เมื่อปิดไฟ บางสิ่งในที่มืดก็จะปรากฏออกมา มันไม่ใช่ผีหรอกนะ แต่มันคือพลังครีเอทีฟที่ซ่อนอยู่ในตัวเรายังไงล่ะ 🌚
ไม่ว่าจะเป็นศิลปินผู้เก่งกาจ หรือนักคิด นักประดิษฐ์ก็ตาม เราจะพบว่าหลายครั้ง คนเหล่านี้มักจะพาตัวเองไปอยู่ในสถานที่มืดมิด เพื่อหาวิธีพิชิตไอเดียใหม่ ๆ ครั้งหนึ่งนักเขียนอย่างโทนี มอร์ริสัน (Toni Morrison) เคยกล่าวกับ The Paris Review ว่า การทำให้ช่วงเวลากลางคืน กลายเป็นกลางวัน พร้อมกาแฟ 1 แก้วนั้น ช่วยให้เธอสามารถสร้างเส้นทางเพื่อไปสู่ความครีเอทีฟได้
นอกจากนั้น หากใครเป็นคอซีรีส์แล้ว ก็น่าจะเคยผ่านตากับฉากหนึ่งในซีรีส์ Sherlock ที่นำแสดงโดย เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ (Benedict Cumberbatch) ซึ่งเราจะพบว่า เชอร์ล็อก โฮมส์นั้น มักจะหาวิธีแก้ปริศนาด้วยการเติมนิโคติน และปิดไฟในห้องให้มืดมิด
การปิดไฟในห้องเพื่อเพิ่มความครีเอทีฟ เป็นสิ่งที่สวนทางกับสิ่งที่เราเรียนรู้มาตลอด เพราะเรามักจะคิดว่าคนมักจะทำงานได้ดีในที่สว่าง ทว่าความจริงแล้วความมืดต่างหากที่กระตุ้นไอเดียได้
นักจิตวิทยาแอนนา สตีเดิล (Anna Steidel) และลิโอบา เวิร์ธ (Lioba Werth) ได้ทำการทดลองเรื่องแสงมีผลต่อความคิดสร้างสรรค์อย่างไร โดยตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Environmental Psychology ซึ่งพวกเขาพบว่า เมื่อไฟดับลง ✨ บางสิ่งในสมองก็จะถูกเปิดขึ้นทันที ✨
เห็นได้ชัดว่าความมืดกระตุ้นให้เกิดกระบวนการที่เชื่อมโยงกับความคิดสร้างสรรค์ และการประมวลผลทางปัญญาแบบเป็นลูกโซ่
งานวิจัยนี้ได้เปลี่ยนสิ่งที่คนมองเกี่ยวกับแสงสว่างไปในทิศทางใหม่ เพราะในอดีตสัญลักษณ์ของหลอดไฟ มักจะเป็นตัวแทนของการคิดไอเดียได้ ทว่าสตีเดิลกับเวิร์ธ กลับพบว่าความมืดนั้นช่วยกระตุ้นไอเดียได้มากกว่า
ในตอนที่เริ่มการวิจัยช่วงแรก เหล่านักวิจัยได้ทดสอบเรื่องความคิดสร้างสรรค์ พวกเขาให้ผู้เข้าวิจัยใช้เวลา 5 นาทีในการวาดภาพมนุษย์ต่างดาวจากกาแลคซีอื่น โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่อยู่ในสถานที่สว่าง และสถานที่มืด ซึ่งนักวิจัยพบว่าคนที่อยู่ในที่มืดนั้น จะมีพลังการจินตนาการมากกว่าคนที่อยู่ตามแสงสว่าง อาทิ เอเลี่ยนที่มีดวงตาจากรังสีเอกซ์ หรือเอเลี่ยนที่มีขาเชื่อมต่อกับหัว ซึ่งทำให้เห็นว่านักวิจัยพบว่าคนที่อยู่ในที่มืดจะมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่า
