เพราะอะไรเมื่ออายุมากขึ้น เราถึงอยากกลับไปสานฝันวัยเด็ก 🤔
ในโลกนี้มีคนจำนวนไม่มากที่โชคดี ได้ทำตามความฝันของตนไปพร้อมกับงานที่รักได้ บางคนรักศิลปะ เลยสมัครเป็นครูศิลปะ และใช้ทุกโอกาสของการสอน ในการพัฒนาศิลปะท้องถิ่นให้ยั่งยืน ซึ่งถือว่าคอมพลีททั้งความฝัน และการทำงาน
ความสามารถในการทำตามความฝัน และได้ทำงานที่ชอบด้วย แทบจะเป็นเป้าหมายสูงสุดของมนุษย์ทุกคน และเราเรียกแรงผลักดันนี้ว่า ‘การเรียกร้อง’ (Calling) หรือก็คือการที่เราได้ทำตามความฝันของตัวเอง
แต่ว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถทำตามข้อเรียกร้องของหัวใจเพื่อไปสู่ฝันได้ นั่นจึงทำให้หลายคนยอมทิ้งความใฝ่ฝัน เพื่อหันสู่โลกความจริง แต่ทั้งที่ลืมไปแล้ว ทำไมบางคนถึงยังอยากทำตามหัวใจ แม้จะถึงวัยที่ไม่ใช่แล้วล่ะ
งานวิจัยในปี 2024 ที่จัดทำโดย เจน สเตอร์จิส (Jane Sturgis) และแคทเธอรีน เบลีย์ (Catherine Bailey) จาก Kings College ได้ให้ความกระจ่างเรื่องแนวคิดของการเรียกร้อง และความเป็นไปได้ที่หลายคนจะทำตามฝันแม้จะอยู่ในบั้นปลายชีวิต ซึ่งพวกเขาค้นพบว่า แม้คนเราจะอายุเท่าไหร่ ก็สามารถกลับไปทำตามความฝันได้ทั้งสิ้น
ชะตาชีวิต หนี้สิน หรือภาระใด ๆ ทำให้คนมากมาย ลืมเลือนความฝันวัยเด็กเมื่อเวลาผ่านไป ทว่าข้อผูกมัดเหล่านี้ไม่อาจคงอยู่ตลอดชีวิต นั่นทำให้ผู้คนสามารถค้นพบการเรียกร้องของหัวใจตนเอง ทำตามความฝันได้อีกครั้ง เพราะเมื่อสถานการณ์ชีวิตเปลี่ยนแปลงไป หลายคนจะค่อย ๆ ฟื้นคืนความปรารถนาเก่าที่เคยมี ซึ่งทีมวิจัยสันนิษฐานว่า จริง ๆ แล้วเราไม่เคยลืมเลือนสิ่งที่ใฝ่ฝัน แต่มันยังหลบซ่อนอยู่ข้างใน เพื่อรอโอกาสใหม่ ๆ ที่จะปลุกการเรียกร้องในหัวใจกลับมา
สเตอร์จิส และเบลีย์ได้ใช้วงการดนตรีในการวิจัย โดยพวกเขาทำการสัมภาษณ์บุคคล 32 คนที่อายุระหว่าง 54-80 ปี ซึ่งนับเป็นบุคคลที่เกษียณอายุแล้ว โดยมีตั้งแต่เจ้าหน้าที่คุมประพฤติ นักบัญชี แพทย์ ทนายความ และผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ ซึ่งทุกคนล้วนเล่นเครื่องดนตรีเป็นงานอดิเรก
สิ่งที่นักวิจัยค้นพบคือ ผู้เข้าร่วมวิจัยทุกคนต่างเจอจุดเปลี่ยนในชีวิต ให้ไม่สามารถทำตามความฝันในการเป็นนักดนตรีได้
👉 คุณ A รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เป็นคนที่มีสปอตไลต์ เขาอยู่ในจุดที่ไฟส่องมาไม่ถึง เขาจึงล้มเลิกความใฝ่ฝันในการเป็นนักดนตรีอาชีพ
👉 คุณ B ถูกพ่อส่งไปเรียนหลักสูตรที่วิทยาลัยเลขานุการ และเธอไม่มีทางเลือกอื่น จึงต้องทำตามสิ่งที่พ่อเลือกไว้
