ราคาที่ลงท้ายด้วยเลข 9 กลายเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป ตั้งแต่เสื้อยืดตัวละ 69 บาท ไปจนถึงมือถือราคา 40,199 บาท เชื่อไหมว่ากลยุทธ์การกำหนดราคาที่ลงท้ายด้วยเลข 9 นั้นมีมานานนับร้อยปี! เรียกได้ว่าเป็นจิตวิทยาเบื้องหลังการตลาดที่อยู่คู่กับมนุษย์มาอย่างยาวนาน
ผู้ประกอบการหลายคน ก็ใช้หลักจิตวิทยานี้ในการกระตุ้นยอดขาย เพื่อสร้างความได้เปรียบทางตลาด แต่การตั้งราคาด้วยเลข 9 นี้ใช้กับทุกคนได้จริงไหม แล้วมันมีที่มายังไง โพสต์นี้ CREATIVE TALK จะบอกให้รู้
👉🏻 กลไกการตั้งราคานี้ทำงานยังไง?
เสน่ห์ของการตั้งราคาสินค้าที่ลงท้ายด้วย 9 เอฟเฟกต์จะอยู่ที่ตัวเลขด้านซ้าย เพราะมนุษย์ต้องอ่านจากซ้ายไปขวา ซึ่งการตั้งราคาสินค้าที่ 999 แทนที่จะตั้งเป็น 1,000 ก็จะดึงความสนใจของผู้บริโภคที่เลขเริ่มต้น จนทำให้เกิดการรับรู้ราคาที่ถูกกว่า ยกตัวอย่าง ถ้าเราตั้งราคา 1,000 บาท คนก็จะคิดว่าสิ่งนี้แพงเพราะเป็นของราคาหลักพัน แต่ถ้าตั้ง 999 คนก็จะคิดว่าสินค้านี้ถูกเพราะมีราคาหลักร้อย ทั้งที่ต่างกันเพียง 1 บาท
เทคนิคการตั้งราคาด้วยเลข 9 นำไปสู่การกระตุ้นยอดขายที่เพิ่มขึ้น ดังที่เห็นว่าร้านอาหารมากมายมักจะตั้งราคาแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นร้าน KFC ที่มักมีเมนูลงท้ายด้วยเลข 9 นอกจากนั้นร้านชานมไข่มุกตั้งแต่แบรนด์เล็กไปจนพรีเมียม ก็ยังตั้งราคาลงท้ายด้วย 9 แทบทุกแบรนด์ ยังไม่รวมร้านบุฟเฟต์ทั้งหลายแหล่ก็มักตั้งราคาล่อตาล่อใจ ทั้งที่ราคานี้ยังไม่รวม Vat กับเซอร์วิสชาร์จ ที่พอคิดราคาออกมา ลมก็แทบจะจับเอา
👉🏻 กลไกการตั้งราคาเลข 9 ใช้ได้กับทุกคนไหม?
ตรงกันข้ามกับสิ่งที่คนนิยมเชื่อกัน แม้ว่าราคาที่ลงท้ายด้วย 9 จะดึงดูดผู้บริโภคได้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะคิดไม่ทันหรอกนะ โดยงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Journal of Consumer Research ก็ได้บอกว่าเอฟเฟกต์นี้ จะใช้ได้เฉพาะคนที่ไม่ถนัดด้านตัวเลขเท่านั้นแหละ
นอกจากนั้นงานวิจัยยังระบุเพิ่มเติมว่า คนที่สามารถคิดเลขได้ จะตอบสนองต่อราคาได้ดีที่สุด ก็ต่อเมื่อข้างหน้าเลข 9 เป็นเลขคี่ อาทิ 179 หรือ 199 แต่คนที่ไม่ถนัดด้านตัวเลขจะตอบสนองกับสินค้า ที่ข้างหน้าเลข 9 เป็นเลขคู่ เช่น 169 หรือ 189
ฉะนั้นแล้ว ไม่ใช่ผู้บริโภคทุกคนที่จะตอบสนองกับสินค้าที่ลงท้ายด้วยเลข 9 เหมือนกัน เพราะการตอบสนองต่อราคานี้ จะแตกต่างกันไปตามกระบวนการความคิด
👉🏻 ต้นกำเนิดของราคาที่ลงท้ายด้วยเลข 9 มาจากไหน?
หนึ่งในทฤษฎีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเกี่ยวกับการตั้งราคานี้ มาจากช่วงต้นทศวรรษ 1900 ในช่วงนั้น ร้านค้าได้มีการนำเครื่องแคชเชียร์ที่บันทึกเงินสดได้มาใช้ และถ้าจะใช้เครื่องคิดเงินนี้ จะต้องมีการเปิดลิ้นชักทุกครั้งเพื่อบันทึกรายการสินค้า ทว่าถ้าของบางอย่างมีราคา 1 ดอลลาร์ ลูกค้าก็มักจะจ่ายเงินให้แคชเชียร์ 1 ดอลลาร์เป๊ะ ๆ ซึ่งแคชเชียร์ก็มักจะแอบทุจริตด้วยการรับเงินไปเลย โดยไม่เปิดเครื่องคิดเงิน
เพื่อจัดการกับปัญหาทุจริตนี้ ร้านค้าจึงตัดสินใจลดราคาสินค้าลง 1 เซนต์จากราคาจริง นั่นทำให้ถ้ามีคนจ่ายเงินให้แคชเชียร์ 1 ดอลลาร์ แคชเชียร์จะต้องเปิดเครื่องคิดเงินเพื่อคืนเงิน 1 เซนต์ให้กับลูกค้า และฝากเงินกลับไปที่เครื่องคิดเงิน
ราคาที่ลงท้ายด้วยเลข 9 เป็นเรื่องเล่าที่มีมานานกว่าทศวรรษ มันเป็นหลักจิตวิทยา ที่ไม่ว่าจะแบรนด์เล็กใหญ่ก็ต่างหยิบจับมาใส่ อย่างเราจะเห็นได้ว่า สินค้ามากมายมักลงท้ายด้วยเลข 9 กันทั้งสิ้น
ที่มา