แน่นอนว่าแค่นั้นมันอาจจะยังไม่ชัดพอ ดังนั้นในการทดลองต่อมา สตีเดิลกับเวิร์ธจึงได้ทดลองกับคน 114 คน โดยแบ่งการทดลองออกเป็น 3 กลุ่ม ซึ่งมีสภาพแสงไฟที่ต่างกัน 3 แบบ นั่นคือ
➡️ กลุ่มที่ 1 มีไฟสว่าง 1,500 ลักซ์ โดยเป็นแสงสว่างคล้ายกับในสตูดิโอ
➡️ กลุ่มที่ 2 มีไฟสว่าง 500 ลักซ์ ซึ่งเป็นแสงมาตรฐานในสถานที่ทำงาน
➡️ และกลุ่มที่ 3 มีไฟสว่างเพียง 150 ลักซ์ เป็นแสงสลัวคล้ายกับวันที่มีเมฆมาก
สตีเดิลกับเวิร์ธให้ผู้ร่วมทดลองทั้งหมดร่วมตอบปัญหาเชาว์ 4 ข้อด้วยกัน โดยนักวิจัยพบว่า คนที่ทำงานในแสงสลัว สามารถแก้ปัญหาได้ดีกว่าห้องที่มีแสงสว่างไสวอย่างเห็นได้ชัด
⚡ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ⚡
ความลับของการทดลองนี้ สตีเดิลกับเวิร์ธตั้งสมมติฐานว่า แสงสลัวสามารถสร้าง ‘ข้อความภาพ’ ที่สามารถกระตุ้นจิตใจของเรา ให้เข้าสู่สภาวะการออกสำรวจได้ ซึ่งแนวคิดนี้คือการที่เมื่อเราเห็นความมืดตรงหน้า เราจะพบว่า อิสรภาพจะไม่ถูกจำกัดอีกต่อไป นั่นจึงทำให้เราสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้มากขึ้น
คล้ายคลึงกับการที่บางคนเห็นที่มืดแล้วจินตนาการต่าง ๆ นานา ทว่าบางคนก็รู้สึกว่าความมืดทำให้สมองผ่อนคลาย ปราศจากข้อจำกัด ซึ่งสตีเดิลกับเวิร์ธพบว่าผู้ทดลองจะรู้สึกว่าตัวเองสามารถใช้ความสมองได้เต็มที่ ในที่มีแสงสลัว
ในขณะที่ความครีเอทีฟสามารถฟุ้งได้ดีในที่มืด ทว่าการใช้เหตุผลอย่างรอบคอบก็จะเกิดขึ้นในที่ที่มีแสงสว่าง นั่นจึงทำให้คนที่คิดงานในห้องสว่างจึงมักจะมีกำแพงความคิดที่กั้นไว้
ในความมืดมิด เราจะพบว่าความสับสนวุ่นวายที่ล้อมรอบเรา ทำให้เราโฟกัสที่สิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้ดี ช่วยให้เราสามารถตัดสินใจได้เฉียบแหลม เพิ่มความคิดสร้างสรรค์ และปลดปล่อยความกล้าในตัวเอง ฉะนั้นแล้วในอีกมุมหนึ่ง ไนต์คลับจึงเป็นสถานที่ที่คนทำได้เกือบทุกอย่าง ตั้งแต่ร้องไห้ เต้นลืมตาย ไปจนถึงเกี้ยวพาราสีกัน
ความมืดนั้นช่วยให้คนกล้าทำหลายสิ่ง นี่จึงเป็นเหตุให้ใครหลายคนชอบปิดไฟให้มืด เพื่อเพิ่มสมาธิ และความคิด ดังนั้นแล้วอย่าแปลกใจเลยว่าทำไมห้องใบเล็ก ๆ ถึงทำให้เด็กคนหนึ่งสามารถคิดธุรกิจง่าย ๆ ได้ด้วยการพูดเพียงว่า “ในนี้มืดจังเลยฮะ”
แปล เรียบเรียง: พีรพล สดทรัพย์
ที่มา
- Why Creativity Thrives In The Dark
- Why does Creativity Thrive in the Dark
- Darkness Boosts Creativity and Objectivity, Making Us Think Better