‘ดังจนเจ๊ง’ กรณีศึกษาร้าน Ample Hills ธุรกิจไอศกรีมที่เคยละลาย

Last updated on ม.ค. 26, 2024

Posted on ม.ค. 22, 2024

สามี-ภรรยาคู่หนึ่ง เริ่มต้นปั้นแบรนด์ไอศกรีมรถเข็น จนกลายเป็นร้านขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าถึง 40 ล้านเหรียญ ร้านนี้เป็นขวัญใจของคนดังมากมายในอเมริกา แต่หลังจากสร้างแบรนด์มาได้ 10 ปี พวกเขากลับเจอวิกฤตที่ทำให้ล้มละลาย ก่อนที่ในอีก 1 ปีต่อมา พวกเขาจะเดินเกมใหม่ จนหาวิธีคืนชีพแบรนด์ได้อีกครั้ง

🍦 วันที่ไอศกรีมละลาย 🍦

มารู้จักเรื่องราวของร้านไอศกรีมแห่งนี้กันก่อนดีกว่า แบรนด์มีชื่อว่า Ample Hills Creamery ก่อตั้งโดยคู่สามี-ภรรยา ไบรอัน สมิธ (Brian Smith) และ แจ็กกี้ กุสคูน่า (Jackie Cuscuna) ร้านตั้งอยู่ ณ ย่านบรุกลิน ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งในปี 2011 Ample Hills เคยไปแตะจุดสูงสุดด้วยการทำรายได้ถึง 40 ล้านดอลลาร์ โดยมีร้านไอศกรีม 13 ร้านและร้านค้าออนไลน์ 1 แห่ง ที่สามารถเดลิเวอรีไอศกรีมไปทั่วประเทศ

ทว่าในอีก 8 ปีให้หลังจากวันนั้น ความสำเร็จก็มลายหายสิ้น เพราะในเดือนมีนาคม 2020 สมิธและกุสคูน่า ยื่นฟ้องล้มละลายธุรกิจ จนในเดือนมิถุนายน 2020 ในที่สุด Ample Hills Creamery ก็ถูกซื้อโดย Schmitt Industries บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักร ด้วยมูลค่าที่เหลือเพียง 1 ล้านเหรียญ

อะไรทำให้สามี-ภรรยาคู่หนึ่งตัดสินใจเปิดร้านไอศกรีม จนดังเป็นพลุแตก และทำมันละลายหายไปกับมือกันนะ


💕 ไอศกรีมที่เกิดจากความสุข 💕

ธุรกิจมักเกิดขึ้นจากความถนัดกับงานอดิเรกของผู้ก่อตั้ง ซึ่งไบรอัน สมิธ ก็เช่นกัน เขามีอาชีพหลักคือนักเขียนบท ทั้งยังเป็นผู้อำนวยการสร้าง และกำกับหนังสือเสียง ทว่าชายคนนี้กลับมีงานอดิเรกสุดสนุกคือการได้ทำไอศกรีมให้ครอบครัว และเพื่อน ๆ ทานในเวลาที่ไม่ได้ทำงาน

“แรงผลักดันที่แท้จริงเป็นเพียงความสุขที่เกิดขึ้น ในตอนที่เราทำไอศกรีม และแบ่งปันกับผู้คน” สมิธกล่าว

เมื่อกุสคูน่าเห็นแพสชันอันแรงกล้าของสามีในการทำไอศกรีม เธอจึงสนับสนุนให้สมิธทำร้าน Ample Hills Creamery ในปี 2010 ขึ้นมา โดยทั้งคู่เริ่มต้นธุรกิจจากร้านรถเข็นเล็ก ๆ ที่เต็มไปด้วยไอศกรีมรสชาติ และคุณภาพสูง ซึ่งโดยใจเด็กอายุ 7 ขวบ ที่อยู่ในร่างของผู้ใหญ่วัยเลขสี่มากมาย

