ชีวิตนั้นก็เปรียบเสมือนการเดินทาง แต่บางครั้งคำเปรียบเปรยที่เหมาะสมกว่าก็คือ ‘การโต้คลื่น’ เพราะในทุกช่วงชีวิต เราจะไม่ได้เพียงแค่เดินทางอย่างเดียว แต่เรายังต้องเจอมรสุมคลื่นยักษ์ที่พร้อมจะซัดเราตลอดทุกช่วงของการเติบโต
ที่งาน “Mission To The Moon Forum 2024 : Work-Life Survival Guide คู่มือเอาชีวิตรอดสำหรับคนสู้งาน” ในเซสชัน ‘Work-Life Survival Guide เปิดคู่มือคนสู้งาน ให้ผ่านทุกด่านยากของชีวิต’
คุณรวิศ หาญอุตสาหะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Srichand & Mission To The Moon Media ก็ได้ออกมาเผยถึง 5 ด่านชีวิต ที่จะเป็นคู่มือฉบับใหม่สำหรับคนสู้งาน ซึ่งช่วยให้เราสามารถยกระดับทุกมิติของชีวิต และสามารถรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนของโลกใบนี้ได้
ด่านที่ 1: การงาน
คลื่นลูกแรกที่หลายคนเผชิญในชีวิตคือเรื่องงาน เพราะนับตั้งแต่วินาทีที่เราก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน เราต้องเผชิญกับความท้าทาย และความรับผิดชอบที่ต้องเติบโตมากขึ้น
งานคือสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงในช่วงหลังมี 2 ปัจจัยที่ทำให้มนุษย์งานกังวลคือ
👉 คน: หนึ่งในสิ่งที่ยากที่สุด และเราไม่สามารถควบคุมได้ ถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องงาน เราควรต้องโฟกัสเรื่องจัดการคนให้ได้ก่อน ซึ่งไม่เพียงแค่จัดการคนอื่น แต่ยังรวมถึงตัวเองด้วย
👉 AI: ตั้งแต่ AI เข้ามา สิ่งหนึ่งที่เราพบคือ คนทำงานกว่าครึ่งรู้สึกว่า AI จะมีผลกระทบกับงานของตนอย่างแน่นอน และภาพนี้มันชัดขึ้นเมื่อ Big Tech นั้นเลย์ออฟคนออกทั้งที่ไม่ได้มีปัญหาเศรษฐกิจ เพราะพวกเขาต้องการนำ AI เข้ามาทดแทนพนักงาน
หากนับตามต่างชาติ นี่ก็นับเป็นครั้งที่ 6 ของการปฏิวัติอุตสาหกรรม และทุกครั้งที่มีการปฏิวัติ มันจะทำให้บางสิ่ง บางอย่างราคาถูกมาก ๆ จนทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงสิ่งนั้นได้หมด และมันจะเปลี่ยนวิธีการทำงานไปตลอดกาล
สิ่งที่เราต้องตระหนักคือยุคนี้เทคโนโลยีฉลาดกว่าเรา ดังนั้นแล้วเราควรนำ AI มาใช้จัดการงานจุกจิกที่มี Value น้อย เพื่อที่จะได้เอาเวลาที่เหลือไปทำงานที่มี Value มากขึ้น
ด่านที่ 2: การเงิน
การศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างความสุข และรายได้เผยว่า
👉 เมื่อเรามีเงินถึงจุดหนึ่ง เงินจะแทบไม่ส่งผลต่อความสุขของเรา
👉 ความสุขของเราสามารถเพิ่มขึ้นได้เรื่อย ๆ ถ้าเรารวยขึ้น
เราจะพบว่าเงินคือสิ่งที่เกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับทุกขั้นตอนของชีวิต เพราะมันคือด่านที่คนให้ความสำคัญมาก เงินมาพร้อม Power เสมอ ยิ่งเรามีมากพอ เราก็สามารถขยับตาช่างแห่งความยุติธรรมได้
🎯 4 Currency ที่ควรต้องสะสมไว้ในชีวิต 🎯
