จากจุดเริ่มต้นของรีวิว “รสชาติน่ารัก” สู่ไวรัลที่กระจายเต็มโซเชียลมีเดีย สร้างปรากฎการณ์คนมากมายแห่กันไปที่วัดอรุณฯ เพื่อลิ้มลองไอศกรีม 3 มิติลายกระเบื้องวัดอรุณฯ ของร้าน Pop Icon ไอติม 3 มิติ ขนาดวันที่ผู้เขียนได้เข้าไปสัมภาณ์นั้น ไอศกรีมก็เกลี้ยงตู้ตั้งแต่ยังไม่พ้นบ่ายโมงเลย
ไอศกรีมลายกระเบื้องวัดอรุณฯ มีจุดเริ่มต้นมาจากความหลงใหล(passion) ของคุณน้ำตาลที่เป็นคนชอบกินไอศกรีมอยู่แล้ว บวกกับความฝันที่เคยอยากเป็นนักโบราณคดี ก็ได้หล่อหลอมให้เกิดเป็นธุรกิจนี้ขึ้นมา ซึ่งกว่าจะออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทุกคนเห็นอยู่นี้ต้องใช้เวลาเกือบ 2 ปี เลยทีเดียว
“ในหัวใจคนไทยอยู่ใกล้ศิลปวัฒนธรรมไทยอยู่แล้ว แต่บางครั้งก็อาจจะใกล้ตัวจนเคยชินไป” โจทย์ยาก และความท้าทายของเรื่องนี้คือ แล้วจะทำอย่างไรให้ศิลปวัฒนธรรมไทยได้เป็น Soft power ที่สื่อสารออกไปได้มากกว่ารูปแบบเดิม ๆ และยังสามารถเติมเต็มความตั้งใจของคุณน้ำตาลเองได้ด้วย
คุณน้ำตาลเล่าว่า ทุกส่วนของไอศกรีมที่ทุกคนเห็นผ่านกระบวนการคิด ครีเอทีฟ รีเสิร์ช อ่านหนังสือ ลงพื้นที่สำรวจมาแล้วทั้งนั้น ตั้งแต่ลวดลาย รสชาติ สี หรือแม้แต่สถานที่จำหน่ายก็เช่นกัน
เมื่อพูดถึงวัดอรุณฯ หลายคนก็คงนึกถึง ‘พระปรางค์วัดอรุณฯ’ ที่เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวเอกลักษณ์ของไทย และยังเป็น 1 ใน 10 ของสถานที่ทางพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงที่สุด แน่นอนว่าเหตุผลนี้ก็เป็นส่วนผสมหนึ่งที่ทำให้เกิดไอศกรีมนี้ขึ้นมา แต่คุณน้ำตาลมองลงไปลึกกว่านั้น…
ถ้าเราเดินเข้าไปสำรวจที่พระปรางค์วัดอรุณฯ เราจะเห็นเครื่องเคลือบ เครื่องเบญจรงค์ พื้นลายกระเบื้องสวยงามมากมาย ที่สอดแทรกอยู่ในความสวยงามองค์รวมของพระปรางค์วัดอรุณฯ จึงเกิดเป็นไอศกรีมลายกระเบื้องวัดอรุณฯขึ้นมา
และเหตุผลที่ 2 รสชาติแรกของไอศกรีมเป็นรสชาไทย กับรสกะทิอัญชันอบควันเทียน ก็เพราะว่ารสชาติเหล่านี้เป็นรสชาติที่สื่อถึงวัฒนธรรมไทย และภูมิปัญญาไทยได้เป็นอย่างดี อย่างรสชาไทย ก็สื่อสารถึงวัฒนธรรมไทย-จีนที่มีมาอย่างยาวนาน และสีส้มก็เป็นสีของกระเบื้องเคลือบของพระปรางค์ด้วย ส่วนรสกะทิอัญชันอบควันเทียน นอกจากกะทิจะเป็นส่วนผสมของอาหารไทยในหลาย ๆ เมนูแล้ว สีฟ้าเองก็ยังเป็นสีของกระเบื้องลายครามในวัดอรุณฯอีกด้วย
แล้วด้วยความ ‘มูเตลู’ ที่คนไทยมี คุณน้ำตาลก็ได้นำมาใส่เป็นสีสันความสนุกบนไม้ไอศกรีม ถ้าใครได้กินจะสังเกตได้เลยว่าตรงไม้ส่วนที่เราจับนั้นจะมีเหมือนคติธรรม คำทำนายสลักเอาไว้ โดยแต่ละไม้ก็จะมีคำทำนายที่ว่านี้แตกต่างกัน เรียกได้ว่าผลิตภัณฑ์เดียวก็สามารถสื่อสาร และจับทุก touch point ของคนไทยได้มากมายเลย
คุณน้ำตาลยังเล่าอีกว่าในอนาคตเธอก็มีความตั้งใจที่จะออกแบบไอศกรีมลวดลายใหม่ รสชาติใหม่ ในสถานที่ใหม่เช่นกัน เพราะลายกระเบื้องวัดอรุณฯนี้เป็นความตั้งใจที่ทำให้กับทางวัดอรุณฯเท่านั้น เราจะไม่สามารถหาทานไอศกรีมลายนี้ได้จากที่อื่นแน่นอน
แม้ตอนนี้ความสำเร็จตรงหน้าจะทำให้คุณน้ำตาลยิ้มอย่างมีความสุข และภูมิใจที่ไอศกรีมนี้ถูกพูดถึงจนกลายเป็นไวรัล มีผู้คนเข้ามาแวะเวียนมากมาย แต่หนึ่งในเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ที่เธออยากจะไปให้ถึงในการพัฒนาธุรกิจนี้คือการช่วยเหลือสังคมด้วย เธอบอกว่าแค่ความสำเร็จของตัวเราเองมันไม่เติมเต็มอีกต่อไป แต่ความสำเร็จนั้นจะต้องสามารถช่วยเหลือสังคม ส่งเสริมชุมชน การท่องเที่ยวโดยรอบให้เติบโตไปด้วยกัน
ตาลอยากโปรโมทวัฒนธรรมด้วยการท่องเที่ยวและโปรโมทการท่องเที่ยวด้วยวัฒนธรรม
ถ้าเกิดว่าใครผ่านไปแถววัดอรุณฯ ก็อย่าลืมแวะไปชิมไอศกรีมลายกระเบื้องวัดอรุณฯนี้กันได้ที่ Arun Cafe วัดอรุณราชวราราม