รู้หรือไม่ว่าปัจจุบันเราอาจมีคนทำงานถึง 6 Generations ในองค์กรเดียวกันได้
ในโลกการทำงานที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน องค์กรต่าง ๆ พบว่าตนเองต้องเผชิญกับปัญหาของคนต่างวัย เพราะนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เรากำลังอยู่ในยุค 6G หรือ 6 Generations ซึ่งก็คือการที่เราอาจมีคนต่างวัยถึง 6 Generations ในองค์กรเดียวกันได้
คนต่างวัยในที่นี้นับตั้งแต่วัยรุ่น Gen Alpha ที่มารอฝึกงาน, วัยทำงาน Gen Z ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาด, Gen Y ที่กำลังกลายเป็นหัวหน้า, Gen X ที่คอยขับเคลื่อนองค์กร, ผู้บริหาร Baby Boomers ที่คอยตัดสินใจ และกลุ่ม Silent ที่ยังไม่ยอมเกษียนไปไหน
แน่นอนว่า ช่วงอายุต่างวัยที่ไม่เท่ากันนี้อาจทำให้คนทำงานมีปัญหาจนเกิดการกระทบกระทั่งได้ ฉะนั้นแล้วหน้าที่ของหัวหน้ายุคใหม่ต้องหาวิธีการว่าจะทำอย่างไรถึงจะผสานใจคนต่างวัยทั้ง 6 รุ่นนี้ให้ไปในทิศทางเดียวกันได้
🌟 1. เปลี่ยนความหลากหลายให้กลายเป็นจุดแข็ง 🌟
ขั้นตอนแรกในการเป็นผู้นำพนักงานต่างวัยในยุค 6G คือการพัฒนากลยุทธ์ขององค์กรที่ครอบคลุมความต้องการของคนทุกรุ่น โดยกลยุทธ์ขององค์กรต้องครอบคลุมถึงแนวทางการทำงานแบบองค์รวม นั่นคือการเป็นมากกว่าการสรรหา การรักษา และการพัฒนาเพื่อคนต่างวัย
ในขณะที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่ Aging Society ผู้นำเองก็ต้องหาวิธีที่จะเป็นหัวหน้าสำหรับคนต่างวัย ไม่ใช่แค่คนที่อายุน้อยกว่าเราอย่างเดียว โดยยึดมั่นถึงการเป็นคนที่ใส่ใจต่อคนต่างวัยทุกเจเนอเรชั่น และด้วยการนำความคิดเห็นของคนทั้ง 6G มาใช้ในกระบวนการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ขององค์กร จะทำให้เราสามารถมั่นใจได้ว่าโปรดักต์ของเราจะตรงใจลูกค้าในวงกว้าง
🫂 2. เข้าใจถึงปัญหาที่ทุกคนกำลังเผชิญ 🫂
การสร้างองค์กร 6G ที่ดีนั้นเกี่ยวข้องกับความเข้าใจที่ลึกซึ้ง ในด้านความแตกต่างของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายตามอายุ และตามต่างวัยของรุ่น ซึ่งผลกระทบด้านอายุทำให้เราเห็นภาพคร่าว ๆ ว่าแต่ละคนเป็นแบบนี้เพราะอะไร เนื่องมาจากตอนที่พวกเขาโตมานั้น เจอกับสังคมแบบไหน
ด้วยการตระหนักถึงความแตกต่างเหล่านี้ หัวหน้าสามารถส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างซึ่งทำให้พนักงานต่างวัยทุกคนล้วยรู้สึกมีคุณค่า และได้รับเคารพ ซึ่งเราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมองให้ชัดว่าความต่างวัยไม่ใช่อุปสรรค แต่เป็นโอกาสในการเติบโตของทีม
✨ 3. ส่งต่อวัฒนธรรมของการให้เกียรติ ✨
ทีมที่มีความต่างวัย มักจะประสบกับปัญหาการกระทบกระทั่งของคนในที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากการใช้เทคโนโลยี หรือเรื่องของการสื่อสารเองก็ตาม ซึ่งการที่เรามองเรื่องคนต่างรุ่นเป็นวัฒนธรรม จะช่วยให้ผู้นำส่งเสริมสภาพแวดล้อมของการเคารพซึ่งกัน และกันขึ้นมา
