ความสามารถพิเศษของฉัน: เผือกเก่งกว่าใคร ✅ ✅ ✅
มนุษย์ทุกคนมีพลังวิเศษเฉกเช่นเดียวกับซูเปอร์ฮีโร่ และสิ่งนั้นคือความอยากรู้อยากเห็น ซึ่งความอยากรู้อยากเห็น ช่วยให้เราไปสำรวจสิ่งที่ไม่รู้จัก สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ และก้าวข้ามขอบเขตของปัญหาได้ แต่หลายครั้ง ความอยากรู้อยากเห็นของเรา ก็มักถูกขัดขวางโดยศัตรูภายใน ที่คอยทำลายความมั่นใจ ด้วยคำว่า "ฉันทำไม่ได้" จนท้ายที่สุด ความอยากรู้อยากเห็นของเรา ก็จะกลายเป็นความคิดลบไป
ปัจจุบันมนุษย์ตระหนักถึงคุณค่าของความอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น โดยในเว็บไซต์ Psychology Today ได้กล่าวว่า ต่อจากนี้มันอาจเป็นสกิลสำคัญสำหรับ CEO และลีดเดอร์คนอื่น ๆ ซึ่งเอ็ม บาสซีย์ (M. Bassey) ประธานเจ้าหน้าที่การเรียนรู้ และ Chief Diversity Officer ของบริษัท The Kraft Heinz Company ก็ได้กล่าวไว้ในบทความ ‘365 Days of Learning: Embracing Learning as a Superpower’ ว่า “ฉันขับเคลื่อนบริษัทระดับโลก ด้วยวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ความคิดสร้างสรรค์ที่โดดเด่น และความอยากรู้อยากเห็นทางปัญญา”
ปีเตอร์ ดรักเกอร์ (Peter Drucker) บิดาแห่งการบริหารสมัยใหม่ กล่าวว่า เขาใช้ชีวิตด้วยความอยากรู้อยากเห็นมาตลอด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในความสำเร็จของเขา เพราะการอยากรู้อยากเห็นช่วยให้จิตใจของเขากระตือรือร้น และมีชีวิตชีวา เพื่อให้เขายังรู้สึกว่าตัวเองต้องเป็นคนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ว่าจะอยู่ในวัยชรา เขาก็ยังเพิ่มความสดให้กับต่อมความอยากรู้อยากเห็นด้วยการเปิดรับความคิด และข้อมูลใหม่ ๆ จวบจนลมหายใจสุดท้าย
ปีเตอร์ ดรักเกอร์ได้แนะนำ 5 เทคนิคที่ช่วยให้เราสามารถเพิ่มต่อมอยากรู้อยากเห็น เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ได้ตลอดชีวิต
1. หัด ‘เอ๊ะ’ ให้เป็น
ดรักเกอร์ให้คำปรึกษานักธุรกิจ และองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรมากมาย เขาโชคดีที่เคยเป็นนักข่าว นั่นทำให้เขาได้ทักษะตั้งคำถามติดตัวมาด้วย ซึ่งการตั้งคำถามจะช่วยให้เราได้รับข้อมูลที่เจาะลึก และเต็มไปด้วยข้อมูลเชิงลึกเพื่อนำไปพัฒนากับงานมากขึ้น
2. ใช้เวลา 3 เดือนเพื่อเรียนรู้ตลอดชีวิต
ถ้าอยากรู้เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากพอในเชิงลึก เราอาจต้องใช้เวลาถึง 3 เดือนในการเข้าไปคลุกคลีเพื่อศึกษาโปรเจกต์นั้น ๆ นอกจากนั้นแล้ว ถ้าอยากรู้จักข้อมูลเชิงลึกบางอย่างมากขึ้น การเข้าไปคุยกับคนทำงานที่เกี่ยวข้อง การอ่านหนังสือ บทความ นิตยสาร วารสารวิชาการ และรายงานของรัฐบาล ยังช่วยบริหารต่อมอยากรู้อยากเห็น เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้
3. ลองคุยกับคนไม่รู้จักดูบ้าง
สำหรับโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ดรักเกอร์ใช้ประโยชน์จากแหล่งข้อมูลที่ดูเหมือนไม่น่าเป็นไปได้ในบางครั้ง อาทิ การคุยกับแท็กซี่เมื่อไปเที่ยวในเมืองใหม่ เพราะการได้ลองคุยกับคนที่ไม่รู้จัก ช่วยเปิดโอกาสให้เรา สามารถฝึกวิธีตั้งคำถามเพื่อพัฒนาศักยภาพได้
4. ลอง(คุยกับคนที่)ทำงานเกี่ยวกับหนังสือ
แม้ว่ายุคสมัยนี้ คนจะเข้าห้องสมุดกันน้อยลง แต่บางครั้งการได้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับหนังสือจำพวกบรรณารักษ์ หรือคนขายหนังสือก็ช่วยให้เราเป็นคนที่กระตือรือร้นด้านการอยากรู้อยากเห็นได้
เนื่องจากงานเหล่านี้เป็นงานที่ต้องถามเพื่อให้รู้ว่าสิ่งที่ต้องการคืออะไร เพราะพวกเขาจะมีเทคนิคถามคำถาม เพื่อให้คนถามได้คำตอบที่เป็นประโยชน์ นอกจากนั้นการทำงานที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ ยังช่วยให้พวกเขารักษาทัศนคติว่า ‘ไม่มีคำถามไหนที่โง่’ อยู่กับตัวได้ ฉะนั้นแล้วการกลับไปใช้ห้องสมุดหรือร้านหนังสือ เพื่อพูดคุยกับบรรณารักษ์บ้างก็ช่วยให้เราฝึกต่อมความอยากรู้อยากเห็นเราได้นะ
5. ปีนออกนอกคอมฟอร์ตโซน
ดรักเกอร์สนับสนุนแนวคิดที่ว่า บุคคลในองค์กรไม่ควรรู้แค่เรื่องที่อยู่ในองค์กร นั่นแปลว่าเราควรออกไปพบปะคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องบ้าง อาทิพาร์ตเนอร์บริษัท, ลูกค้า, ผู้ที่ไม่ใช่ลูกค้า, ซัพพลายเออร์ และตำแหน่งอื่น ๆ เพื่อทำความรู้จักองค์กรในส่วนอื่นมากขึ้น ฉะนั้นแล้วเพื่อให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพความอยากรู้อยากเห็นในตัวเรา ลองให้มีการทำงานข้ามสายงาน หริอเข้าร่วมเวิร์กช็อปที่ได้ทำกิจกรรมที่อยู่นอกเหนือคอมฟอร์ตโซนของแต่ละคน ก็จะช่วยพัฒนาทักษะเหล่านี้ได้
ความอยากรู้อยากเห็น ไม่ใช่สกิลที่ฟุ่มเฟือยแต่เป็นสิ่งจำเป็น เพราะมันช่วยให้หัวใจของเรา เต็มไปด้วยองค์ประกอบสำคัญของความสุข และความสมหวังได้ ดังนั้น จงยอมรับอยากรู้อยากเห็นที่อยู่ในกายของเรา และใช้มันเป็นกุญแจสำคัญเพื่อปลดล็อกศักยภาพที่แท้จริงมากขึ้นซะ
แปล เรียบเรียง: พีรพล สดทรัพย์
ที่มา
- Curiosity: The One Superpower We Don't Use Enough, And How To Use It
- Your Curiosity Is Your Superpower