เพราะสิ่งรบกวนภายนอกจากความวุ่นวาย ยุ่งกับงานมากเกินไปอยู่ทุกวัน ส่งผลให้บางครั้งเรากลายเป็น ‘ผู้ฟังที่ไม่ดี’
ทุกวันนี้โลกดูเหมือนจะยุ่งขึ้นเรื่อย ๆ ไหนจะเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไป หรือความวุ่นวายในชีวิตประจำวันที่มากขึ้น เช่น ประชุมบ่อยขึ้น, เดินทางนานขึ้น, งานด่วนงานเร่งมากขึ้น และยังต้องพูดคุยกับผู้คนอีกมากมาย นอกจากสิ่งรบกวนจากภายนอกที่มีอยู่จริงแล้ว ก็ยังมีสิ่งกีดขวางจากภายในตัวเราที่ขัดขวางการฟังที่ดี ซึ่งในบางครั้งก็เต็มไปด้วยอารมณ์, ทัศนคติ และแรงจูงใจที่ทำให้เรายากจะตั้งใจฟังคนอื่นได้อย่างแท้จริง
บทความนี้น่าสนใจมาก ซึ่งมาจาก fastcompany (จากหนังสือ Radical Listening: The Art of True Connection) โดยผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเชิงบวกทั้ง 2 ท่าน คุณ Robert Biswas-Diener (โรเบิร์ต บิสวาส-ดีเนอร์) และ คุณ Christian van Nieuwerburgh (คริสเตียน ฟาน นิวเวอร์เบิร์ก) ซึ่งได้เข้าใจ ‘สถานการณ์ปัจจุบันของหลาย ๆ คนบนโลก’ โดยได้มีการพัฒนากรอบแนวคิดที่เรียกว่า Radical Listening Skills หรือการฟังแบบลึกซึ้งอย่างตั้งใจจริง
โดยบทความนี้จะแบ่งออกเป็น 2 เรื่องที่จะระบุปัญหา และเทคนิคไปพร้อมกัน
- ปัญหา: เรื่อง 6 สัญญาณที่อาจบอกว่าคุณเป็น "ผู้ฟังที่ไม่ดี" พร้อมวิธีฟังให้ดีขึ้น
- เทคนิค: Radical Listening Skills หรือการฟังแบบลึกซึ้งอย่างตั้งใจจริง
เมื่อเราเข้าใจถึงต้นตอของปัญหา อยากให้ทุกคนได้เข้าถึงเทคนิค เพื่อรู้เท่าทันอารมณ์ และทัศนคติของตัวเอง ต่อการสนทนาให้ดีขึ้น เป็นผู้ฟังที่เข้าใจเพื่อนมนุษย์ได้มากขึ้น และสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแรงยิ่งขึ้น
ฟังแล้ว ฟังอยู่ ฟังต่อ อาจไม่ได้แปลว่าเป็นผู้ฟังที่ดี และนี่คือ 6 สัญญาณที่อาจบอกว่าคุณเป็น "ผู้ฟังที่ไม่ดี" พร้อมวิธีฟังให้ดีขึ้น
สัญญาณที่ 1: การเปรียบเทียบ “อยากพูดมากกว่าอยากฟัง เพราะมันเคยเกิดขึ้นกับเรา”
ในหลาย ๆ สถานการณ์เวลาเราเป็นผู้ฟัง บางครั้งเรื่องที่คนอื่นเล่า อาจทำให้เรารู้สึกอยากแชร์ประสบการณ์ของตัวเองที่คล้ายกันออกมา แทนที่จะตั้งใจฟังและเข้าใจสิ่งที่เขากำลังเล่าอยู่ เรากลับมัวแต่คิดถึงเรื่องของตัวเอง
