การทำงานในยุคนี้ไร้พรมแดนแล้ว ทำให้งานลักษณะที่เป็นทางไกลเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โรคระบาดโควิด-19 เป็นเพียงปัจจัยเร่งที่ทำให้คนหันไปทำงานแบบทางไกลกันมากขึ้น
ที่น่าสนใจคือ ผู้คนมากกว่า 65% อยากทำงานทางไกลแบบเต็มรูปแบบ เว็บไซต์จัดหางานทางไกลอย่าง Flexjobs ยังเผยข้อมูลว่ามีตำแหน่งงานในลักษณะทำงานทางไกลเพิ่มขึ้นในปี 2021 จากปี 2020 ถึง 12% ถึงแม้ว่าตำแหน่งงานจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่คนสมัครงานก็ต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ให้เข้ากับการหางานลักษณะนี้ด้วย วันนี้เรารวบรวม 11 ขั้นตอนผิดๆ ที่ผู้สมัครมักทำพลาดจนทำให้ไม่ได้งานทางไกลสักที
หาตำแหน่งงานนอกขอบเขตพื้นที่ภูมิประเทศคุณ
95% ของตำแหน่งที่ประกาศรับ มักรวมถึง “การระบุสถานที่” (Location Requirement) เนื่องจากแต่ละสถานที่มีเรื่องของภาษี หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับใบอนุญาตเข้ามาเกี่ยวข้อง การที่คุณใส่ใจว่าตำแหน่งงานนั้นอยู่ที่ไหน หรือมีการระบุสถานที่ไหม ต่อให้เป็นงานทางไกลแบบ 100% ก็เถอะ จะช่วยการันตีว่าใบสมัครของคุณไม่ถูกปัดตกเพียงเพราะตกม้าตายเรื่องเลือกสถานที่นั่นเอง
ลืมเน้นทักษะการทำงานทางไกลเฉพาะ
นอกจากทักษะเฉพาะในงานแล้ว คุณยังต้องมีทักษะการทำงานทางไกลเฉพาะด้วย ผู้ว่าจ้างแบบทางไกลมักมองหาคุณสมบัติอย่างการจัดระเบียบ การจัดการเวลา การแก้ปัญหา และการสื่อสาร ทั้งการพูดและการเขียน การใส่ทักษะเหล่านี้ลงไปใน Resume จะช่วยคุณโดดเด่นขึ้นมา
ไม่อาศัยเครือข่ายทางไกลของคุณ
80% ของการจ้างงานซ่อนอยู่ในตลาดลับ ซึ่งไม่เคยมีการโพสต์ลงบนเว็บหางาน หรือโซเชียลมีเดีย ดังนั้นการเข้าไปอยู่ในเครือข่ายการทำงาน โดยอาศัยเครื่องมืออย่าง LinkedIn หรือสมาคมอาชีพต่างๆ จะช่วยขยายเครือข่ายของคุณและทำให้คุณได้เจอกับงานกลุ่มนั้น คุณยังสามารถหาอีเมลของผู้รับสมัครหรือผู้จัดการฝ่ายจัดหางาน จากนั้นส่งข้อความไปทักทาย ไม่ว่าก่อนหรือหลังสมัครงาน ทำให้คุณแตกต่างจากผู้สมัครรายอื่นๆ
หว่านแห กว้างเกินไป
ถ้าคุณอยากได้งานทางไกลมาก จนกระทั่งสมัครไปทุกตำแหน่งที่เปิดรับเลย คุณกำลังเสียเวลาอยู่ จงสมัครเฉพาะงานที่คุณสมบัติของคุณเข้าเค้า เพราะผู้ว่าจ้างต้องการคนที่ทำงานตามคุณสมบัติที่ประกาศไว้ได้ คุณอาจมีความสามารถหลากหลาย ทำได้ถึง 5 สายงาน แต่ถ้า Resume ของคุณไม่ได้ระบุถึงความถนัดเฉพาะงานที่คุณสมัครไว้ล่ะก็ เตรียมโดนเมินได้เลย
กระโดดเข้าไปทันที
แม้ว่าคุณพร้อมและมีความกระตือรือร้นที่จะเริ่มทำงานทางไกล แต่การเริ่มช้าๆ อาจจะดีกว่า ก่อนจะสมัครงานใดๆ อย่าลืมหาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทที่คุณจะสมัครด้วย โดยเฉพาะการค้นหาบริษัทที่มีเป้าหมายและให้คุณค่าแบบเดียวกับที่คุณมี การทำการบ้านแบบนี้ก่อน ช่วยให้คุณได้ลิสต์องค์กรที่คุณอยากร่วมงาน และตรงกับความต้องการของคุณด้วย จากนั้นค่อยเตรียมเหยียบคันเร่งลุย
ส่ง Resume แบบเดิมๆ
การปรับแต่งทั้ง Resume และ Cover Letter ของแต่ละตำแหน่งงานและแต่ละบริษัทที่คุณสมัคร จะช่วยให้ผู้ว่าจ้างมองเห็นว่าคุณเป็นผู้สมัครที่เข้าตาได้ดี นอกจากจะแสดงให้เห็นว่าคุณเข้าใจวัฒนธรรมองค์กรได้แล้ว คุณยังเน้นทักษะที่คุณมี ที่จะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรด้วย แล้วอย่าลืมใส่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่น คุณค่าที่คุณมีร่วมกับองค์กร ประสบการณ์การทำงานทางไกล หรือแม้กระทั่งการรูปแบบการจัดการการทำงานทางไกลในแบบของคุณได้ยิ่งดี
