The Johari Window Model ตัวช่วยลดช่องระหว่างผู้นำและคนทำงาน

รู้ตัวเอง เข้าใจคนอื่น ให้ทีมสนิทกันมากขึ้น

Last updated on ก.ค. 25, 2024

Posted on ก.ค. 16, 2024

หนึ่งในเคล็ดไม่ลับของผู้นำที่เก่งทั่วโลก คือการ ‘เข้าใจตัวเอง รู้จุดแข็งปรับแก้จุดอ่อน และเคารพในตัวผู้อื่น’ ฟังดูเหมือนจะง่าย แต่ในทางปฏิบัติ สิ่งเหล่านี้คือศิลปะขั้นสูง ที่ไม่ใช่ว่าจะฝึกแล้วทำได้ทันที แต่ต้องอาศัยประสบการณ์ และการเรียนรู้ระหว่างทางอยู่ตลอดเวลา

ถือเป็นโอกาสดีที่วันนี้จะได้ชวนผู้นำ และคนทำงาน มาร่วมเดินทางไปด้วยกันกับ The Johari Window หนึ่งในเครื่องมือที่ทำให้เรากลับมาทบทวน ทำความเข้าใจถึง ‘ตัวตน’ ที่แท้จริงของตัวเองและผู้อื่น และยังสามารถรับรู้ว่าอะไรคือจุดแข็ง จุดอ่อน ของตัวเอง รวมถึงเข้าใจเพื่อนร่วมงาน เข้าใจลูกน้องในทีม ได้แบบชนิดที่ว่า รู้ลึก รู้จริง แต่ยังมีเส้นความเคารพซึ่งกันและกันได้

มารู้จัก The Johari Window Model จุดเริ่มต้นในการมองอย่างเข้าใจผู้อื่น และตระหนักรู้ในตัวเอง

The Johari Window Model ถูกคิดค้นขึ้นเมื่อปี 1955 โดยชาวอเมริกันสองคนคือ คุณโจเซฟ ลุฟท์ (Joseph Luft) และ คุณแฮร์รี อิงแกรม (Harry Ingham) ซึ่งคำว่า ‘Johari (โจฮารี)’ ก็มาจากชื่อของทั้งสอง โดยเครื่องมือ The Johari Window Model มีหน้าที่สำคัญในการช่วยให้

  • ทำให้เราเข้าใจตัวเอง, เข้าใจคนรอบตัว เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยสะท้อนตัวตนของเรา
  • หากนำมาปรับใช้กับการทำงาน จะช่วยให้คนทำงานเข้าใจกันมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การลดความขัดแย้ง
  • ช่วยให้เรามี Self-awareness หรือการตระหนักรู้ ในตัวเอง อะไรคือจุดแข็ง จุดอ่อนของเรา แล้วอะไรจะส่งผลกระทบต่อผู้อื่นในการกระทำของเรา
  • ช่วยให้เราเป็นคนที่สื่อสารได้ดีขึ้น พูดกับใครก็รู้เรื่องอย่างรู้จริง และรู้ใจยิ่งกว่าเดิม

ยิ่งถ้าเราเป็น ‘ผู้นำของทีม’ ที่ต้องบริหารทั้งงาน บริหารทั้งคน เทคนิค The Johari Window เหมาะอย่างมากสำหรับการบริหารทีม และยังช่วยให้เราสามารถพัฒนาเรื่องของการรับฟังอย่างเข้าใจผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งช่วยลดช่องว่างระหว่างผู้นำและทีมได้ดี

มารู้จัก The Johari Window Model หน้าต่างของความรู้สึก ซึ่งประกอบไปด้วยตัวตน 4 แบบ

1. หน้าต่างที่เรารู้และทุกคนรู้ (Open Self หรือ Open Area)

เริ่มต้นจากตารางซ้ายบน หน้าต่างแรกนี้เราเรียกว่า ‘เรื่องที่เรารู้ และทุกคนรู้’ เป็นเรื่องที่เปิดเผยได้ คุยกันได้อย่างตรงไปตรงมา สิ่งนี้เหมาะอย่างมากในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรเพื่อการสื่อสารอย่างเปิดเผยทั้งคนระดับหัวหน้า และลูกทีมได้เชื่อมสัมพันธ์กัน ถือเป็นพื้นฐานของการสื่อสาร และทำความรู้จักกันอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา โดยความสำคัญของ Open Self หรือ Open Area มีเป้าสำคัญคือ เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้าง Trust หรือความเชื่อมั่น และไว้วางใจให้กับคนทำงานได้ดี

Open Self (เรื่องอะไรบ้าง ที่เรารู้และทุกคนรู้)

เป้าหมายสำคัญของพื้นที่นี้คือการ ‘ขยายขอบเขต’ เพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องราวซึ่งกันและกัน

👉 เรื่องทั่วไปที่ไม่ใช่แค่เรื่องงาน (Free area)
👉 งานอดิเรก หรือ เรื่องที่เราสนใจ (Free self)
👉 ทักษะการทำงาน เราทำอะไรได้ดี และมีเรื่องอะไรที่เราอยากพัฒนาเพิ่มเติม


