ว่าแต่คุณผู้อ่านเคยเล่นทามาก็อตจิกันบ้างไหม?
ทามาก็อตจิเป็นเกมยุค 90 ที่ให้เราสามารถเลี้ยงสัตว์เสมือนจริงได้ โดยผู้เล่นสามารถให้อาหาร อาบน้ำ จนถึงพาสัตว์เลี้ยงไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งเจ้าทามาก็อตจิในขณะนั้น มักจะได้รับความนิยมจากเด็กผู้หญิงซะเป็นส่วนใหญ่ นั่นทำให้บริษัท Bandai ผู้ผลิตของเล่น จึงตั้งมั่นไว้ว่าจะผลิตทามาก็อตจิสำหรับผู้ชายออกมา
ในปี 1997 บริษัท Bandai ได้ออกทามาก็อตจิสำหรับเด็กผู้ชาย มันถูกเรียกว่า Digital Monster หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Digimon โดยเจ้า Digimon สามารถทำได้ทุกอย่างในแบบที่ทามาก็อตจิทำได้ ฉะนั้นเมื่อมันถูกทำขึ้นมาสำหรับเด็กผู้ชาย ทำให้ตัวเครื่อง Digimon มีรูปลักษณ์ที่มีสไตล์ ซึ่งต่างจากอะไรที่เรียบง่ายอย่างทามาก็อตจิ และที่สำคัญ Digimon นั้นสามารถนำสัตว์เลี้ยงมาต่อสู้กัน เพื่อตอบสนองนิสัยชอบการแข่งขันของเด็กผู้ชายได้ด้วย
🔥 จากทามาก็อตจิอัปเกรด สู่อนิเมะครองใจเด็กไทย
ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา Digital Monster ถูกสร้างโดยคน 3 คนก็คือ มาโคโตะ คิตางะวะระ (Makoto Kitagawara), เคนจิ วาตานานาเบะ (Kenji Watanabe) และ อายุมุ โฮริมุระ (Ayumu Horimura) โดยวาตานานาเบะ ได้รับคำสั่งจากบริษัท Bandai ให้มาสานต่อความสำเร็จของทามาก็อตจิด้วยการหาไอเดียทำทามาก็อตจิรุ่นสอง ทว่าคิตางะวะระนั้นเคยทำเกมให้กับ WiZ มาก่อน แล้วเขาพบว่ามันมีวิธีที่จะทำให้เกมเลี้ยงมอนสเตอร์นี้สามารถสนุกได้มากขึ้น นั่นทำให้พวกเขาเริ่มพูดคุยถึงการสร้างทามาก็อตจิสำหรับเด็กผู้ชายขึ้นมา
ตอนแรกชื่อของเล่นชนิดใหม่นี้จะชื่อ Otokotchi และต่อมาเปลี่ยนเป็น Capsule Zaurus เพื่อความเป็นสากล แต่พวกเขากลัวว่าชื่อนี้จะไปซ้ำกับของเล่นในบริษัทอื่น ทำให้ทีมจึงต้องปรับชื่อเป็น Digital Monster ในที่สุด โดยวาตานาเบะเป็นคนออกแบบสัตว์ประหลาดให้กับ Digital Monster ซึ่งได้รับอิทธิพลจากการ์ตูนอเมริกัน เช่น Spawn และงานภาพของศิลปินคนอื่น ๆ อย่าง ไซมอน บิสลีย์ (Simon Bisley) และ ไมค์ มิกโนลา (Mike Mignola) โดยมอนสเตอร์สองตัวแรกที่เขาออกแบบมาก็คือ Tyranomon และ Agumon นั่นเอง
เครื่องเกม Digital Monster ตัวดั้งเดิมที่เปิดตัวในปี 1997 สามารถทำยอดขายถึง 14 ล้านเครื่องทั่วโลก ซึ่งเป็นยอด 13 ล้านเครื่องในญี่ปุ่นและ 1 ล้านเครื่องในต่างประเทศ นี่เป็นสิ่งที่บอกว่ามันฮิตในญี่ปุ่นขนาดไหน และภายในปี 2005 นั้น Digital Monster ก็มียอดขายมากกว่า 24 ล้านเครื่องทั่วโลก เรียกได้ว่า Digimon รุ่นแรกประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นเลยทีเดียว
