ทำธุรกิจกับเพื่อนมีสิทธิ์เฟลจริงไหม

8 เช็กลิสต์ ถามตัวเองก่อนเริ่มทำธุรกิจกับเพื่อน

Last updated on ก.พ. 15, 2024

Posted on ก.พ. 7, 2024

การเริ่มต้นธุรกิจกับเพื่อน เปรียบเหมือนฝันที่เป็นจริง เพราะเราจะได้ทำงานกับคนที่ไว้วางใจ และสนิท รู้ใจกันอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หลาย ๆ คนอาจไม่ได้นึกถึงก็คือ การเริ่มต้นธุรกิจกับเพื่อนมักมาพร้อมกับปัญหา และข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง

เรื่องสยองอย่างหนึ่งในโลกธุรกิจคือ มักจะมีคติห้ามไม่ให้ทำธุรกิจกับเพื่อน เพราะไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเล็กหรือใหญ่ต่างก็ล่มสลาย เพราะผู้ก่อตั้งมักเริ่มต้นจากการเป็นเพื่อนที่ดี แต่แล้วความสัมพันธ์ก็เปลี่ยนไปจนเกิดการแตกหัก

การศึกษาของ Harvard Business School เผยให้เห็นว่าในบรรดาบริษัทสตาร์ตอัปมากมายที่ตั้งมา เหล่าบริษัทที่ก่อตั้งด้วยกลุ่มเพื่อนได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นองค์กรที่ไม่มั่นคงที่สุด เพราะบริษัทที่ก่อตั้งโดยเพื่อนจะมีอัตราการลาออกของผู้ก่อตั้งเกือบ 30%

ถ้าหากเราเริ่มต้นธุรกิจไปพร้อมกับทำงานประจำไป ก็ควรสร้างข้อบังคับพื้นฐาน และกฏที่เป็นลายลักษณ์อักษรซะก่อน เพื่อจะได้แน่ใจว่าทั้งเรากับเพื่อน สามารถทำงานภายใต้ข้อบังคับเหล่านี้ได้ แต่ถ้ายังไม่แน่ใจก็ลองถามตัวเองด้วยคำถามสำคัญ 8 ข้อนี้ดูก่อน

✨ 1. เรามีเป้าหมายธุรกิจเดียวกันหรือเปล่า ✨

เป้าหมายถือเป็นธงสีแดงที่สำคัญ หากเราต้องการสร้างธุรกิจที่ค่อย ๆ โต ซึ่งอยู่ได้นานหลายทศวรรษ แต่เพื่อนของเราอยากสร้างธุรกิจที่มีการเติบโตมหาศาล จนสามารถมีคนมาขอซื้อกิจการได้ภายในหนึ่งหรือสองปี ความแตกต่างพื้นฐานในกลยุทธ์การเติบโตเหล่านี้ จะนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะเรากับเพื่อนมีเป้าหมายธุรกิจที่แตกต่างกัน


✨ 2. เรามีทัศนคติไปในทางเดียวกันไหม ✨

เช่นเดียวกับการออกเดต ถ้าหากเพื่อน (และผู้ที่อาจเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ) ของเรา มีทัศนคติ และความเชื่อที่แตกต่างกันอย่างมาก ลองคิดให้รอบคอบก่อนที่จะตกลงทำสัญญา เพราะปัญหายิบย่อยอาจเกี่ยวพันไปถึงการเงินกับอนาคตของบริษัท ลองคิดดูว่าถ้าเพื่อนเราเป็นคนที่ใช้เงินเดือนชนเดือน ไม่คิดหน้าคิดหลัง เราจะฝากธุรกิจไว้กับคนที่นิสัยแบบนี้จริงเหรอ


✨ 3. ความสามารถของเรากับเพื่อน ส่งเสริมซึ่งกันและกันหรือไม่ ✨

ความเสี่ยงอีกประการหนึ่ง คือปัญหาของทักษะ เพราะบางครั้งเพื่อนของเราอาไม่มีทักษะที่จะช่วยส่งเสริมธุรกิจได้ ฉะนั้นก่อนจะเริ่มทำธุรกิจกับเพื่อนเมื่อไหร่ ตรวจสอบให้แน่ใจว่าธุรกิจที่เรากำลังสร้าง จะเป็นประโยชน์ต่อเราทั้งคู่อย่างแท้จริง ต้องเช็กดูให้ดีว่าความสามารถของแต่ละคนส่งเสริมกันหรือไม่ เพราะถ้าไม่ มันอาจนำไปสู่ความไม่พอใจได้