2. หน้าต่างที่คนอื่นรู้แต่เรากลับไม่รู้ (Blind Self หรือ Blind Spot)

ต่อมาตารางขวาบน หน้าต่างนี้เราเรียกว่า ‘เรื่องที่คนอื่นรู้ แต่เรากลับไม่รู้’ หมายถึงเรื่องที่บางครั้งตัวเราเองอาจจะยังไม่รู้ว่า เราก็มีมุมนี้นะ ซึ่งมันอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ดี หรือเรื่องที่รู้แล้วควรต้องปรับปรุงแก้ไข หรือบางครั้งอาจจะใหญ่กว่านั้น คืออาจจะเป็นเรื่องที่ผิดพลาดแล้วเราตั้งใจที่จะปิดบังมันไว้

Blind Self (เรื่องอะไรบ้าง ที่คนอื่นรู้แต่เรากลับไม่รู้)

เป้าหมายสำคัญของพื้นที่นี้คือการ ‘ลดจุดบอด เพิ่มจุดแข็ง’ ซึ่งการจะลดพื้นที่จุดบอดคือการลดจุดอ่อน และรับฟัง Feedback จากคนรอบตัวเพื่อพัฒนาตัวเอง

👉 ในเชิงของการทำงาน ‘ผู้นำ’ จะต้องรับรู้ และ Feedback ทีมงานตัวเองด้วยความเห็นบนพื้นฐานของการไม่ตัดสินใคร ไม่ใช้อารมณ์ และทุกการ Feedback ที่ดีต้องนำไปสู่ความเข้าใจร่วมกัน เพื่อพัฒนาตัวเองต่อไป ซึ่งวิธีนี้ยังช่วยให้คนรับฟัง เชื่อมั่นในตัวคุณ และลดความกลัวระหว่างคนเป็นหัวหน้า และลูกน้องได้ดี

👉 ในเชิงของคนทำงาน การรับฟัง Feedback สำคัญมาก ต้องเป็นคนที่มีทัศนคติเปิดกว้าง รับฟังเพื่อนำมาพัฒนาจุดแข็ง และลดจุดอ่อน หรือแก้ไขปรับปรุงในการพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นต่อไป


3. หน้าต่างที่เรารู้แต่คนอื่นไม่รู้ (Hidden Self หรือ Hidden Area)

กลับมาที่ตารางซ้ายล่าง เราเรียกหน้าต่างนี้ว่า Hidden Self หรือหน้าต่างซ่อนเร้น เป็น ‘เรื่องที่เรารู้ แต่คนอื่นไม่รู้’ หน้าต่างนี้จะพูดถึงมุมที่เรามักปิดบัง อาจจะส่งผลถึงอารมณ์ที่อ่อนไหว, ความกลัว หรือทุกอย่างที่เป็นความลับของหน้าต่างในจิตใจที่ไม่อยากเปิดเผยให้ใครรับรู้ ดังนั้นพื้นที่นี้เรียกได้ว่าปราบเซียนกันเลยทีเดียว การจะกล้าให้คนยอมรับและเปิดเผยหน้าต่าง Hidden Self ได้นั้น “ความไว้วางใจ” เป็นเรื่องที่สำคัญมาก

Hidden Self (เรื่องอะไรบ้าง ที่เรารู้แต่คนอื่นไม่รู้)

เป้าหมายสำคัญของพื้นที่นี้คือการ ‘สร้างความไว้วางใจ’ ไม่มีใครกล้าเผยความรู้สึกที่แท้จริงตั้งแต่แรกพบ ทุกคนมักมีกำแพงในใจของตัวเองเสมอ ไม่เว้นแม้แต่ทีมงานของคุณ

👉 ในพื้นที่นี้มักมีเรื่องของ ความคิด และความรู้สึก ปะปนอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นการที่ใครสักคนจะกล้าเผยความรู้สึกที่แท้จริงได้ ส่วนใหญ่ก็จะเกิดจาก ‘ความไว้วางใจ’ ที่จะกล้าเล่า กล้าแสดงความรู้สึก

👉 ในฐานะผู้นำ บางครั้งเราไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่างของพนักงาน ให้เขาได้มีหน้าต่าง Hidden Area ในการเคารพความเป็นส่วนตัว แต่กลับกันในเรื่องของการทำงาน เราจะทำอย่างไรให้สามารถทลายกำแพงในใจของทีมงานได้ ให้เปลี่ยนจาก Hidden Self เป็น Open Self เพราะหากทีมของเราไว้วางใจกันมากขึ้น ก็จะช่วยลดความสับสนในงาน, การเข้าใจผิดในการทำงาน รวมไปถึงการสื่อสารที่ชัดเจน เกิดความไว้วางใจ ไม่บั่นทอนการทำงานร่วมกันได้


4. หน้าต่างที่เราไม่รู้และคนอื่นก็ไม่รู้เช่นกัน (Unknown Self หรือ Unknown Area)

