5 วิธีสร้างทีมให้เก่งขึ้นแบบ ‘พยายามขึ้นอีกนิด’

Last updated on ส.ค. 23, 2024

Posted on ส.ค. 12, 2024

“สิงโต ไม่จำเป็นต้องผลักลูกของตัวเองลงเหว”

นี่คือหนึ่งในคำโปรยบทหนึ่งจากหนังสือที่มีชื่อว่า ‘หนังสือสำหรับหัวหน้าที่อยากให้ลูกน้องคิดเองเป็น’ โดยชิโนฮาระ มาโคโตะ นักวิจัยระดับสูงหน่วยหนึ่งในหน่วยงานวิจัยและพัฒนาแห่งชาติ

ความน่าสนใจของประเด็นนี้คือ คนที่เป็นลีดเดอร์ เป็นหัวหน้าเชื่อว่าน่าจะเคยประสบปัญหาที่ให้ลูกทีมทำงานแล้วอาจจะออกมาไม่ได้ดั่งใจ สั่งงานไปผลลัพธ์ที่ได้อาจจะไปไม่ถึงที่หัวหน้าทีมคาดหวัง หรือรู้สึกว่าอยากให้ทีมเก่งขึ้นอีกมาก ๆ แต่หลายครั้งตัวเราเองก็อาจจะลืมไปว่าเราอาจจะเผลอให้พนักงานก้าวขึ้นบันไดข้ามขั้นเยอะเกินไป จนพวกเขาไม่มั่นคง

วิธีการหนึ่งที่หนังสือเล่มนี้ได้เล่าเอาไว้คือการให้ลูกน้องได้ ‘สั่งสมประสบการณ์ความสำเร็จ’ ไปเรื่อย ๆ ทีละนิด

เทคนิคสำคัญของการช่วยให้ทีมได้สั่งสมประสบการณ์ความสำเร็จ เทคนิคหนึ่งคือการมอบหมายงานที่ทำให้คนทำงานรู้สึกได้ว่า “ถ้าพยายามอีกนิด ก็จะไปถึงความสำเร็จขั้นถัดไปได้” และนี่คือ 5 วิธีที่คุณชิโนฮาระ มาโคโตะ แนะนำกับลีดเดอร์ทุกคนเพื่อช่วยให้ลูกน้องของคุณเก่งขึ้นได้แบบไม่ต้องผลักลงเหว

1. ให้ลูกน้องฝึกทำงานเดิมซ้ำ ๆ เพื่อให้ทักษะพื้นฐานที่ควรจะมี แข็งแรงมากพอ

สมมุติเรามีทีมที่เป็นนักเขียนหน้าใหม่ ทักษะพื้นฐานหนึ่งที่จำเป็นคือเรื่องการจับประเด็น การสื่อสารให้คนอ่านเข้าใจ หัวหน้าทีมก็มีหน้าที่ให้น้องใหม่คนนี้ได้ฝึกเขียนไปเรื่อย ๆ ด้วยเลเวลของเนื้อหาที่อาจจะยังไม่ยากมาก พอเขาสามารถเล่าเรื่องประเภทเดิม ๆ ได้ดีแล้ว ก็อาจจะค่อยลองให้ทำประเด็นอื่นที่ท้าทายเขามากขึ้น


2. ขั้นต่อไปให้เลือกงานที่ลูกน้องต้อง ‘พยายามมากขึ้นอีกนิด’

อย่างที่บอกว่าอย่าพึ่งให้เขาไปทำงานที่แม้แต่ความรู้พื้นฐานเขาก็ยังไม่แข็งแรง ลองขยับงานที่ใช้องค์ความรู้เดิมแต่โจทย์อาจจะยากขึ้น


3. หัวหน้าต้องลองทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

วิธีการที่จะช่วยให้ทีมเข้าใจการทำงานได้ดีที่สุด คือหัวหน้าเองต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่างก่อน ว่างานลักษณะนี้ต้องการงานออกมาแบบไหน มีวิธีคิดอย่างไร เพื่อให้ทีมได้พอเข้าใจว่านี่แหละคือสิ่งที่องค์กรคาดหวัง หัวหน้าคาดหวัง


4. ให้ลูกน้องลองทำเอง โดยหัวหน้าต้องไม่พยายามบอกคำตอบ

ความกดดันหนึ่งที่บางครั้งก็ทำให้ทีมทำงานออกมาได้ไม่ดี คือการที่หัวหน้าลงไป Micromanagement มากเกินไป จับจ้อง จับผิดเกินไป ทำให้ทีมอาจจะทำตัวไม่ถูก และสุดท้ายอาจกลายเป็นคนรอฟังคำสั่ง มากกว่าจะลองลงมือทำเสียเอง ดังนั้นคนเป็นหัวหน้าต้องอดทนกับตัวเองเข้าไว้นะ!


5. สร้างแวดล้อมให้ลูกน้องรู้สึกว่าสามารถมาปรึกษาเราได้ตลอดเวลา

แน่นอนว่าการปล่อยให้ลงมือทำเอง กับงานที่ใหม่มาก ๆ ก็อาจเกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย ดังนั้นหัวหน้าหรือลีดเดอร์ก็ต้องสร้างแวดล้อมให้ทีมรู้สึกว่ามาขอคำปรึกษาได้ทุกเมื่อ ไม่รู้สึกกลัวที่จะมาถาม หรือบอกในสิ่งที่อาจจะทำพลาดไปแล้ว

ไม่ได้บอกว่าไม่ควรให้ทีมได้ทำงานยากเลยนะ แต่หมายความว่าหากวันนี้เราเป็นสิงโตที่จะผลักลูกลงเหว ก่อนอื่นก็อาจจะต้องฝึกให้ลูกสิงโตได้เข้าใจก่อนว่าจะปีนขึ้นมาจากเหวนั้นอย่างไร

แค่ให้พวกเขาได้พยายามขึ้นอีกนิด ก็อาจทำให้ทีมเก่งขึ้นได้มากกว่าที่คิดเลยก็ได้


แล้วก็ใครที่อยากอ่านวิธีอื่น ๆ ของการบริหารจัดการคนก็ลองไปดูหนังสือเล่มนี้กันได้นะ เพราะที่หยิบยกมาเป็นแค่ส่วนหนึ่งจากหนังสือเท่านั้น ยังมีอีกหลายบทมาก ๆ ที่น่าสนใจ และอยากให้ได้ลองอ่านกัน


แปล เรียบเรียง: กองบรรณาธิการ CREATIVE TALK

ที่มา

trending trending sports recipe

Share on

Tags