เมื่อเราตัดสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ออกไปจนหมด
แม้ว่าสิ่งที่เหลืออยู่จะไม่น่าเป็นไปได้แค่ไหน
แต่ยังไงซะ มันก็คือความจริง
หนึ่งในประโยคสุดคลาสสิกของยอดนักสืบแห่งโลกวรรณกรรม ที่มีผู้คนหลงรักทั่วโลก อย่าง เชอร์ล็อก โฮมส์ (Sherlock Holmes) ชายผู้เป็นที่รู้จักในด้านความคิดที่เฉียบแหลม และสายตาที่กระตือรือร้นในการเก็บรายละเอียด ซึ่งความฉลาดเป็นกรด รวมถึงเทคนิคการจดจำ ปะติดปะต่อเรื่องราวนี่แหละ ที่ทำให้เขาสามารถไขได้ แม้แต่คดีที่ซับซ้อนที่สุด
กุญแจสำคัญอย่างหนึ่งในการคิดของเชอร์ล็อก โฮมส์ คือความสามารถในการมองเห็นโลกจากมุมมองที่แตกต่าง เพราะเขาไม่กลัวที่จะคิดนอกกรอบ ซึ่งมันทำให้โฮมส์สามารถแก้ปัญหาใหม่ ๆ ได้เสมอ เทคนิคการคิดของเขา นับเป็นบทเรียนอันมีค่า ฉะนั้นวันนี้ เราพาทุกคนมาเจาะลึก 6 เทคนิค พิชิตวิธีคิดในแบบนักสืบแห่งโลกวรรณกรรมกัน
1. ตั้งคำถาม ด้วยความเป็นกลาง
โฮมส์ไม่กลัวที่จะเผชิญหน้ากับคดี เขาบุกไปหาหลักฐานด้วยความกระหายใคร่รู้ โดยทุกครั้ง เขาจะตั้งสมมติฐานที่เป็นกลาง เพื่อให้เข้าใกล้ความจริงมากที่สุด ซึ่งการฝึกตั้งคำถามกับสิ่งต่าง ๆ จะช่วยให้เราป้องกันอคติที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวได้
2. พิชิตทิฐิด้วยหลักฐาน
เมื่อตัดสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ สิ่งที่เหลืออยู่ก็คือความจริง อย่างหนึ่งที่น่าชื่นชมคือโฮมส์เป็นคนที่พิชิตคนร้ายด้วยหลักฐาน เพราะหากไม่มีหลักฐาน เขาอาจจับคนร้ายผิดตัวได้
แม้ว่าโฮมส์จะเป็นคนที่มีทิฐิสูง แต่เขาก็เป็นหนึ่งในคนที่จะไม่เชื่ออะไรจนกว่าจะเจอหลักฐาน ซึ่งการมีอคติในใจ อาจทำให้เราไขว้เขวในการตัดสินใจได้ ฉะนั้นแล้วเราควรจัดระบบความคิดใหม่ ด้วยการไม่ตัดสินใจใคร จนกว่าจะเจอหลักฐาน ซึ่งวิธีคิดแบบนี้แหละ จะทำให้เราสามารถวางตัวแบบเป็นกลางได้ ในสถานการณ์การตัดสินใจที่ยากลำบาก
3. สังเกตคู่สนทนา เพิ่มความประทับใจ
ลักษณะเฉพาะประการหนึ่งของโฮล์มส์คือความสามารถในการสังเกต ด้วยความแม่นยำสูงสุด เขาทำการบ้านทุกครั้งเวลาไปพบใคร เขาจะสืบดูอย่างละเอียดถึงนิสัยใจคอ ตั้งแต่ก่อนพบกัน รวมถึงสังเกตกิริยา ท่าทางตั้งแต่ครั้งแรกที่เจอคู่สนทนาเหล่านั้น นั่นทำให้โฮมส์เป็นนักสังเกตเห็นรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คนธรรมดาทั่วไปไม่มีใครมอง
ประโยคหนึ่งที่บอกตัวตนของโฮมส์ได้ดี คือคำที่มักจะพูดกับวัตสันเพื่อนของเขา “คุณก็เห็น แต่คุณไม่สังเกตเอง”
โฮมส์ทำอย่างนี้ได้ยังไง? เพราะเขาใช้ประสาทสัมผัสทั้งหมดของเขา ไม่เพียงแต่มองเห็นเท่านั้น แต่โฮมส์ยังดมกลิ่น ได้ยิน และแม้แต่ลิ้มรสสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้ได้ภาพที่ชัดเจนที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