แฟรนไชส์ Digimon ได้รับการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา และมีการเพิ่มเทคโนโลยีมาใส่ทำให้เครื่องเล่นนั้นโดดเด่น จากการเปลี่ยนจากสัตว์เลี้ยงเสมือนจริงไปเป็นวิดีโอเกม และมีการดัดแปลงสู่แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่กว้างขวาง ทำให้ Digimon ยังคงไม่หายไปไหน เพราะแบรนด์พยายามใช้สื่อใหม่ ๆ มาเชื่อมต่อกับผู้คนอยู่เสมอ
ในการดัดแปลงครั้งแรก พวกเขานำ Digimon มาดัดแปลงเป็นซีรีส์อนิเมะชื่อว่า Digimon Adventure ในปี 1999 แม้ว่าตอนแรกบริษัทแค่ต้องการสร้างการ์ตูนเพื่อขายสินค้า แต่อนิเมะ Digimon Adventure กลับทำได้ดีกว่านั้น เพราะการ์ตูนเรื่องนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญให้กับแฟรนไชส์ แม้ว่าจะมีพลอตง่าย ๆ ที่เล่าถึงเด็ก ๆ ผู้ถูกเลือก ที่ร่วมเดินทางไปกับผองเพื่อนมอนสเตอร์ แต่สิ่งนี้กลับโดนใจผู้ชมเป็นอย่างมาก และทำให้เครื่อง Digimon ทำรายได้หลักล้าน รวมทั้งเป็นฐานที่ทำให้ Digimon ได้วางแผนการตลาดด้วยการนำอนิเมะมาช่วยส่งเสริมการขาย
ความสำเร็จของ Digimon Adventure เรียกได้ว่าฟีเวอร์มาถึงประเทศไทย เพราะในเวลานั้น อนิเมะเรื่องนี้ เป็นที่กล่าวขานทั่วประเทศ ถึงขนาดมีการนำเพลงประกอบของ Digimon มาแปลเป็นภาษษไทย และลงอัลบั้มขาย ซึ่งมีเพลงที่ติดหูอย่าง ปีกรัก และออกอาวุธ ซึ่งหากใครยังจำกันได้ ความโด่งดังของ Digimon ถึงขนาดที่ว่าสามารถนำเพลงไทย มาจัดคอนเสิร์ตที่ร้องเพลงจากการ์ตูน Digimon เลยทีเดียว
🔥 ฟุตฟิต (ฟุตปริ๊นต์) ที่นำไปสู่อนาคต
อย่างไรก็ตาม นอกจากญี่ปุ่นแล้ว ผลตอบรับของ Digimon ทั่วโลกนั้นถือว่าน้อยมาก เพราะแม้ว่าของเล่น Digimon จะทำรายได้ดี แต่ก็ขายได้แค่ที่ญี่ปุ่น นอกจากนั้นในฝั่งการ์ตูนที่เป็นกระแส ก็แทบไม่มีภาคไหนที่เป็นตำนานเท่ากับ Digimon Adventure ภาคแรก ดังที่เห็นว่าหลังจากปี 2002 แอนิเมชันของดิจิมอน แทบไม่เคยได้ฉายในฝั่งตะวันตกเลย หรือแม้ได้ฉายก็ได้ฉายน้อยมาก ต่างกับแฟรนไชส์อื่น ๆ ที่ยังคงหาดูได้จนปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการตอบรับในปีหลัง ๆ ของทั้งเครื่องเกม และแอนิเมชันจะน้อยลงไปทุกที แต่สิ่งที่ทำให้ Digimon ยังคงอยู่ได้จนทุกวันนี้คือการสร้างความหลงใหลให้กับแฟน ๆ หน้าใหม่ พร้อมทั้งใช้การตลาดแห่งความคิดถึงเพื่อตรึงแฟนรุ่นเก่าไว้ เพราะชื่อเสียงของแฟรนไชส์สามารถเชื่อมโยงอารมณ์กับแฟน ๆ ได้อย่างอยู่หมัด แล้ว Digimon ทำได้ยังไงนะ?