ใช้ Resume สวยเกินไป
บางคนใช้ฟอนต์แปลกๆ มีกราฟิกเท่ๆ การจัดวางรูปแบบเก๋ๆ ทำ Resume สวยปิ๊ง แต่กลับไม่โดนคัดเลือก เพราะบางบริษัทคัดใบสมัครผ่านโปรแกรม ATS (Applicant Tracking Systems) เพื่อช่วยสแกนใบสมัครนับร้อยนับพัน โปรแกรมนี้ตรวจจับแค่ “ข้อความ” ที่ปรากฏใน Resume เท่านั้น ทำให้รูปแบบการจัดวางที่แตกต่างไปจากแบบทั่วไปอาจโดนคัดออก
เขียน Resume ที่เน้นว่าทำอะไรมาบ้าง
นอกจากคุณจะต้องปรับแต่ง Resume ให้สอดคล้องกับตำแหน่งงานที่สมัครของแต่ละที่แล้ว คุณยังต้องระวังเรื่องรายละเอียดในนั้นด้วย ปกติคนหางานทั่วไปมักสับสนระหว่างประวัติการทำงาน กับสิ่งที่พวกเขาเคยทำมา คุณจะพบว่าพวกเขาใส่ลิสต์สิ่งที่เคยทำมาเป็นข้อๆ แต่กลับไม่ได้บอกผลลัพธ์ว่าทำแล้วเป็นยังไง ผู้ว่าจ้างต้องการดูว่าสิ่งที่คุณทำเห็นผลหรือไม่ โดยเฉพาะคนที่ทำงานทางไกล จะต้องมีผลลัพธ์ให้เห็นมากกว่างานทั่วไป ทำให้ว่าที่นายจ้างมั่นใจได้ว่าคุณสามารถทำงานเป็นอิสระ โฟกัสกับงาน และสามารถใช้เครื่องมือสำหรับทำงานทางไกลได้
วางกรอบเวลาที่ไม่สมจริง
กรอบเวลาการหางานโดยทั่วไปอยู่ที่ 3 – 6 เดือน แต่บางงานอาจใช้เวลามากกว่านั้น การตั้งกรอบเวลาที่เร่งรัดเกินไป อาจทำให้คุณรู้สึกกดดันที่ต้องหางานให้ได้ภายในเวลาที่กำหนด ส่งผลให้คุณรับงานที่ไม่มีชอบนัก กรอบเวลาที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับประเภทงาน วงการ สภาพตลาดแรงงานโดยรวม และสถานการณ์เฉพาะของแต่ละบริษัท นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับคุณว่าจะรับงานทางไกลแบบ 100% หรือว่าเป็นแบบ Hybrid หรือสามารถรับได้ทั้งสองแบบ เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องตั้ง Deadline ที่ชัดเจนเกินไป
เปลี่ยนงานโดยไม่เตรียมตัวก่อน
ก่อนที่จะตัดสินใจเปลี่ยนงาน หรือหางานใหม่ คุณต้องเตรียมตัวก่อน อย่าลืมระบุลงไปใน Cover Letter ด้วยว่าทักษะที่คุณมีจากงานเก่าสามารถโอนถ่ายมาใช้กับงานใหม่ได้อย่างไรบ้าง นอกจากนี้หากคุณมีการลงเรียนเพิ่มทักษะการเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่องานใหม่ อย่าลืมใส่ลงไปใน Resume เพราะมันทำให้คุณดูมุ่งมั่นและน่าสนใจมากขึ้น เช่น คุณเพิ่งเคยก้าวเข้าสู่การทำงานทางไกลเป็นครั้งแรก แต่คุณได้ไปเรียนรู้เครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงานทางไกลเพิ่มมาแล้ว
ไม่กล่าวคำขอบคุณ
สุดท้าย อย่าลืมว่าจุดหมายปลายทางของการสมัครงาน “ไม่ใช่” การสัมภาษณ์ แต่เป็นการได้งาน อย่าลืมส่งข้อความขอบคุณผู้สัมภาษณ์หลังการสัมภาษณ์ทุกครั้ง ผู้สมัครหลายคนลืมเรื่องง่ายแต่สำคัญที่สุดแบบนี้ เพื่อเป็นการย้ำว่าคุณตื่นเต้นและเหมาะกับตำแหน่งนี้ขนาดไหน
การหางานทางไกลอาจดูเหมือนไม่ยาก แต่ถ้าคุณไม่ได้เตรียมตัวให้พร้อม คนอื่นก็มีโอกาสเท่าๆ กับคุณเช่นกัน หวังว่าหลังจากอ่านความผิดพลาดทั้ง 11 ข้อแล้ว คุณจะนำไปปรับใช้กับการสมัครงาน ซึ่งไม่เพียงแต่ใช้ในการสมัครงานทางไกลเท่านั้น ยังสามารถปรับใช้กับการสมัครงานครั้งต่อไปในทุกรูปแบบด้วย
ที่มาของข้อมูล – 11 missteps that can stall a remote job search