ตัวอย่างเช่น
“เมื่อวานฉันเจอนักเขียนตัวท็อประดับประเทศด้วย ดีใจมากที่ตัวเองกล้าเดินไปหา เพื่อให้เขาเซนต์ลงบนหนังสือด้วย”
ในขณะเดียวกันหากเราเป็นผู้ฟังที่ไม่ดี และเริ่มใช้โหมดการเปรียบเทียบว่า
“โธ่แกรร ฉันก็เคย ตอนที่ฉันไปอเมริกาได้เจอนักเขียนระดับโลก นอกจากเขาจะเซนต์ให้แล้ว ยังได้ถ่ายรูปกับเขาด้วยนะ”
ในตัวอย่างนี้ เราที่เป็นฝ่ายรับฟังแล้วพูดกลับ อาจไม่ได้มีเจตนาตั้งใจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกแย่ แต่สิ่งที่พูดไปคือการดึงเรื่องกลับมาหาตัวเองทันที แทนที่จะ “ฟัง” หรือ “เข้าใจความรู้สึกของเพื่อนร่วมงาน” กลับกลายเป็นการเปรียบเทียบและแย่งความสนใจไปซะอย่างนั้น
แทนที่จะพูดแบบนั้น ลองปรับวิธีการสื่อเป็น
“ฉันเข้าใจมาก ๆ กว่าเราจะรวบรวมความกล้าไปหาคนที่เราชื่นชอบได้ เธอมันเริศที่สุด”
ในบทสนทนานี้ไม่ได้ต้องการให้คุณไปแข่งเล่าเรื่องกลับ แต่ต้องพูดเพื่อสร้างกำลังใจ, ชื่นชม, และการยอมรับว่าเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ มันมีคุณค่ามากจริง ๆ เพื่อให้คนที่เราคุยด้วย เห็นถึงความสำคัญกับสิ่งที่เขาเล่า
สัญญาณที่ 2: แข่งกันเล่า “แค่นั้นเองเหรอ ของฉันหนักกว่านั้นอีก!”
เป็นเรื่องปกติ ที่เรามักจะชอบแบ่งปันเรื่องราวกันระหว่างเพื่อน ๆ เช่น เพื่อนร่วมงานอาจพูดว่า “ช่วงนี้ฉันแทบจะจัดการอีเมล หรืองานไม่ไหวเลย! แถมมีอีเมลที่ยังไม่ได้อ่านกว่า 200 ฉบับค้างอยู่” ซึ่งจริง ๆ แล้ว เขาอาจต้องการแค่คำปลอบใจ หรือคำแนะนำเล็ก ๆ เพื่อรับมือกับความวุ่นวายตรงหน้า
แต่แทนที่จะให้กำลังใจหรือช่วยคิด หากเป็นผู้ฟังไม่ดีก็จะตอบกลับไปว่า
“แค่ 200 เองเหรอ? ของฉันมีเกิน 1,000 ฉบับที่ยังไม่ได้ตอบเลยนะ!”
เราเรียกพฤติกรรมนี้ว่า “แข่งกันเล่า” แม้ว่าการแบ่งปันประสบการณ์ของตัวเองจะไม่ผิดอะไร แต่ถ้าไม่ระวัง ก็อาจทำให้ดูเหมือนไม่ใส่ใจ ไม่เข้าใจ หรือพูดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางโดยไม่ตั้งใจได้
ถ้าจะฟังให้ดีขึ้น ลองเปลี่ยนเป็น:
“ฟังดูเยอะมากจริง ๆ ตอนนี้รู้สึกเครียดไหม? พอจะช่วยอะไรได้บ้างไหม?”