👉 เงิน: ช่วยให้เราสามารถหาเม็ดเงิน และสิ่งต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต
👉 ประสบการณ์: แม้ไม่ได้เงิน แต่การลงมือทำ ทำให้เราได้รับประสบการณ์จริง
👉 ความทรงจำ: หลายครั้งโมเมนต์อันมีคุณค่าก็เกิดเพียงครั้งเดียวในชีวิต
👉 คำขอบคุณ: คำขอบคุณ จะทำให้เรามี Network มากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้คือสิ่งที่คุณรวิศให้ความสำคัญมาก เพราะทุกครั้งที่เขาท้อ เขาจะนึกถึงคำขอบคุณที่มีคนเคยบอกเขาว่า การฟังพอดแคสต์คุณรวิศ ช่วยให้เขาไม่ตัดสินใจจบชีวิตตน และมีคนมากล่าวคำขอบคุณกับคุณรวิศแบบนี้แล้วกว่า 13 ครั้ง
ด่านที่ 3: ความสัมพันธ์
🎯 ผลวิจัยเผยว่าคนกว่า 75% เสียใจเพราะทำงานมากเกินไปจนมีปัญหาความสัมพันธ์ 🎯
ในฐานะสิ่งมีชีวิตทางสังคม ชีวิตของมนุษย์มักจะเต็มไปด้วยความสัมพันธ์ที่เราปลูกฝังกับผู้อื่น แต่หลายคนเสียใจเพราะว่าไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในช่วงเวลานั้นได้
👉 บางคนทะเลาะกับพี่สาว และพี่สาวก็เสียไปก่อน จนจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าทะเลาะกันเรื่องอะไร
👉 บางคน รู้สึกเสียใจภายหลังเพราะว่าโทรหาแม่น้อยไป กว่าจะคิดได้ก็สาย
ด่านที่ 4: สังคม
นอกเหนือจากความสัมพันธ์ส่วนตัวแล้ว มนุษย์เรายังถูกหล่อหลอมด้วยโครงสร้างทางสังคม และบรรทัดฐานที่กดดันเรามากมาย ซึ่งสิ่งที่เราต้องเข้าใจมากขึ้นในยุคนี้คือ Cancel Culture
เราต้องเข้าใจว่าเรื่องอะไรพูดได้ เรื่องอะไรพูดไม่ได้ เพราะเมื่อเราพูดบางเรื่องออกไป อาจทำให้ทัวร์มาลงเรา หากใครเคยโดนจะเข้าใจฟีลว่า ทัวร์ลงหนึ่งครั้งมันจะเป็นที่จดจำในชีวิตไปตลอดกาล นอกจากนั้นแม้เราจะมีสิ่งที่อยากระบายลงโซเชียลแค่ไหน ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะเดี๋ยวนี้คนแคปไว อาจเสี่ยงเกิดดราม่า ฉะนั้นแล้วถ้าอยากพิมพ์ด่าอะไร จงพิมพ์ในพื้นที่ของตัวเอง
ด่านที่ 5: ใจ
คลื่นสุดท้ายที่เราต้องฝ่า คือความปั่นป่วนในใจของเรา เพราะสุขภาพจิตเป็นสิ่งที่มักถูกมองข้าม แต่เป็นส่วนสำคัญของความเป็นอยู่ที่ดีของเรา โดยข้อมูลของ Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า คนไทยอายุ 25-40 ปีเป็นโรคทางสุขภาพจิตเยอะมาก
👉 อันดับ 1. ซึมเศร้า
👉 อันดับ 2. โรควิตกกังวล
👉 อันดับ 3. โรคเครียด
การดูแลสุขภาพจิตของเราจำเป็นต้องอาศัยการตระหนักรู้ในตนเอง แต่คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มักไม่ค่อยรักษาอาการเหล่านี้ จึงทำให้คนมีความเครียดมากขึ้น
และท้ายที่สุดคุณรวิศก็ได้กล่าวว่า ‘ทุกความสำเร็จมีราคาที่ต้องจ่าย’ ดังนั้นแล้วเราควรทำตัวเองให้คุ้นกับความไม่สบายใจ เพราะมนุษย์เกิดมาเพื่อเสียสละบางอย่าง ให้กับสิ่งที่มีความหมายกว่าชีวิตตัวเอง ถ้าหากเราค้นพบสิ่งที่ ‘คู่ควร’ ต้องจ่าย เราจะพบเองว่าชีวิตนั้น มีหนทาง และมีความหมาย
เรียบเรียง: พีรพล สดทรัพย์