ถึง Digimon จะทำเครื่องเล่นออกมาอยู่ตลอด แต่พวกเขาก็ไม่ปล่อยให้แฟรนไชส์ยังหยุดอยู่แบบเดิม พวกเขามีการปรับเปลี่ยนตัวเอง อัปเดตของเล่นไปสู่รูปแบบอื่น ๆ เพื่อเปิดรับแฟน ๆ กลุ่มใหม่ ในขณะเดียวกัน ในฝั่งของแอนิเมชันก็ยังมีการต่อยอดเนื้อหาจากภาคที่ประสบความสำเร็จอย่าง Digimon Adventure ออกมาเป็นระยะ ซึ่งแอนิเมชันนี้ทำให้แฟนคลับรุ่นเก่า ยังรู้สึกคอนเนกต์กับดิจิมอนได้อย่างไม่ไปไหน โดยแม้ว่าจะผ่านมานานประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ให้การตอบรับกับแฟรนไชส์นี้อย่างดี ดังที่เห็นว่าภาพยนตร์ Digimon Adventure : Last Evolution ที่ฉายในปี 2020 (โดยเป็นภาคต่อจากแอนิเมชัน Digimon Adventure) สามารถทำรายได้ถึง 100 ล้านบาท แม้จะอยู่ในช่วงโควิด-19 ก็ตาม นั่นทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์อย่างบริษัท Toei Company ได้เล็งเห็นว่าประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ให้แรงสนับสนุนกับแฟรนไชส์ Digimon เป็นอย่างดี
บริษัท CARTOONCLUB เจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ Digimon Adventure : Last Evolution ได้กล่าวว่า จากความสำเร็จของภาพยนตร์ดังกล่าว ทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของตลาด Digimon ในญี่ปุ่น ถึงขนาดภาพยนตร์ที่เป็นภาคต่ออย่าง Digimon Adventure 02: The Beginning ซึ่งกำลังจะฉายในเดือนตุลาคมนี้ ประเทศไทยถูกคาดหวังรายได้จากญี่ปุ่นไว้สูงมาก เพราะไทยเป็นไม่กี่ประเทศที่จะได้ฉายภาพยนตร์ Digimon Adventure 02: The Beginning พร้อมญี่ปุ่น (ขณะที่ประเทศอื่นต้องรอกันเป็นเดือน ๆ) ความสำเร็จเหล่านี้บ่งบอกว่าแฟน ๆ รุ่นเก่ายังคงให้การสนับสนุน และต่อลมหายใจให้กับแบรนด์ตราบเท่าที่แบรนด์ยังคงทำให้พวกเขารู้สึกเหมือนได้กลับเป็นเด็กอีกครั้ง
บริษัท CARTOONCLUB เจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ Digimon Adventure : Last Evolution ได้กล่าวว่า จากความสำเร็จของภาพยนตร์ดังกล่าว ทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของตลาด Digimon ในญี่ปุ่น ถึงขนาดภาพยนตร์ที่เป็นภาคต่ออย่าง Digimon Adventure 02: The Beginning ซึ่งกำลังจะฉายในเดือนตุลาคมนี้ ประเทศไทยถูกคาดหวังรายได้จากญี่ปุ่นไว้สูงมาก เพราะไทยเป็นไม่กี่ประเทศที่จะได้ฉายภาพยนตร์ Digimon Adventure 02: The Beginning พร้อมญี่ปุ่น (ขณะที่ประเทศอื่นต้องรอกันเป็นเดือน ๆ) ความสำเร็จเหล่านี้บ่งบอกว่าแฟน ๆ รุ่นเก่ายังคงให้การสนับสนุน และต่อลมหายใจให้กับแบรนด์ตราบเท่าที่แบรนด์ยังคงทำให้พวกเขารู้สึกเหมือนได้กลับเป็นเด็กอีกครั้ง
ที่มา
- Digimon
- Digimon Virtual Pet
- 10 Ways The Digimon Franchise Is Being Revitalized In 2022
- Highlight Cartoon Club EP. 73 | LIVE! Digimon Adventure 02 THE BEGINNING
- Digimon Fans Still Exist—and They’re the Keepers of Its Future