แบบนี้จะช่วยให้คนเล่า รู้สึกว่าเขาไม่ได้อยู่คนเดียวในสถานการณ์นั้น แถมเรายังแสดงความเห็นอกเห็นใจจริงร่วมกันในฐานะเพื่อนร่วมงาน
สัญญาณที่ 3: คิดแทน “ฉันรู้อยู่แล้วว่าเธอจะพูดอะไร”
เรามักจะเคยเจอสถานการณ์ที่ยังไม่ทันได้เริ่มคุย แต่ก็รู้สึกว่าตัวเองเดาได้หมดว่าอีกฝ่ายจะพูดอะไรไหม? แบบนี้เราเรียกว่า “การคิดแทน” แม้บางครั้งจะมาจากประสบการณ์ที่เคยเจอมาก่อน แต่การคิดแทนแบบนี้ทำให้เราเปิดใจฟังคนอื่นได้น้อยลง และมักจะติดอยู่กับความคิดของตัวเอง แทนที่จะให้ความสำคัญกับมุมมองหรือความต้องการของอีกฝ่ายจริง ๆ
ถ้าเราไม่ใช่คนอ่านใจได้จริง การที่เราคิดว่า “รู้อยู่แล้ว” ว่าอีกฝ่ายจะพูดอะไร กลับกลายเป็นอุปสรรคในการฟังอย่างตั้งใจ และอาจทำให้เราพลาดประเด็นสำคัญไปได้เลย
ดังนั้นลองเปลี่ยนจากการ “เดา” มาเป็น “ฟังให้ครบอย่างตั้งใจ” จะดีกว่า เพราะบางครั้งเวลามีคนเล่าอะไรให้เราฟัง เขาอาจจะอยากปรึกษา หรืออยากจะมาเล่าเพื่อให้คุณมองว่าเขาเป็นคนสำคัญ
สัญญาณที่ 4: แนะนำทั้งที่เขาไม่ได้ขอ: “ถ้าเป็นฉันนะ...”
เชื่อว่าทุกคนต้องเคยเป็น ‘ที่ปรึกษาของเพื่อน หรือที่ปรึกษาของลูกน้อง’ เช่น “เขาอาจจะอยากมาปรึกษาว่า ช่วงนี้อยากพักผ่อนจัง แต่ก็งานล้นมือยังพักไม่ได้”
สถานการณ์แบบนี้สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้ว่าเขา อยากได้อะไรจากเรา ไม่ใช่รีบเปิดกล่องเครื่องมือแล้วรีบ “ซ่อม” ปัญหาให้เขาทันที บางทีเขาอาจอยากได้คำแนะนำ หรือบางทีเขาแค่อยากมีคนเข้าใจและอยู่ข้าง ๆ ไม่ว่าเขาจะต้องการอะไร สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือ ถ้าเรามัวแต่รีบพูดหรือให้คำแนะนำในสิ่งที่เขาไม่ได้ถาม เราก็จะไม่ได้ฟังเขาจริง ๆ
ลองฟังก่อน แล้วค่อยถามว่า
“เธออยากให้เราช่วยแค่ฟัง หรืออยากได้มุมมองบางอย่างเพิ่มเติมไหม ฉันยินดีช่วยเต็มที่”
สัญญาณที่ 5: ตั้งตัวเองเป็นศูนย์กลาง: “ฉันรู้ดีที่สุด”
ลองนึกภาพว่าตอนนี้คุณอยู่ในที่ประชุม แล้วทุกคนกำลังพูดถึงปัญหาทางเทคนิค ซึ่งเป็นเรื่องที่คุณเชี่ยวชาญมาก เพราะคุณเคยแก้ปัญหาแบบนี้มาแล้วหลายปี
ปัญหาคือ...เมื่อเป็นเรื่องที่เราถนัดมาก เรามักจะ “คิดว่าเราต้องพูด”
เพราะเรา “รู้ดีกว่า” - นี่แหละคือสิ่งที่เรียกว่า Priority Status หรือ การตั้งตัวเองเป็นศูนย์กลาง
