7 วิธีรับมือกับความผิดพลาด ให้พาตัวเองกลับมาได้และไปต่อ

Last updated on เม.ย. 1, 2024

Posted on พ.ย. 29, 2021

บนโลกนี้ไม่มีใครที่ไม่เคยทำอะไรพลาด และความผิดพลาดก็ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายในระดับที่ทำให้โลกแตก บางครั้งแล้วความผิดพลาดยังเป็นสิ่งที่ทำให้เราเติบโตและเป็นคนที่ดีขึ้นได้ทั้งในเรื่องงานและต่อตัวเราเอง

เพียงแต่ว่าการเผชิญความผิดพลาด การยอมรับ แก้ไข และไปต่อให้ได้ อาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน วันนี้ CREATIVE TALK เลยมีคำแนะนำดีๆ ในเรื่องนี้มาแชร์กัน เผื่อใครจะลองนำไปปรับใช้เพื่อรับมือหรือแก้ไข ให้คุณพาตัวเองกลับมาตั้งหลักใหม่ได้พร้อมไปต่ออีกครั้ง 


7 วิธีที่จะช่วยให้เราแก้ไขข้อผิดพลาด และไม่ทำให้มันแย่ลง

1. อนุญาตให้ตัวเองรู้สึกแย่ได้

หลายคนอาจมองข้ามความสำคัญของข้อนี้ แต่ความจริงแล้วการอนุญาตให้ตัวเองได้รู้สึกแย่เป็นกลไกสำคัญของการยอมรับ มันเป็นเรื่องปกติมากที่เราจะรู้สึกอับอาย ผิดหวัง หรือกังวลกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือการยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วและปล่อยให้ตัวเองได้มีเวลาทำความเข้าใจกับความรู้สึกที่เผชิญ แต่ไม่ปล่อยให้จมอยู่นานจนเกินไป และสิ่งสำคัญคือการบอกตัวเองว่าความผิดพลาดครั้งนี้ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของทุกอย่าง


2. ระบุให้ได้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

กางปัญหาออกมาว่าความผิดพลาดคืออะไร , การกระทำไหนที่ทำให้เกิดความผิดพลาดนี้ แล้วสิ่งที่เป็นผลกระทบจากเหตุการณ์นี้คืออะไรบ้าง แล้วจริงๆ เราควรใช้วิธีไหนแทนสิ่งที่ทำไปแล้วบ้างหากย้อนกลับไปได้ และเราจะป้องกันเรื่องนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคตได้อย่างไร


3. มองปัญหาและความผิดพลาดที่เกิดขึ้นอย่างโปร่งใส

ผู้ที่แก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพจะให้คุณค่ากับการรับมือกับปัญหาอย่างโปร่งใส พวกเขาจะไม่ปล่อยให้สิ่งที่เป็นวาระซ่อนเร้นดำเนินต่อไปจนกลายเป็น toxic เพราะเมื่อไหร่ที่มองเห็นความผิดพลาดหรือปัญหา นักแก้ปัญหาที่ดีจะรับมือสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยการแชร์สิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงของปัญหากับเพื่อนร่วมงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง และทำให้ทุกอย่างชัดเจนขึ้น เมื่อมีบางสิ่งบางอย่างกำลังดำเนินไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้อง ปัญหาจะถูกระบุให้ชัดเจนพร้อมกับแก้ไขมัน

และบางครั้งถ้าเราได้กลับมามองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่จากมุมมองที่ปราศจากความลำเอียงหรืออคติ เราจะสามารถเห็นปัญหาและภาพรวมของมันได้ชัดเจนขึ้น


4. เสนอวิธีแก้ไขปัญหาที่ผ่านการวิเคราะห์มาแล้ว

หลังจากที่เข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เสนอข้อมูลที่เราสามารถหาได้จากการวิเคราะห์ปัญหา และสื่อสารกับคนในทีมหรือในองค์กรที่คุณคิดว่าพวกเขาสามารถช่วยได้ และมันคือโอกาสที่จะปรับปรุงแก้ไขในสิ่งที่เกิดขึ้น

การที่ทีมหรือองค์กรเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งปัญหาภายนอกและภายใน เรื่องไหนที่ควบคุมได้หรือควบคุมไม่ได้ จากนั้นจะเข้าสู่การเริ่มต้นรวบรวมข้อมูลและคำแนะนำที่เป็นประโยชน์จากผู้อื่น นำมาสู่วิธีการแก้ปัญหา และทำให้แน่ใจว่าใครก็ตามที่มีผลกระทบกับปัญหานี้ได้เข้าใจวิธีการแก้ไขที่ถูกต้องแล้วจริงๆ


5. แก้ไขข้อผิดพลาดนั้นหากคุณทำได้ พร้อมกับปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่

หากยังพอมีวิธีที่จะแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดนั้น ให้ลงมือทำทันที และถ้าความผิดพลาดนั้นกระทบกับเพื่อนร่วมงาน หรือบุคคลอื่นให้ขอโทษพวกเขาอย่างจริงใจ พร้อมกับปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน คุณอาจลองปรับเปลี่ยนวิธีหรือสไตล์การทำงานเสียใหม่ จนกว่าคุณจะพบว่ารูปแบบไหนที่ดีและเหมาะสมกับคุณหรือทีมที่สุด


6. สอบถามความเห็น หรือคำแนะนำจากคนในทีม

หากปัญหานั้นไม่ใช่ปัญหาที่คุณสามารถแก้ไขได้ลำพัง การสอบถามความเห็นจากคนในทีม หรือสอบถามจากใครก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ หรือผู้ที่สามารถให้ความเห็นที่จริงใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะมันจะให้มุมมองใหม่ๆ และคำแนะนำที่สำคัญต่อการฟื้นฟูข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น


7. เรียนรู้จากความผิดพลาด แล้วก้าวต่อไป

หากคุณทำเต็มที่แล้ว และทำดีที่สุดแล้วในการเยียวยาแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จนมั่นใจแล้วว่ามันจะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก ให้เก็บมันเป็นบทเรียน และขอคำปรึกษาจากผู้คนที่ไว้ใจ จากนั้นให้ปล่อยวาง และกลับมาสู่เส้นทางเดิมของการดำเนินชีวิตและการทำงาน

บางครั้งสถานการณ์เช่นนี้อาจทำให้ความมั่นใจของเราสั่นคลอนไปบ้างไม่มากก็น้อย ถ้าคุณรู้สึกไม่มั่นคงหรือกลกังวลที่จะก้าวต่อไปข้างหน้า จงอย่าปล่อยให้ตัวเองล้มลงไปอีกครั้ง และอย่าปล่อยให้ความกลัวและความสงสัยในตัวเองรั้งคุณไว้ข้างหลัง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นได้จบลงแล้ว 


ยิ่งคุณฟื้นตัวกลับมาได้เร็วเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งนำบทเรียนอันมีค่ากลับมาปรับใช้กับงานหรือสิ่งที่ทำอยู่ได้เร็วเท่านั้น

trending trending sports recipe

Share on

Tags