“ภาวะผู้นำที่แท้จริงจะจุดประกายภาวะผู้นำในตัวผู้ตามทุกคน”
ประโยคนี้เป็นคำจำกัดความของความเป็นผู้นำ โดยซูซูกิ โยชิยุกิ ผู้เขียนหนังสือ 25 Things the Leader Must Know ที่รวมบทความยอดนิยมจาก Nikkei Business Online และในบทหนึ่งของหนังสือก็ได้พูดถึงการสร้างภาวะผู้นำในตัวลูกน้อง
เราน่าจะพอนึกภาพของลีดเดอร์ที่เราชอบ หัวหน้าที่เราอยากจะเป็นได้อยู่ และแน่นอนว่าคนแบบที่เราชอบก็มักจะเป็นที่เราพร้อมจะทำงานให้อย่างเต็มใจ โดยที่อีกฝ่ายไม่ต้องออกปากสั่งงานตามจี้เลยด้วยซ้ำ ซึ่งแน่นอนว่าภาวะผู้นำในตัวลีดเดอร์แต่ละคนก็จะมีรูปแบบที่แตกต่างกัน
‘ภาวะผู้นำ’ คือสิ่งที่มีในตัวทุกคน แม้ว่าในวันนี้คุณจะยังเป็นผู้ตามก็ตาม
หมายความว่าผู้นำที่ดี คือคนที่ต้องดึงศักยภาพนั้นออกมาให้ได้ ซึ่งการจะมีภาวะผู้นำได้ ต้องเริ่มจากการมีเป้าหมายที่อยากจะทำก่อน หลังจากนั้นก็มีการโน้มน้าว ชวนคนมาจอยกัน และทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ
คุณซูซูกิผู้เขียนเล่าว่าสมัยที่เขาเล่นกีฬารักบี้ทำให้เขาเข้าใจเรื่องนี้ดีขึ้น พอมีเพื่อนคนหนึ่งมาชวนไปซ้อม ทุกคนก็มาซ้อมด้วยความสมัครใจ เพราะมีเป้าหมายคืออยากเป็นแชมป์ให้ได้ กองหน้าซ้อมกับกองหน้า กองหลังซ้อมกับกองหลัง ทุกคนเล่นกันเป็นทีม ผลัดกันเป็นผู้นำและผู้ตามในเกม โดยไม่มีใครรู้สึกว่าโดนบังคับให้ทำ
มาลองดู 5 เทคนิคที่น่าสนใจ ที่จะช่วยเติมภาวะผู้นำให้กับทีมได้ทีละนิด ๆ โดยที่ทีมไม่รู้ว่าถูกบังคับ
1. หาก่อนว่าอะไรคือ Leadership skills ที่อยากได้
อย่างที่บอกว่าผู้นำก็มีหลายประเภท เราอาจจะต้องลิสต์ดูก่อนว่าภาวะผู้นำแบบไหนที่เราอยากจะเสริมให้ทีมมี เช่น องค์กรต้องการไอเดียใหม่ ๆ ในการสร้างนวัตกรรม เราก็อาจจะต้องการคนที่กล้าพูด กล้าแสดงออก นำเสนอไอเดียอย่างมีเหตุผล โน้มน้าวเพื่อน ๆ ให้ไปด้วยกันได้
2. พูดไม่พอ แต่ต้องให้ได้ลงมือจริง
หนึ่งในกิจกรรมที่เชื่อว่าปลุกความเป็นผู้นำให้หลายคนมาแล้วคือการได้พูดคุย อภิปราย ประชุมอะไรร่วมกันสักอย่าง ซึ่งอาจจะทำได้ตั้งแต่การ Debates, การจับกลุ่ม Discussions และการร่วมกันวางแผนกลยุทธ์บางอย่างร่วมกัน
3. ลองจัด Mentorship program
อาจจะลองจับคู่ทีมกับคนระดับหัวหน้าทีมดู เพื่อให้ได้เรียนรู้งาน แลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันและกัน หรืออาจจะเป็นการจัด 1:1 Meeting ขึ้นมาให้ทีมได้ปรึกษาปัญหาการทำงานกับหัวหน้าก็ได้ เพื่อให้ทีมได้เรียนรู้วิธีการตัดสินใจต่าง ๆ
4. ตั้งคำถามกับทีมเยอะ ๆ ไม่ใช่ออกคำสั่ง
เวลาทำงานอย่าใช้การสั่งให้ทำ แต่ใช้การตั้งคำถาม เช่น อยากลองทำอะไรไหม, คิดว่างานนี้จะดีกว่าครั้งที่แล้วยังไงได้บ้าง, มีอะไรที่อยากให้ทีมคนอื่นได้ลองทำบ้างไหม เป็นต้น ซึ่งคำถามเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นการคิดของคนเรา และช่วยกระตุ้นภาวะผู้นำได้
5. มองคนในทีมเป็น ‘ผู้นำ’ ไม่ใช่ ‘ผู้ตาม’
เมื่อไหร่ก็ตามที่เรามองคนในทีมเป็นแค่ผู้ตาม และฉันคือผู้นำเพียงคนเดียวบนเรือลำนี้ สิ่งที่ออกมาคือการออกคำสั่งให้ทีมทำตามความคิดของเราเป็นหลัก แต่กลับกันถ้ามองทีมเป็นผู้ตาม คุณจะเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงความคิดเห็น และยิ่งเราเลือกซื้อไอเดียที่ทีมเสนอ และให้เขาได้รันโปรเจกต์ร่วมกับคนอื่น ๆ ได้ อาจทำให้เกิดผลลัพธ์ใหม่ที่คุณเองก็อาจจะแปลกใจก็ได้
ในหนังสือเล่มเดิมนี้ คุณซูซูกิได้เล่าประสบการณ์ตัวเองว่าเคยมีเจ้าของร้านค้าแห่งหนึ่งมาเรียนกับเขา เจ้าของร้านเป็นคนที่เชื่อมาโดยเสมอว่าเขาเป็นคนที่มีภาวะผู้นำ ทีมจึงทำตามที่เขาสั่ง แต่พอไปถามพนักงานทุกคนต่างไม่โอเคกับนำแบบนี้ ทรมานกับการทำงานด้วย สุดท้ายเจ้าของร้านจึงเปลี่ยนวิธีการทำงานตัวเองใหม่
วันหนึ่งลูกน้องเขาได้เสนอวิธีจัดพื้นที่ขายสินค้าใหม่ แม้จะมาด้วยความไม่มั่นใจ แต่เจ้าของร้านคนเดิมกลับบอกว่า ไอเดียน่าสนใจ และให้ลองทำดู พร้อมบอกให้ทีมคนอื่นลองทำตามลูกน้องคนนี้ด้วยเช่นกัน ผลปรากฏสินค้านั้นทำยอดขายแซงหน้าร้านอื่นได้เลย!
จุดเปลี่ยนของเรื่องนี้มีแค่การที่เจ้าของร้านเลิกมองทีมเป็นแค่ผู้ตามนั่นเอง
สุดท้ายผู้นำต้องถามตัวเองอยู่เสมอว่าเราจะจุดประกายภาวะผู้นำในตัวคนอื่นได้มากน้อยแค่ไหน และจะทำอย่างเพื่อให้เกิดประกายนี้ในตัวทีมของเรา
แปล เรียบเรียง: กองบรรณาธิการ CREATIVE TALK
ที่มา