มักจะเกิดขึ้นเมื่อเราหยุดฟัง แล้วรีบเสนอความคิดเห็นของตัวเองก่อนใคร โดยคิดว่า “ของเราต้องมีประโยชน์แน่ ๆ” แน่นอนว่าเจตนาอาจดี อยากช่วย อยากให้ไอเดีย แต่ถ้าเรารีบพูดมากเกินไป โดยยังไม่ฟังคนอื่นให้จบก่อน นั่นก็แปลว่าเราไม่ได้ฟังจริง ๆ
การเป็นผู้รู้ไม่ใช่ปัญหา
แต่การ "คิดว่ารู้ดีที่สุดจนไม่เปิดใจฟังใครเลย" นั่นแหละ...ที่เป็นปัญหา
สัญญาณที่ 6: เวลาน้อยเกินไป: “ไม่มีเวลาฟังหรอก”
ในหนึ่งวันมีแค่ 24 ชั่วโมง เราทุกคนเลยมักรู้สึกว่า "เวลาไม่เคยพอ" ความรู้สึกที่เรียกว่า Time Poverty หรือ "ความจนเวลา" นี้ อาจส่งผลต่อสมาธิ และทำให้เราจดจ่อกับบทสนทนาได้ยาก
ในสถานการณ์แบบนี้ เราอาจดูใจร้อน เผลอแสดงท่าทีว่า สิ่งที่เขากำลังพูด ไม่มีความสำคัญมากพอ ที่เราควรจะใส่ใจฟัง ความใจร้อนแบบนี้ ทำให้คนรู้สึกว่า “คุณไม่ได้เห็นค่าความคิดหรือความรู้สึกของคนที่เรากำลังคุยด้วย” และสุดท้ายคู่สนทนาของเราก็จะรู้ว่า คุณไม่ได้ฟังจริง ๆ
ฟังแบบผิวเผิน ได้ความสัมพันธ์ผิวเผิน แต่ถ้าฟังแบบเข้าใจ ได้ “ใจ” เขากลับมา และนี่คือ 6 เทคนิค ทักษะพื้นฐานของการฟังแบบลึกซึ้ง (Radical Listening)
เมื่อเราเข้าใจปัญหาที่เป็นสัญญาณของผู้ฟังที่ไม่ดีแล้ว หลังจากนี้ลองมาเรียนรู้ 6 เทคนิค ทักษะพื้นฐานของการฟังแบบลึกซึ้ง (Radical Listening) ซึ่งจะช่วยให้บทสนทนาเชื่อมโยงกันมากขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น ไม่จำเป็นว่าเราต้องเห็นด้วยกับสิ่งที่เขาพูด แต่เราแค่เปิดพื้นที่ให้เขาได้แสดงมุมมองอย่างเต็มที่ แล้วความสัมพันธ์ดี ๆ ก็จะเกิดขึ้นเอง
1. สังเกตให้เป็น (Noticing)
คือการตั้งใจฟังอย่างแท้จริง ฟังแล้วจับประเด็นให้ได้ว่า “อะไรคือสิ่งสำคัญในบทสนทนานั้น ๆ” คนที่มีทักษะนี้จะสามารถจับใจความ, หาข้อมูล และแยกแยะสิ่งที่เกี่ยวข้องได้ดี
ตัวอย่าง: เพื่อนร่วมงานเล่าว่าเขารู้สึกเหนื่อยกับการประชุมถี่ ๆ
❌ แทนที่จะฟังผ่าน ๆ แล้วตอบว่า "ก็ทุกคนก็เหนื่อยเหมือนกันแหละ"
✅ ให้คุณสังเกตน้ำเสียงและคำที่เขาใช้ แล้วถามต่อว่า "ช่วงนี้ประชุมแน่นมากเลยใช่มั้ย? มีอันไหนที่เราพอจัดเวลาใหม่ได้ไหม?" นั่นคือการฟังอย่างเข้าใจและจับใจความได้ถูกจุด
2. สงบใจให้ได้ (Quieting)
คือการรู้จัก "เว้นวรรค" ให้บทสนทนามีช่วงพักบ้าง ไม่พูดแทรกตลอดเวลา และรู้จักควบคุมความคิดหรืออารมณ์ของตัวเอง เพื่อให้สามารถตั้งใจฟังได้เต็มที่
ตัวอย่าง: ระหว่างที่เพื่อนกำลังระบายเรื่องผิดหวังจากงาน
❌ อย่าเพิ่งรีบพูดปลอบหรือแก้ปัญหา