หน้าต่างบานสุดท้าย เราเรียกสิ่งนี้ว่า ‘เรื่องที่เราไม่รู้ และคนอื่นก็ไม่รู้เช่นกัน’ สิ่งนี้บางคนอาจจะอ่านแล้วแปลกใจว่ามันคืออะไร แต่อยากให้เข้าใจว่า เราทุกคนก็มีส่วนลึกของการเรียนรู้ หรือความกลัวจากจิตใต้สำนึกที่แตกต่างกัน บางครั้งเราอาจจะค้นพบความสามารถพิเศษ ทำไมเราเรียนรู้เรื่องนี้ได้ไว หรือทำไมเราเข้าใจเรื่องนี้ได้ช้า การค่อย ๆ เข้าใจตัวเอง และเรียนรู้อยู่เสมอ จะช่วยสั่งสมประสบการณ์ ซึ่งเจ้าประสบการณ์นี่แหละ คือตัวนำพาทุกคนไปสู่คำตอบของหน้าต่างบานนี้

Unknown Self (เรื่องอะไรบ้าง ที่เรารู้แต่คนอื่นไม่รู้)

เป้าหมายสำคัญของพื้นที่นี้คือการ ‘การค้นหาคำตอบ’

👉 มนุษย์ทุกคนมีความเก่งในแบบของตัวเอง พวกเขามีศักยภาพที่โดดเด่นแตกต่างกัน ในฐานะผู้นำการจะดึงศักยภาพของทีมออกมาไม่ใช่การไปบังคับว่าเขาก็เก่งอะไร แต่ต้องให้เขาได้ทดลอง ได้ลงมือทำ ได้ลองผิดลองถูก

👉 การสร้างบรรยากาศให้คนทำงานได้ ‘กล้าลองผิด’ สำคัญมาก ในฐานะผู้นำต้องสร้างทั้งบรรยากาศ และเส้นทางที่เหมาะสมในการให้คนทำงานได้เรียนรู้จากการลงมือทำ ซึ่งช่วยทำให้คนทำงานได้มีประสบการณ์เพิ่มขึ้น และค้นหาทักษะใหม่ ๆ ในตัวเองด้วยเช่นกัน

เมื่อเราเข้าใจหน้าต่างทั้ง 4 ด้านของ The Johari Window ลองนำไปปรับใช้กับคนในองค์กร อาจจะเริ่มจากการเปิดใจคุยกันด้วย Open Area ไม่ต้องคุยเรื่องงานตลอดเวลา หรือจะเป็นกิจกรรมสนุก ๆ ซึ่งเรามีตัวอย่างที่น่าสนใจ จากคุณโทบี้ ซินแคลร์ (Toby Sinclair)

โดยคุณโทบี้ ซินแคลร์ เริ่มจัดกิจกรรมเล็ก ๆ เป็นประชุมที่ทำกิจกกรรมร่วมกัน โดยใช้ “ป้ายคำศัพท์” เป็นสื่อกลางในการทำกิจกรรม ซึ่งในป้ายนั้นจะระบุถึงตัวตนออกมา 57 คำ เช่น กล้าหาญ, ร่าเริง, ฉลาด, มั่นใจ, ขี้อาย, กลัว, เห็นอกเห็นใจ, เครียด, อ่อนไหว เป็นต้น

หลังจากนั้นให้ทุกคนลองเริ่มหยิบป้ายคำ เพื่อระบุตัวตนของตัวเอง โดยคำแนะนำของคุณโทบี้ ซินแคลร์ คือหยิบป้ายคำศัพท์คนละ 5 คำ แล้วอธิบายว่าทำไมเราถึงเลือกสิ่งนี้ หลังจากทุกคนอธิบายจนจบ ให้ลองเริ่มใหม่โดยการ หยิบป้ายคำศัพท์ ที่เราคิดว่าเขาคนนั้นเหมือนกับตัวตนนี้ ให้กับคนรอบตัว 5 คำ เพื่อเป็นการสะท้อนมุมมองว่าเรารู้สึกอย่างไรถึงบุคคลอื่น แล้วเล่าให้เขาฟังว่าทำไมคุณถึงรู้สึกแบบนั้น


เทคนิคนี้จะช่วยให้เรารู้จักตัวตนของคนทำงานมากขึ้น เข้าใจในเชิงลึกได้มากขึ้น และยังเป็นการทำกิจกรรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้กับคนทำงานได้ปรับปรุงแก้ไข รู้ว่าตัวเองมีจุดแข็งอะไร และจุดอ่อนอะไรต้องปรับปรุงแก้ไข


หากใครสนใจสามารถดูตัวอย่างจากคุณโทบี้ ซินแคลร์ เพิ่มเติมได้ที่

How to use Johari Window Coaching Exercise | Coaching Skills for Managers
The Johari Window Coaching Exercise is a great way to develop your self-awareness.This video walks through an example step-by-step to show how you can use it…

แปล เรียบเรียง: กิตติภพ ปานล้ำเลิศ

ที่มา

trending trending sports recipe

Share on

Tags