให้ชัดตั้งแต่แรก เช่น บทความนี้ไม่ได้แค่เขียนให้เสร็จ แต่ต้องได้ Engagement ไม่ต่ำกว่า 200 แชร์
🤔 อย่า Feedback ด้วย “คำตอบ” แต่บอกด้วย “คำถาม” เช่น “เราคิดว่างานนี้ยังไม่ดึงคนอ่านมากพอ ลองคิดดูว่าเราจะทำให้มันน่าสนใจกว่านี้ได้ยังไงบ้าง?”
และอย่าลืม…ให้ทีมรู้ว่า "คุณไม่ได้มองแค่สิ่งที่ยังไม่ได้" แต่ "คุณเห็นความพยายามที่เขาใส่ลงไป"
3. อยากพูดกับหัวหน้า...แต่กลัวพูดแล้วพัง?
หลายคนอยาก Feedback หัวหน้าเหมือนกัน แต่อาจกลัวว่าจะโดนมองว่า "ล้ำเส้น" หรือทำให้เกิดผลลัพธ์ไม่ดีกับตัวเองตามมา
เทคนิคคือให้คิดเหมือน “ให้ของขวัญ” เพราะ Feedback คือการให้ ไม่ใช่การจับผิด
ถ้าเราเริ่มด้วยความตั้งใจดี และชัดเจนว่าสิ่งที่พูดไปช่วยให้บรรยากาศหรือประสิทธิภาพในทีมดีขึ้น โอกาสที่หัวหน้าจะรับฟัง ก็จะมากขึ้น
ที่สำคัญเลยคือต้องเป็นการ Feedback เพื่อบอกว่าหากหัวหน้าลองปรับหรือเปลี่ยนบางอย่าง อาจทำให้เกิด Performance บางอย่างที่ดีขึ้น การ Feedback หัวหน้าจะต้องไม่ใช่แค่การใช้อารมณ์บ่นไปเฉย ๆ
4. ต้องบอกเรื่องแย่ ๆ กับทีม ทำยังไงให้ไม่ใจร่วง?
ข่าวร้ายยังไงก็คือข่าวร้าย แต่การ “เล่าให้เป็น” ช่วยลดความเจ็บจากข่าวนั้นได้
🔥 บอกให้ชัด – ไม่อ้อมค้อม ไม่หลอกให้ลุ้น
🔥 บอกให้ไว – ไม่ปล่อยให้ค้างคา
🔥 บอกเป็นการส่วนตัว – เพราะความรู้สึกเสียใจ ไม่ควรถูกเปิดเผยต่อหน้าคนอื่น
🤝 หัวหน้าอายุน้อย ไม่ใช่แค่เก่งงาน แต่ต้อง "เก่งคน"
โลกของการทำงานวันนี้เต็มไปด้วยคนต่างวัย และความเป็นหัวหน้าไม่ได้วัดจากอายุ แต่ขึ้นอยู่กับว่า คุณพาทีมไปถึงเป้าหมายได้อย่างไร และทำให้เขาอยากเดินไปกับคุณหรือเปล่า
สิ่งที่หัวหน้ารุ่นใหม่ต้องฝึกเสมอคือ
- ความสม่ำเสมอ – พูดแล้วต้องทำ พูดวันนี้ พรุ่งนี้ต้องเหมือนเดิม
- ความจริงใจ – ไม่มีใครอยากฟังคำหวานที่ไม่จริง
- การสร้าง Trust – ไม่มีความไว้ใจ = ไม่มีทีม
“ถึงจะเป็นผู้จัดการ แต่ไม่มีใครอยากถูกจัดการ ทุกคนอยากเดินตามผู้นำที่น่าเคารพ”