ซึ่งก็เป็นที่แน่นอนว่า หลายครั้งนั้น ฝนก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้ชีวิตเราผิดแผน แถมสร้างความลำบากจนเราต้องหงุดหงิดทุกครั้งไป
เมื่อฝนตกลงมา ชาวไทยอย่างเราคงร้องหาตะไคร้มาปักกันจ้าละหวั่น ซึ่งตะไคร้ก็เป็นหนึ่งในไอเท็มช่วยหยุดฝน ที่ชาวไทยอย่างเราใช้มาอย่างยาวนาน แม้จะไม่มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ว่าตะไคร้ช่วยหยุดฝนได้จริงไหม แต่ตะไคร้ก็เป็นไอเท็มที่ชาวไทยมักจะนึกถึงเมื่อฝนตก และวิธีดับฝนด้วยไอเท็มทางความเชื่อนั้นก็ไม่ได้มีแค่ที่ไทยหรอกนะ เพราะในฝั่งของญี่ปุ่นเองก็มีวิธีการไล่ฝนด้วยการใช้ไอเท็มความเชื่อนี้เช่นกัน
มันมีชื่อว่า ‘ตุ๊กตาไล่ฝน’ หรือในชื่อญี่ปุ่นคือ เทรุเทรุโบซุ (Teru-Teru-Bōzu) ตุ๊กตาไล่ฝนเป็นไอเท็มหยุดฝนที่ชาวญี่ปุ่นมักใช้กัน เจ้าสิ่งนี้เป็นตุ๊กตาผ้าสีขาว ลักษณะเป็นหัวกลมและจะมีการวาดหน้าตาไว้บนหัวกลม ๆ นี้ด้วย โดยวิธีการใช้งานเทรุเทรุโบซุคือ เมื่อฝนตกชาวญี่ปุ่นจะแขวนเจ้าตุ๊กตาตัวนี้ไว้ เพื่อขอให้ฝนหยุดตก แต่ถ้าหากเป็นหน้าแล้ง บางครั้งชาวนาก็จะแขวนตุ๊กตานี้กลับหัวเพื่อขอฝนให้ตกลงมาเช่นกัน เรียกได้ว่าหนึ่งตัวสามารถใช้ได้ 2 ฟังก์ชันเลยล่ะ
ตุ๊กตาไล่ฝน เป็นหนึ่งในสิ่งที่คนหลายคนเคยผ่านตา เพราะมักจะปรากฏอยู่ในอนิเมะหรือหนังญี่ปุ่นอยู่เสมอ แต่แม้มันจะมีหน้าตาน่ารักขนาดนี้ มันกลับมีเบื้องหลังที่น่าสะพรึงกลัวซ่อนไว้ เพราะดูยังไง ๆ ดีไซน์ของเจ้าตุ๊กตานี้ก็เหมือนคนโดนผูกคอไม่มีผิด
ว่าแต่ทำไมหน้าตามันถึงเป็นแบบนี้กันล่ะ?
เรื่องเล่าต้นกำเนิดอันน่าสะพรึงกลัวของตุ๊กตาไล่ฝน ต้องย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 800 นู่นเลย ในสมัยนั้น มีพระสงฆ์ผู้รูปหนึ่งสามารถทำพิธีปัดเป่าให้ฝนหยุดตกได้ ใช่แล้วล่ะ ท่านเป็นพระที่ทำให้ฝนหยุดตกได้นั่นเอง ดังนั้นผู้คนจึงรู้จักท่านในฐานะ พระผู้หยุดฝน
วันหนึ่ง เรื่องราวของท่านไปถึงหูของชาวบ้านในหมู่บ้านที่ประสบปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง นั่นทำให้องค์จักรพรรดินิมนต์จึงนิมนต์พระสงฆ์รูปนี้ให้มาแก้ปัญหาฝนตกไม่หยุด ทว่าในขณะที่ท่านกำลังสำแดงอิทธิฤทธิ์ ท่านก็ไม่สามารถหยุดฝนนี้ได้ ซ้ำร้ายฝนยังตกมาอย่างต่อเนื่องอีก นั่นทำให้พระรูปนั้นถูกลงโทษด้วยการแขวนคอ (บ้างก็ว่าตัดคอ) แล้วจึงได้มีการนำผ้าสีขาวไปห่อศีรษะของท่านแล้วแขวนไว้
หลังจากเหตุการณ์นั้นหนึ่งวัน ท้องฟ้าก็พลันแจ่มใส ชาวบ้านจึงมีความเชื่อว่า หากทำตุ๊กตาไล่ฝนซึ่งเป็นตัวแทนของพระรูปนั้นไปแขวนไว้ จะทำให้ฝนหยุดตก ดังนั้นตุ๊กตาไล่ฝนจึงเป็นตุ๊กตารูปร่างหัวกลม เพราะเป็นตัวแทนของพระรูปนั้นนั่นเอง
เมื่อมองไปยังคำว่าเทรุเทรุโบซุที่แปลว่าตุ๊กตาไล่ฝนนั้น คำว่า เทรุ (てる) ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า ‘แดดออก’ และ โบซุ (坊主) แปลว่า ‘พระ’ ชื่อของตุ๊กตาไล่ฝน จึงเป็นคำที่ทำให้คิดถึงตำนานดังกล่าวด้วยเช่น
ปัจจุบัน ชาวญี่ปุ่นยังคงรักษาวัฒนธรรมการแขวนตุ๊กตาไล่ฝนไว้อยู่ โดยเฉพาะบ้านที่มีเด็กเล็ก เด็กญี่ปุ่นจะถูกสอนให้รู้จักตุ๊กตาไล่ฝนผ่านบทเพลง ซึ่งพวกเขามักจะแขวนตุ๊กตาไล่ฝนในวันก่อนที่มีกิจกรรมสำคัญ หากวันไหนท้องฟ้าเกิดมืดดำ เราก็เห็นตุ๊กตาเหล่านั้นถูกแขวนไว้ตามบ้าน และแน่นอนว่าเมื่ออ่านเรื่องนี้จบแล้ว เราจะมองตุ๊กตาไล่ฝนไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปเลยล่ะ