✅ แต่ให้เงียบ ฟังจนเขาพูดจบ แล้วค่อยตอบกลับด้วยความเข้าใจ "ฟังแล้วรู้เลยว่าเธอเจ็บกับเรื่องนี้จริง ๆ"
บางครั้งความเงียบเล็ก ๆ มีพลังมากกว่าคำพูดรีบเร่ง
3. เปิดใจให้กว้าง (Accepting)
เป็นเรื่องที่บางคนอาจทำได้ยาก เพราะต้องยอมรับว่าคนอื่นมีสิทธิ์คิดต่างจากเราได้ และเราควรฟังอย่างเปิดใจ โดยไม่รีบตัดสินหรือปฏิเสธความคิดเขา
ตัวอย่าง: น้องในทีมเสนอไอเดียที่ต่างจากสิ่งที่คุณคิดไว้
❌ อย่าพูดทันทีว่า “มันคงไม่ได้หรอก”
✅ แต่ลองฟังให้จบแล้วพูดว่า "โอเค ไอเดียน่าสนใจนะ เล่าต่อได้มั้ยว่าเราจะเริ่มจากตรงไหนกันดี"
นั่นคือการฟังโดยไม่ตัดสิน และเปิดพื้นที่ให้เขาได้แสดงความคิดเต็มที่
4. รับรู้และให้ค่า (Acknowledging)
คือการแสดงออกอย่างชัดเจนว่า เราเห็นความพยายาม มุมมอง หรือคุณค่าของคนที่กำลังพูดอยู่ สิ่งนี้จะทำให้เขารู้สึกว่า “เราเข้าใจ” และ “เราเห็นเขา”
ตัวอย่างเช่น: เพื่อนร่วมทีมทำงานหนักอยู่เบื้องหลังหลายวัน
❌ แทนที่จะเฉย ๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
✅ ให้พูดว่า "เห็นนะว่าช่วงนี้แกทุ่มสุดตัวกับโปรเจกต์ ขอบใจมากจริง ๆ"
เพียงประโยคเดียวก็ช่วยให้คนรู้สึกมีคุณค่าและอยากทำต่อ
5. ถามให้คิด (Questioning)
คือการตั้งคำถามที่ทำให้เขาคิดลึกขึ้น หรือเปิดมุมมองใหม่ ๆ คำถามแบบนี้จะแสดงให้เห็นว่า เราสนใจเขาจริง ๆ และอยากฟังมากกว่านี้
ตัวอย่างเช่น เมื่อเพื่อนบอกว่าอยากลาออกเพราะรู้สึกไม่โตในที่เดิม
❌ อย่าถามแค่ว่า “จะไปทำอะไรต่อ?”
✅ ลองถามว่า "ถ้าได้ทำงานที่รู้สึกว่าโตขึ้นจริง ๆ ในมุมของเธอมันเป็นแบบไหน?"
คำถามแบบนี้เปิดพื้นที่ให้เขาคิดเอง และคุณก็ได้ฟังความคิดลึก ๆ ของเขาจริง ๆ
6. แทรกแบบมีกาลเทศะ (Interjecting)
อาจดูเหมือนขัดจังหวะ แต่ถ้าใช้ให้ถูกวิธี มันคือการแสดงความสนใจอย่างเต็มที่ เช่น พูดว่า “จริงเหรอ!, เฮ้ยใช่เลย, เห็นภาพเลย เป็นต้น เพื่อเพิ่มพลังให้บทสนทนา และทำให้เขารู้ว่าเราฟังอยู่จริง ๆ
ตัวอย่าง: เพื่อนเล่าว่าฝันอยากเปิดร้านเล็ก ๆ ของตัวเอง
❌ แทนที่จะนั่งนิ่ง ๆ
✅ ลองพูดว่า "เฮ้ย ดีอะ! เห็นภาพเลยว่ามันจะน่ารักแค่ไหน!"
การแทรกแบบนี้จะทำให้บทสนทนามีพลัง และเขารู้ว่าคุณ “อยู่กับเขา” ตลอดการเล่าเรื่อง
เรียบเรียง: กิตติภพ ปานล้ำเลิศ
ที่มา
- 6 signs you might be a bad listener and what to do instead
- Radical Listening: The Art of True Connection