สรุปข้อมูล Workplace Learning Report 2025 คือการรวบรวมแหล่งข้อมูลจาก 3 ส่วนด้วยกัน คือ การสัมภาษณ์ผู้นำด้านทรัพยากรบุคคลระดับโลกม แบบสำรวจ Workplace Learning ประจำปี และข้อมูลจากแพลตฟอร์ม LinkedIn ซึ่งรวบรวมจาก 1 พันล้านสมาชิก, 14 ล้านตำแหน่งงาน, และ 5 ล้านการอัปเดตโปรไฟล์ต่อนาที
โดยรายงานฉบับล่าสุดของ Workplace Learning Report 2025 ชี้ให้เห็นว่า ‘การเรียนรู้สำคัญ...แต่นั่นยังไม่พอ’
เพราะการเรียนรู้ควรจับคู่กับการพัฒนาอาชีพ เช่น การฝึกอบรมผู้นำ, การโค้ช, การโยกย้ายภายในองค์กร ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะช่วย ส่งต่อทักษะสำคัญได้เร็วขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการทางธุรกิจ
ในโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลานี้ ความสามารถในการปรับตัวขององค์กร ขึ้นอยู่กับ "คน" และ "ทักษะ" ที่พวกเขามี โดยปัจจุบัน เกือบครึ่งหนึ่งของผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนรู้และพัฒนาบุคลากร (L&D) มองว่าเรากำลังเผชิญกับ วิกฤตด้านทักษะ โดย 49% เห็นด้วยว่า “ผู้บริหารกังวลว่าพนักงานไม่มีทักษะที่เหมาะสมต่อการขับเคลื่อนกลยุทธ์ของธุรกิจ”
อะไรคืออุปสรรคที่ทำให้การพัฒนาอาชีพยังไปได้ไม่ไกล ?
โดยจากรายงานระบุว่า ภาพที่ชัดเจนที่สุดคือ ทั้งผู้จัดการ, พนักงาน และทีมทรัพยากรบุคคล ต่างเผชิญกับ “ภาระงานมากเกินไป” จนไม่มีเวลาขยับจากงานประจำ ไปสู่การพัฒนาตัวเอง, ทีม และองค์กร
จากแบบสอบถาม ผู้ตอบถูกขอให้เลือก 3 อุปสรรคใหญ่ของการพัฒนาอาชีพ ผลที่ได้ชี้ให้เห็นว่า "เวลาและทรัพยากร" คือปัญหาหลักที่ชัดเจน:
- 50% - บอกว่าผู้จัดการไม่มีการสนับสนุนที่เพียงพอ
- 45% - บอกว่าพนักงานไม่ได้รับการสนับสนุน
- 33% - บอกว่าทีมทรัพยากรบุคคลก็ไม่มีทรัพยากรเพียงพอเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม มีเพียง 11% เท่านั้นที่บอกว่า
“ผู้นำองค์กรไม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอาชีพ”
แสดงว่าโดยรวมแล้ว ผู้บริหารไม่ได้เป็นอุปสรรคโดยตรง แต่พวกเขาอาจยังไม่แก้ปัญหาเชิงระบบ ที่จำเป็นต่อการสนับสนุนให้ผู้จัดการ, พนักงาน และทีม HR สามารถจัดลำดับความสำคัญเรื่องการพัฒนาอาชีพได้จริง
ทำไม "การพัฒนาอาชีพ" ถึงกลายเป็นหัวใจสำคัญของการปรับตัวและการเติบโต?
องค์กรที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอาชีพ มักประสบความสำเร็จในธุรกิจมากกว่าองค์กรที่ไม่ทำ โดย LinkedIn ได้เก็บข้อมูลจากแบบสำรวจ เพื่อตรวจสอบว่าองค์กรต่าง ๆ อยู่ในระดับใดของเส้นทางการพัฒนาอาชีพ โดยองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอาชีพ (Career Development Champions) มีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าองค์กรอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด พวกเขามีความมั่นใจมากกว่าในด้านความสามารถในการทำกำไร รวมถึงการดึงดูดและรักษาคนเก่งไว้ในองค์กร
โดยสรุปองค์กรที่เน้น "การพัฒนาอาชีพ" (Career Development) เห็นผลลัพธ์ดีกว่า และมีแนวโน้มในเชิงของ
- รักษาพนักงานได้มากขึ้น (Retain Talent)
- ดึงดูดคนเก่งได้ดีขึ้น (Attract Talent)
ที่สำคัญคือ ผู้นำด้านนี้ยัง มีความพร้อมสูงในการปรับตัวสู่ยุค AI (Generative AI)
- โดย 51% ของกลุ่มนี้บอกว่าองค์กรของตน เป็นผู้นำในการนำ AI มาใช้ (อยู่ในขั้น ‘เร่งพัฒนา’ หรือ ‘เป็นผู้นำ’) เมื่อเทียบกับเพียง 36% ขององค์กรที่ยังมีโปรแกรมพัฒนาอาชีพที่ยังไม่ดีพอ
พูดง่าย ๆ คือ องค์กรที่เป็นผู้นำด้านการพัฒนาอาชีพ
มีแนวโน้มจะก้าวสู่การใช้ AI ได้เร็วกว่ากลุ่มอื่นถึง 42%
ดัชนีพัฒนาอาชีพ (Career Development Index) ส่งผลต่อผลลัพธ์ธุรกิจโดยตรง
ข้อมูลจากแพลตฟอร์ม LinkedIn แสดงให้เห็นว่าองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอาชีพ มักได้รับผลลัพธ์เชิงบวกมากกว่า
