5 เทคนิค Nudge Theory บริหารคนด้วยการ ‘สะกิด’

อยากให้ทีม Active แต่ไม่อยากกดดันเกินไป ลองใช้ 5 เทคนิค Nudge Theory บริหารคนด้วยการ ‘สะกิด’

Last updated on ก.ค. 15, 2024

Posted on ก.ค. 9, 2024

“อยากให้ลูกทีม Active มากกว่าเดิม ในขณะเดียวกันก็ไม่อยากกดดันเขา ต้องทำไง”

รู้จัก Nudge Theory ทฤษฎีสะกิดที่ช่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนไปในทางบวก โดยที่เราไม่จำเป็นต้องกดดันเขา เพราะการสะกิดก็เหมือนกับการผลักเบา ๆ เพื่อที่จะเกลี้ยกล่อมให้คนปฏิบัติตาม โดยเปลี่ยนสิ่งนั้นให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับพวกเขา

ทฤษฎีสะกิดเกิดมาได้ไง

ต้องย้อนกลับไปในปี 1990 ตอนนั้นผู้จัดการฝ่ายทำความสะอาดของสนามบินแห่งหนึ่ง อยากลดค่าทำความสะอาดห้องน้ำชาย เพราะโถปัสสาวะชายสกปรกมาก พวกเขาเลยแปะรูปแมลงวันไว้ที่โถปัสสาวะ ซึ่งปรากฏว่าปัสสาวะเลอะน้อยลงถึง 80% และค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดก็ลดลง 8% อันเนื่องมาจากคนเล็งปัสสาวะไปที่รูปแมลงวันที่แปะไว้นั่นเอง จนเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดของทฤษฎีสะกิด

สำหรับคนทำงานแล้ว การใช้ทฤษฎีสะกิดในออฟฟิศ จะช่วยเสริมสร้างกำลังใจเชิงบวกให้กับลูกทีมได้ดี เพราะพนักงานจะสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง โดยที่เราไม่ต้องกดดันพวกเขา และ 5 เทคนิคต่อไปนี้ จะเป็นตัวอย่างสำคัญของการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ด้วยทฤษฎีสะกิด

1. สะกิดด้วยชั่วโมงแห่งความเงียบ

เคยรู้สึกว่าในออฟฟิศไม่มีเวลาเงียบบ้างไหม บริษัทในกลุ่ม Fortune 500 แห่งหนึ่งเคยประสบปัญหานี้ เพราะที่ออฟฟิศวุ่นวายมาก ๆ ซึ่งเกิดมาจากมีทั้งการประชุม, การนั่งเมาท์ หรือกระทั่งพื้นที่การทำงานที่ติดกันเกินไป ทำให้หลายครั้งเดดไลน์ส่งงานก็ไม่เป็นไปตามที่กำหนด

บริษัทแห่งนี้จึงได้ผลักดัน ‘ชั่วโมงแห่งความเงียบ’ ขึ้นมา กล่าวคือไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ในช่วงเวลานี้ จะไม่มีการขัดจังหวะ หรือสร้างการรบกวนผู้อื่น ซึ่งการสะกิดด้วยวิธีนี้ก็ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของลูกทีมเพิ่มขึ้นจริง ๆ และเป็นตัวอย่างที่ดีของวิธีที่การสะกิดอันเล็กน้อย แต่ได้ประโยชน์มหาศาล


2. สะกิดด้วยคำชม

เพราะคำขอบคุณเล็ก ๆ น้อย ๆ สามารถจูงใจลูกทีม หรือกระตุ้นให้พวกเขาสามารถทำงานนั้น ๆ ได้ดีขึ้น ซึ่งการสะกิดด้วยคำชม จัดอยู่ในประเภทของแรงจูงใจภายใน มันช่วยผลักดันให้ลูกทีมของเราทำสิ่งที่ดีกว่าที่พวกเขาเป็นได้


3. สะกิดด้วยแรงเพื่อน

การที่ลูกทีมรับรู้ว่าเพื่อนร่วมงานทำอะไร (Peer to Peer) หรือถือโปรเจกต์ไหนอยู่ จะช่วยกระตุ้นให้พวกเขาอยากทำเช่นเดียวกัน ซึ่งการเห็นคุณค่าของเพื่อนร่วมงานบนหน้าสเตตัสไฮไลต์ในแต่ละวัน ว่าคนอื่นทำอะไรสำเร็จไปบ้าง จะทำให้เกิดโดมิโนเอฟเฟกต์ จนเป็นการสะกิดให้ลูกทีมบางคนมีไฟมากขึ้น และทำงานได้เกินประสิทธิภาพ


4. สะกิดด้วยรางวัล

การให้รางวัลหรือการยกย่องความพยายามของลูกทีม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้อย่างมาก เพราะการสะกิดประเภทนี้ ถูกเรียกว่าแรงจูงใจภายนอก เนื่องจากของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราให้พวกเขา จะช่วยเพิ่มกำลังใจให้ลูกทีม จนพวกเขาเชื่อมั่นว่าการมีส่วนร่วมของพวกเขา กำลังช่วยขับเคลื่อนบริษัทไปสู่ความสำเร็จได้


5. สะกิดด้วยพื้นที่ทำงาน

เพราะบางครั้ง แม้ผนังสีที่ดูจืดชืด และจำเจก็อาจลดทอนความคิดสร้างสรรค์ได้

Work Station ของลูกทีมคือสิ่งแรกที่พวกเขาเห็น เมื่อมาถึงออฟฟิศในตอนเช้า ดังนั้นแล้วสถานที่ทำงานควรได้รับการดูแล และออกแบบในลักษณะที่ส่งเสริมการทำงาน ไปพร้อมกับความเงียบสงบ ซึ่งพื้นที่ทำงานที่ช่วยให้พนักงานมีสมาธิ จะเติมเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ไปจนถึงทำให้พวกเขาหลงรักออฟฟิศมากขึ้น


จิตวิทยาเล็ก ๆ น้อย ๆ มีส่วนช่วยอย่างมากในการสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความคิดนอกกรอบ เพราะการสะกิดไม่ได้ทำให้การตัดสินใจเป็นเรื่องยาก แต่ทำให้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นเรื่องง่าย ดังนั้นแล้วทฤษฎีสะกิด จึงเป็นวิธีแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพมากสำหรับการเพิ่มความสามารถของลูกทีม โดยเฉพาะการปรับนิสัยระยะสั้น เพราะจะช่วยให้พวกเขาทำได้ดีขึ้น และไม่รู้สึกว่ากำลังถูกบังคับอยู่


แปล เรียบเรียง: พีรพล สดทรัพย์

ที่มา

trending trending sports recipe

Share on

Tags