จงอย่าลืมว่าเราทำธุรกิจเพื่อหากำไร ไม่ใช่เพราะอยากผลาญเวลาทิ้งไปร่วมกัน แล้วคิดว่ามันจะสนุก


✨ 4. นิสัยการทำงานของเรากับเพื่อนสอดคล้องกันไหม ✨

เวลาคือสิ่งสำคัญในโลกของธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ธุรกิจกำลังเริ่มต้น แต่เรากับเพื่อนยังคงต้องทำงานประจำ ควรคุยกันให้ชัดว่าใครจะดูแลในส่วนใด ใครจะเสียสละเวลาช่วงไหนในการมาเซตอัปธุรกิจ


✨ 5. กลยุทธ์เริ่มต้นในการแก้ไขข้อขัดแย้งคืออะไร ✨

แน่นอนว่าการทำอะไรที่แชร์กัน ต้องมีการกระทบกระทั่งทางความคิดอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเรื่องเงิน บทบาท หรือทิศทางของบริษัท ซึ่งอาจทำให้มิตรภาพที่เหนียวแน่น ขาดสะบั้นได้ ฉะนั้นแล้วเมื่อจะคุยอะไร ควรคุยในฐานะพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ ไม่ใช่ในฐานะเพื่อน เพราะการใช้ความรู้สึกมาตัดสิน มีโอกาสที่แนวโน้มเหล่านี้จะส่งผลไปยังธุรกิจเรา


✨ 6. คู่ค้าทางธุรกิจแต่ละราย ควรมีบทบาท และความรับผิดชอบเฉพาะด้านใดบ้าง ✨

สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักถึงความเสี่ยงที่มาพร้อมกับมิตรภาพ เราต้องกำหนดบทบาทเสริมของคู่ค้าทางธุรกิจให้ชัดเจน และตรวจสอบให้แน่ใจว่าบทบาทเหล่านี้มีส่วนร่วมกับความสนใจของเราทั้งคู่ ซึ่งสำคัญคือ เราควรแยกคู่ค้าออกจากการตัดสิน เพราะหลายครั้งคู่ค้ามักจะมีผลต่อการตัดสินใจ ซึ่งอาจสร้างปัญหาในอนาคตได้


✨ 7. ชีวิตส่วนตัวของเรามั่นคงแค่ไหน ✨

ทำธุรกิจต้องมีเวลา และการเสียสละ แต่เราคงไม่อยากเริ่มต้นธุรกิจกับเพื่อนที่วางแผนจะขายเข้าของ เพื่อย้ายไปอยู่ต่างประเทศถาวรหรอกนะ ฉะนั้นถ้าจะทำธุรกิจต้องเลือกพาร์ตเนอร์ ดี ๆ ที่มั่นคงพร้อมจะช่วยเราดูแล


✨ 8. เราทั้งคู่เต็มใจที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำ เมื่อผู้เชี่ยวชาญบอกหรือไม่ ✨

แน่นอนว่าการทำธุรกิจต้องมีข้อติ่อยู่เสมอ เพื่อให้เรานำฟีดแบ็กเหล่านั้นไปพัฒนาต่อได้ เราต้องแน่ใจว่า
ทีมสามารถรับมือกับคำวิจารณ์ที่สร้างสรรค์ และรู้ว่าเมื่อไหร่ที่ควรเคารพการตัดสินใจของตนเอง หรือพาร์ตเนอร์

เพื่อนที่ดีที่เริ่มต้น และทำธุรกิจร่วมกัน แต่มักไม่ได้จบลงด้วยความสุขเสมอไป แลนำไปสู่ความเสียหายต่อธุรกิจ หรือมิตรภาพ เพราะบางครั้ง การทำธุรกิจร่วมกัน ก็ทำให้แม้แต่คู่รักก็ไม่มีวันมองหน้ากันติดอีกเลย


หลังจากที่คุณผู้อ่านพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ระดมความคิด และชั่งน้ำหนักข้อดี-ข้อเสียแล้ว หากพบว่าแนวคิดการให้เพื่อนมาเป็นหุ้นส่วนของทางธุรกิจยังคงเป็นผลดี ก็เริ่มต้นได้เลย เพียงแต่ต้องอย่าลืมว่า เราอาจเสี่ยงต่อความล้มเหลว ที่ทำให้เสียไปทั้งเงินกับมิตรภาพในเวลาเดียวกันได้


แปล เรียบเรียง: พีรพล สดทรัพย์

ที่มา

trending trending sports recipe

Share on

Tags