👉 คุณ C ถูกพ่อผลักดันให้เรียนคณิตศาสตร์ที่เขาเกลียดนักหนา
แม้หลายคนจะละทิ้งความปรารถนาของตนมานานหลายปี เนื่องจากเหตุผลหลายประการ แต่ทุกคนก็ยังคงมีความฝันที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในหัวใจ
การวิจัยของสเตอร์จิส และเบลีย์พบว่า แม้หลายคนจะเกษียนอายุจากอาชีพอื่น แต่พวกเขาก็ยังพยายามรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับดนตรีไว้ ไม่ว่าจะเป็นงานอดิเรก หรือการเล่นในโอกาสพิเศษเวลาที่มีคนต้องการ
ทำไมการเกษียนอายุถึงเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ให้หลายคนกลับมาทำตามข้อเรียกร้องของหัวใจในช่วงบั้นปลายชีวิต
นั่นเพราะว่า เราไม่เคยใช้ความฝันเป็นงานหลัก เราซ่อนความใฝ่ฝันไว้ในงานอดิเรก ฉะนั้นแล้วเมื่อเราใช้มันเป็นงานอดิเรก เราจะไม่พบเจอกับ ‘ความโศกเศร้าหรือความล้มเหลว’ และไม่รู้สึกเสียใจที่ต้องรอคอยมานานหลายปีเพื่อทำตามความฝัน
การนำความใฝ่ฝันมาใส่ในงานอดิเรก คือการที่เราบริหารมันด้วยการค่อยเป็นค่อยไป ไม่เหมือนกับการเปลี่ยนไปสู่การไล่ตามสิ่งที่ฝันกะทันหัน ซึ่งทุกครั้งที่ทำงานอดิเรก เราก็เหมือนได้ผ่อนคลาย เพราะได้อยู่กับสิ่งที่หลงใหลเต็มที่ ดังนั้นแล้ว การกลับคืนสู่สังคมอย่างค่อยเป็นค่อยไปนี้ ไม่เพียงแต่บรรเทาความรู้สึกเสียใจหรือความล้มเหลวเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมความรู้สึกของการเติบโต และการได้เติมเต็มความฝันอีกด้วย
ที่สำคัญ การวิจัยของสเตอร์จิส และเบลีย์มอบความหวังแก่คนที่อาจเคยละทิ้งความฝันของตัวเอง เพราะการศึกษาเน้นย้ำว่าการเดินทางไปสู่การเรียกร้องของหัวใจ ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยอายุ หรือการตัดสินใจในอดีต ซึ่งการไตร่ตรองถึงสิ่งที่เคยใฝ่ฝัน และเปิดรับโอกาสในการกลับคืน จะทำให้เราสามารถเริ่มต้นการเดินทางที่เติมเต็มฝันได้ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม
การรู้ว่าเราสามารถตามรอยเส้นทางกลับไปยัง ความสนใจในช่วงแรก ๆ ของชีวิตได้นั้น เป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะไม่ว่าชีวิตจะพลิกผันอย่างไร ก็ไม่เคยสายเกินไปที่จะไล่ตามการเรียกร้องของหัวใจเพื่อทำตามฝัน ถ้าหากสิ่งที่เราทำเพื่อหารายได้ไม่มีเสน่ห์อย่างที่หวัง การกลับไปทำตามความฝันจะคอยอยู่เคียงข้าง เมื่อใดก็ตามที่เราต้องการจะถอยกลับไป
แปล เรียบเรียง: พีรพล สดทรัพย์
ที่มา
- It’s Never Too Late to Find Your Calling
- Trying to find your calling? These 16 tips will get you started