สมิธกับกุสคูน่าสร้างไอศกรีมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นออกมามหาศาล นั่นทำให้สิ่งเหล่านี้จึงเปรียบเสมือนเครื่องหมายการค้าของพวกเขา ยกตัวอย่าง ไอศกรีมรส ‘God Save the Cream’ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากงานแต่งงานของเจ้าชายแฮร์รี่ และเมแกน มาร์เคิล โดยเป็นไอศกรีมที่ผสมผสานเค้กแต่งงานเอลเดอร์ฟลาวเวอร์ บัตเตอร์กรีมฟรอสติ้ง และไอศกรีมเลมอนขิง

เอกลักษณ์เหล่านี้ทำให้คำรีวิวกลายเป็นปากต่อปาก จนร้านเป็นที่รู้จักมากขึ้น มีคนดังมากมายแห่มาทาน ตั้งแต่ระดับผู้กำกับ สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) ไปจนถึงพิธีกรชื่อดังอย่างโอปราห์ วินฟรีย์ (Oprah Winfrey) ที่ต่างก็ชื่นชมไอศกรีมของ Ample Hills ไม่เพียงแค่นั้นเว็บไซต์อาหารชื่อดังอย่าง Food Network ยังเรียกไอศกรีมของพวกเขาว่า เป็นไอศกรีมอันดับ 1 ของอเมริกา

ชื่อเสียงเหล่านี้ มาถึงหูของ บ็อบ ไอเกอร์ (Bob Iger) ผู้เป็น CEO ของ Disney ซึ่งไอเกอร์ถึงกับเชิญพวกเขาให้ไปเปิดร้านที่ Walt Disney World ด้วย ทว่าความนิยมเหล่านี้ กลับเป็นจุดเริ่มต้นของหายนะ


💸 เมื่อความสุขแปรเปลี่ยนเป็นการค้า 💸

ความนิยมมากมาย ทำให้มีคนต้องการไอศกรีมมากขึ้น ซึ่งในปี 2014 สมิธและกุสคูน่า จึงต้องหาวิธีรับมือกับความต้องการที่มากล้นด้วยการสร้างโรงงานขึ้นมา

พวกเขาเพิ่มสาขาให้เพียงพอต่อความต้องการ ด้วยการเข้าไประดมเงินทุนหลายรอบ จนได้ทุนถึง 19 ล้านดอลลาร์ มาเปิดโรงงานขนาดใหญ่ กระทั่งในปี 2018 Ample Hills ก็มีร้านค้าถึง 13 สาขา ซึ่งตั้งอยู่ในหลายเมือง อาทินิวยอร์ก แคลิฟอร์เนีย ฟลอริดา และยังมียอดขายต่อปีถึง 10 ล้านเหรียญด้วยกัน

ว่ากันว่า สตาร์ทอัปมักตกเป็นเหยื่อของกับดักความสำเร็จ ซึ่ง Ample Hills ก็เป็นเช่นเดียวกับบริษัทเหล่านั้น

สมิธ และกุสคูน่ามีความสุขดี โดยไม่ได้ตระหนักถึงปัญหาที่มองไม่เห็น พวกเขาคิดว่าโรงงานใหญ่ของเขาจะผลิตไอศกรีมได้เพียงพอต่อความต้องการอยู่เสมอ ทว่าสิ่งที่พวกเขาไม่เคยรู้คือ ส่วนผสมในไอศกรีมของพวกเขาดันเข้าไปอุดตันในเครื่องจักร จนส่งผลให้ไอศกรีมออกมาน้อยบ้าง และออกมาเกินบ้าง ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์สูญเปล่ามากเกินไป

หากทั้งคู่อยากจะปรับปรุงเครื่องจักร ก็ต้องใช้เงินถึง 450,000 เหรียญ เพื่อสร้างเครื่องจักรมาใหม่

ทว่าในขณะนั้น ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินได้เดินมาหาสมิธกับกุสคูน่า บอกว่าองค์กรไม่น่าจะมีเงินทุนไม่เพียงพอที่จะผ่านฤดูหนาวปี 2019 ไปยัง 2020 ได้