บ่อยครั้งที่เราหลายคนมักจะละเลยการสังเกต เมื่อต้องพบใครตั้งแต่แรก ซึ่งถ้าเราหัดทำการบ้านไปก่อน สังเกตการกระทำของคู่สนทนา จะทำให้เราสร้างความประทับใจให้คู่สนทนาได้ตั้งแต่แรกพบ
4. ปลูกฝังมุมมองด้วยการก้าวถอยหลัง
เมื่อเราอยู่รอบอะไร เราจะมีแต่สิ่งนั้นอยู่ในหัว ดังนั้น การที่เราจะพัฒนาวิธีคิดได้ เราต้องถอยออกมาจากมุมเดิม ๆ ซึ่งเรามักจะเห็นโฮมส์แสดงอาการที่ไม่อยู่นิ่ง อาทิเช่น เล่นไวโอลิน พูดเรื่องไร้สาระ ออกไปเดินเล่น งีบหลับ หรือทำอะไรวุ่นวายที่ไม่เกี่ยวกับคดีตรงหน้า ใช่แล้วนั่นคือการที่เขาพยายามเอาตัวเองออกมาจากคดี ซึ่งการเอาตัวเองออกมาจากงานตรงหน้า จะทำให้สามารถเปิดมุมมองความคิดได้กว้างขึ้น และทำให้เราสามารถเข้าใจสถานการณ์ที่ซับซ้อนได้มากกว่าเดิม
5. พูดสิ่งที่อยู่ในหัวออกมาดัง ๆ
“นั่นไง ฉันว่าแล้ว” ประโยคที่โฮมส์มักจะตะโกนออกมา เมื่อไขคดีได้ หรือวัตสันช่วยจุดประกายความคิดอะไรขึ้นมา
ทำไมการพูดสิ่งที่อยู่ในหัวถึงเป็นวิธีคิดที่ดีได้? เพราะแม้นักสืบที่เก่งที่สุดในโลก ก็ยังต้องมีคู่หูยังไงล่ะ
เราจะสังเกตได้ว่า มีหลายคดีที่โฮมส์ฉุกคิดได้เพราะคำพูดรอบตัว นั่นทำให้เขาเป็นคนพูดสิ่งที่อยู่ในหัวออกมาทั้งหมด เพราะการฟังมุมมองจากคนนอก จะช่วยทำให้เราหยุดคิดชั่วขณะ และไตร่ตรองสิ่งที่ไม่เคยคิดถึงได้ ดังนั้นเมื่อเจอเรื่องที่น่าสนใจ แล้วคิดไม่ออก ลองบ่นกับคนรอบตัวดูสิ เพราะพูดอะไรบางอย่าง มันอาจนำไปสู่การทบทวนเหตุการณ์ จนเราได้ไอเดียที่จะแก้ไขปัญหานั้นได้
6. คิดย้อนกลับ ตัดตัวเลือก
เมื่อพยายามแก้ไขปัญหาหรือบรรลุเป้าหมาย พวกเราส่วนใหญ่มักจะคิดไปข้างหน้า เราเริ่มต้นด้วยแนวคิดที่คลุมเครือในใจ ซึ่งการใช้แนวทางนี้อาจทำให้เราหลงทางในความเป็นไปได้ และลืมทางเลือกต่าง ๆ ที่เคยคิดมา
ฉะนั้นเพื่อป้องกันความมั่นใจมากเกินไป ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการคิด เราจึงควรรู้จักจดข้อมูลสำคัญดังเช่นโฮมส์อยู่เสมอ เพราะการพยายามจดนั้นจะทำให้เราเห็นสิ่งที่มองข้ามไป และสามารถสืบย้อนต้นตอด้วยการคิดย้อนกลับได้
ในการคิดย้อนกลับ จะทำให้เราสามารถจัดการตัดสิ่งที่ไม่จำเป็น ซึ่งเป็นตัวปัญหาที่ทำให้เราไม่บรรลุเป้าหมาย หรือแก้ปัญหา ซึ่งวิธีปฏิบัตินี้ ช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด
แปล เรียบเรียง: พีรพล สดทรัพย์
ที่มา
- 8 Strategies for Thinking More Like Sherlock Holmes
- 5 Genius Tricks For Problem-Solving From the Famous Sherlock Holmes
- 7 Tips to Learn to Think Like Sherlock Holmes