-
พนักงานมีส่วนร่วมกับการเรียนรู้มากขึ้น (2.4 เท่า)
→ ซึ่งช่วยให้ทักษะที่จำเป็นต่อธุรกิจหมุนเวียนอยู่ในองค์กรอย่างต่อเนื่อง -
อัตราการเลื่อนตำแหน่งโดยรวมสูงขึ้น (2.6 เท่า)
→ แสดงให้เห็นว่าพนักงานมีผลงานที่โดดเด่น และเติบโตในสายงาน -
มีอัตราการเลื่อนตำแหน่งไปสู่บทบาทผู้นำสูงขึ้น (3.4 เท่า)
→ หมายถึงองค์กรมีคนพร้อมขึ้นมาเป็นผู้นำที่เข้าใจธุรกิจและมีประสบการณ์ในองค์กร
องค์กรที่มีคะแนน Career Development Index สูง มีอัตราการเรียนรู้ และการเติบโตในอาชีพที่ดีกว่า แนวโน้มแสดงชัดว่า ‘ยิ่งองค์กรพัฒนาอาชีพให้แข็งแรง ผลลัพธ์ทางธุรกิจก็ยิ่งดีขึ้นตามลำดับ’
“ทักษะ” คือหัวใจของธุรกิจในยุคที่เปลี่ยนแปลงเร็ว
-
โดย 91% ของผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนรู้ (L&D) เห็นพ้องว่า การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องสำคัญต่อความสำเร็จในอาชีพมากกว่าที่เคย
-
88% ขององค์กรกังวลเรื่องการรักษาพนักงาน และเชื่อว่า การให้โอกาสเรียนรู้ เป็นกลยุทธ์สำคัญอันดับ 1
อีกข้อมูลที่น่าสนใจจาก LinkedIn ได้วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อระบุว่า ทักษะใดที่องค์กรมีแนวโน้มสูญเสียมากที่สุด และทดแทนได้ยากที่สุด ผลพบว่า ทักษะที่เสี่ยงมากที่สุดคือ “การวางกลยุทธ์ทางธุรกิจ (Business strategy)” ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสามารถในการตั้งเป้าหมาย และปรับตัวตามแรงกดดันทางตลาด นอกจากนี้ ยังมีทักษะสำคัญอื่น ๆ ที่มักสูญหายเมื่อพนักงานลาออก เช่น การวางแผนกลยุทธ์, การบริหารทีมขาย, การวางแผนโปรเจกต์ เป็นต้น
ซึ่งล้วนเป็นทักษะที่ต้องอาศัย การคิดเชิงวิพากษ์, ความสามารถในการจัดการความไม่แน่นอน ซึ่งล้วนแล้วต้องอาศัยประสบการณ์ในองค์กร
10 ทักษะสำคัญที่องค์กรมักสูญเสีย และ แทนที่ได้ยากที่สุด
- กลยุทธ์ทางธุรกิจ (Business strategy)
- การวางแผนกลยุทธ์ (Strategic planning)
- การบริหารทีมขาย (Sales management)
- การวางแผนโปรเจกต์ (Project planning)
- การจัดการงานปฏิบัติการ (Operations management)
- กลยุทธ์การตลาด (Marketing strategy)
- การบริหารจัดการ (Management)
- การพัฒนาธุรกิจ (Business development)
- การเจรจาต่อรอง (Negotiation)
- ภาวะผู้นำในทีม (Team leadership)
ในวันนี้องค์กรต้องไม่ใช่แค่ "โปรโมตคน" แต่ต้อง “สร้างการเติบโต” ที่ต่อเนื่อง
“การพัฒนาอาชีพ คือสิ่งที่ช่วยให้พนักงานรู้สึกว่ากำลังก้าวหน้า ไม่ใช่แค่ตำแหน่งที่เปลี่ยน” คำพูดจาก Josh Bersin, นักวิเคราะห์อุตสาหกรรม HR
การเลื่อนตำแหน่งไม่ใช่ทางเดียวที่จะทำให้พนักงานรู้สึกว่าตัวเองก้าวหน้าในอาชีพ แต่หลายคีย์สำคัญที่จะสร้างการเติบโจได้จริงคือ
- มีการโค้ช & เทรนนิ่งผู้นำ
- องค์กรต้องจัดคนที่ใช่, ทักษะที่ตรงกับตำแหน่งที่เหมาะ ในเวลาที่ถูกต้อง
- ปรับการเรียนรู้ให้เหมาะกับแต่ละคน เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
- AI เข้ามาช่วยให้การเรียนรู้เป็นแบบเฉพาะบุคคล และอัปเดตทักษะได้ทันความต้องการ
- องค์กรควรช่วยพนักงานค้นหาจุดแข็ง, วางเป้าหมาย, สร้างทักษะ และเชื่อมต่อโอกาสในองค์กร
- การเปลี่ยนบทบาทภายใน วางระบบสนับสนุนพนักงานให้เติบโตในระยะยาว
- การทำงานร่วมกับทีม HR และ Talent Management สำคัญมากในการขับเคลื่อนทักษะ
อีกส่วนที่สำคัญมาก ๆ คือ การวัดผลกระทบทางธุรกิจให้ชัด (Measure business impact) โดยวิธีวัดผลที่นิยมที่สุดคือ
- 72% - ดูจาก Engagement ของพนักงาน
- 64% - วัดจากการรักษาพนักงาน (Retention)
- 55% - ใช้เกณฑ์การพัฒนาทักษะใหม่
Workplace Learning Report 2025

แปล เรียบเรียง: กิตติภพ ปานล้ำเลิศ
ที่มา
- Workplace Learning Report 2025: The rise of career champions
- Workplace Learning Report 2025: The rise of career champions (PDF)