“จังหวะนั้นเราเริ่มโทรหานักลงทุนทันที และพูดว่า 'เราต้องระดมเงินเพิ่ม' แต่คำตอบของพวกเขาคือ ไม่” สมิธกล่าว

การตัดสินใจทางธุรกิจที่มีค่าใช้จ่ายสูง และความผิดพลาดเชิงกลยุทธ์ทำให้ Ample Hills ประสบภาวะเลือดตกยางออก ถึงแม้ว่ายอดขายกับความนิยมจะเพิ่มขึ้นก็จริง แต่พวกเขาทั้งคู่ ก็ ‘สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง’ ไปด้วย

Ample Hills ประกาศล้มละลาย บริษัทมีมูลค่าเหลือ 1 ล้านเหรียญ และก็ได้มีบริษัท Schmitt Industries มาซื้อไว้ในช่วงเวลานี้


🍨 ติดความรู้ธุรกิจเพื่อพลิกชีวิต Ample Hills 🍨

หลังจากล้มละลาย สมิธกับกุสคูน่าใช้เวลาเพื่อเลียบาดแผลใจกันอยู่นาน แต่พวกเขาก็ไม่ยอมแพ้ กุสคูน่าได้เข้าเรียนหลักสูตรธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่ ที่นั่นเธอได้รับการแนะนำให้รู้จักกับที่ปรึกษาทางธุรกิจ ซึ่งท้ายที่สุดก็กลายเป็นนักลงทุนให้กับร้านไอศกรีมแห่งใหม่ของทั้งคู่

สมิธและกุสคูน่าตัดสินใจเปิดร้านไอศกรีมแห่งใหม่ในชื่อ ‘The Social’ โดยครั้งนี้ พวกเขาให้องค์กรนำทัพด้วยนักลงทุน ‘เพียงไม่กี่คน’ ที่มีความรู้ในด้านอาหาร และเน้นโฟกัสไปที่ความสามารถในการทำกำไร โดยให้นักลงทุนเหล่านั้นเป็นเจ้าของบริษัท 20% แบบไม่มีใครถือหุ้นใหญ่

สำหรับร้าน The Social สมิธกับกุสคูน่าได้สละบทบาท CEO ให้กับลิซ่า ทีช (Lisa Teach) ซึ่งเป็นสมาชิกของคณะกรรมการบริษัทที่มีพื้นฐานด้านการฝึกสอนธุรกิจ และการสอนผู้ประกอบการ ส่วนสมิธกับกุสคูน่าจะดูแลด้านการทำการตลาด และการครีเอทีฟ

ในเดือนธันวาคม ปี 2022 บริษัท Schmitt Industries ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ จนต้องลดต้นทุน นั่นทำให้พวกเขาจึงได้นำ Ample Hills ออกมาประมูล และในเวลานั้นเองก็มีกลุ่มคนที่ประมูลแบรนด์ไอศกรีมที่เจ๊งไปแล้ว ด้วยเงิน 150,000 เหรียญ ซึ่งคนที่ประมูลได้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คืออดีตเจ้าของอย่าง สมิธกับกุสคูน่า และหุ้นส่วนของพวกเขานั่นเอง


ปัจจุบันแบรนด์ Ample Hills และร้านค้าที่เหลือ กลับมาอยู่ภายใต้ความดูแลของสมิธกับกุสคูน่าอีกครั้ง ซึ่งบทเรียนครั้งนี้สอนให้เรารู้ว่า ถ้าหากไม่ถนัดอะไรก็จงถอยให้คนที่เก่งเข้ามาดูแล เพราะคงไม่ใช่ทุกคนที่จะโชคดี สามารถนำแบรนด์เดิมมาต่อลมหายใจได้เหมือนอย่างสามี-ภรรยาคู่นี้ ที่สามารถปั้นแบรนด์ใหม่ หลังจากล้มละลายได้อีกครั้ง


แปล เรียบเรียง: พีรพล สดทรัพย์

ที่มา

trending trending sports recipe

Share on

Tags