การส่งเสริมการให้เกียรติ และการไม่แบ่งแยก จะทำให้ทุกคนสามารถทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด และนำสิ่งที่ดีที่สุดของตนออกมาได้ ทักษะของความคล่องตัวข้ามวัฒนธรรม ช่วยให้ผู้คนสามารถก้าวข้ามความแตกต่างทางวัฒนธรรมด้วยความความยืดหยุ่น และความเข้าใจ ไปจนถึงทำให้เพื่อนร่วมทีมจากรุ่นต่าง ๆ สามารถมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิผลโดยปราศจากความแตกต่างของเรื่องวัยได้
🍲 4. ทำองค์กรให้เหมือนต่อคิวร้านหม้อไฟ 🍲
ความท้าทายที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ผู้นำต้องเผชิญคือการเพิ่มขึ้นของขั้นตอนการจัดหาพนักงาน เพราะเราต้องยอมรับว่ายิ่งตำแหน่งสูงยิ่งมีปัญหาคอขวด เพราะพนักงานวัยเกษียณ มักจะไม่ยอมเต็มใจที่จะเกษียน นั่นทำให้คนที่มีอายุน้อย ไม่มีโอกาสเลื่อนไปสู่บทบาทที่ท้าทายขึ้น
เมื่อมีปัญหาคอขวด สิ่งที่จะช่วยรักษาทาเลนต์รุ่นเยาว์ได้ก็คือเทคนิค Playbook ซึ่งคือการออกแบบเส้นทางสู่ความก้าวหน้าของพนักงาน ด้วยการให้พวกเขารู้ว่า จงใจเย็นเพื่อรอให้ถึงคิว โดยให้คิดซะว่าการขยับตำแหน่งแต่ละครั้ง เป็นเสมือนการต่อคิวหม้อไฟ Haidilao ซึ่งเป็นการทำให้คน (หรือพนักงาน) เต็มใจที่จะรอเพราะในระหว่างทางจะมีความบันเทิง มีมิชชั่น ทำให้ผู้คนไม่ล้มเลิกการรอคิวไปซะก่อน
💫 5. หาจุดตรงกลางที่คนต่างวัยรู้สึกมีความหมาย 💫
ความตึงเครียดระหว่างคนต่างวัยที่มีอายุมากกว่า และอายุน้อยกว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะนักวิเคราะห์เชื่อว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว โดยการสำรวจประจำปี 2020 ของ Deloitte จะชี้ให้เห็นว่าหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 นั้นคนงานทุกคนต่างให้ความสำคัญกับ Objective ของชีวิตมากขึ้น
Objective คือการที่บุคคล และองค์กรต้องพยายามหาจุดตรงกลางในการทำงาน ซึ่งไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่เท่านั้นที่มองหาสิ่งนี้ แต่ในรายงานของ McKinsey ระบุว่าพนักงานทุกระดับต่างต้องการหา Objective ในการทำงานเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายของชีวิตไปด้วย
อย่างที่เราเห็น หัวหน้าจะต้องก้าวไปไกลกว่าแค่การทำธุรกิจ ต้องมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือลูกทีมต่างวัย ให้เห็นว่าการทำงานในองค์กร จะช่วยส่งเสริมการไม่แบ่งแยก และเปิดรับมุมมองที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละรุ่นได้ ซึ่งการดูแลคนทั้ง 6G จะทำให้องค์กรต่าง ๆ สามารถสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มีชีวิตชีวา ตลอดจนขับเคลื่อนความสำเร็จในตลาดแรงงานต่อไป
แปล เรียบเรียง: พีรพล สดทรัพย์
ที่มา