“เดือนนี้เราทำไปได้แค่ 70% ของเป้าเอง” 😥
หลายครั้ง เรามักจะรู้สึกเศร้าเมื่อไปไม่ถึงเป้าหมาย อาจจะเฟลเพราะ KPI ที่ตั้งไว้ หรือจากความเพอร์เฟกต์ชันนิสต์ในใจ แต่พอมันไปไม่ถึงยอดที่คิดไว้ ก็มักจะรู้สึกเซ็งทุกที
ตามปกติแล้ว ถ้าจะบรรลุเป้าหมาย หลายคนมักจะตั้ง KPI ไว้ที่ 100% แต่ถ้าเรากำลังทำ OKRs อยู่ การทำได้แค่ 70% ก็ไม่ใช่เรื่องแย่หรอกเลยล่ะ
📊 รู้จักเครื่องมือ OKRs ก่อน 📊
คำว่า OKRs หรือ Objectives and Key Results เป็นหนึ่งในเครื่องมือตั้งเป้าหมายที่หลายองค์กรใช้กัน ซึ่ง OKRs ถูกนำมาใช้ครั้งแรกที่ Google โดยนักลงทุนจอห์น โดเออร์ (John Doerr) และเขาได้สรุปเทคนิคนี้ ไว้ในหนังสือเรื่อง Measure What Matters ของตน ซึ่งเป็นคำแนะนำสำหรับใครที่ต้องการตั้งเป้าหมาย ในเรื่องนั้น ๆ
ตั้งแต่ที่ Google ได้เริ่มนำ OKRs มาใช้ ก็ทำให้บริษัทแห่งนี้เติบโตขึ้น ซึ่งบริษัทเทคฯยักษ์ใหญ่อื่น ๆ อาทิ LinkedIn, Twitter, Gett, Uber และ Microsoft จึงเริ่มนำ OKRs มาใช้ตาม จนกลายเป็นสิ่งที่ใช้ในทุกองค์กร
การทำ OKRs คือการกำหนดเป้าหมายใหญ่ขององค์กรขึ้นมา โดยเป้าหมายใหญ่นั้น จะต้องครอบคลุมอีก 3-5 ผลลัพธ์ของพนักงาน นั่นทำให้ระบบ OKRs ถูกใช้ในทุกระดับขององค์กร ตั้งแต่ภาพใหญ่อย่างระดับบริษัท ภาพขนาดกลางของทั้งทีม และภาพขนาดเล็กของบุคคล ซึ่งการทำ OKRs นี่แหละ ที่ช่วยให้องค์กรหลายแห่ง สามารถเติบโตขึ้นถึง 10 เท่าเลยทีเดียว
📊 ตั้งเป้าหมายด้วยความทะเยอทะยาน 📊
ถ้าอยากลองนำ OKRs มาใช้ เราต้องดูก่อนว่า OKRs แบบไหน ที่เหมาะสมกับเรา ซึ่ง OKRs แบ่งเป็น 2 ประเภทคือแบบคำมั่นสัญญา (Committed) และแบบทะเยอทะยาน (Aspirational) โดยแบบที่สามารถนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพให้ตัวเราได้ก็คือ OKRs แบบทะเยอทะยานนั่น
OKRs แบบทะเยอทะยานคือตั้งการเป้าหมายที่ใหญ่มาก แต่ไม่จำเป็นต้องไปถึงเป้าแบบ 100% ก็ได้ ซึ่งการตั้งเป้าใหญ่นี้ต้องครอบคลุมเป้าหมายของทุกคนในทีม และลูกทีมต้องรับทราบถึงความเสี่ยงนี้
ตัวอย่าง
ตั้งเป้าหมาย OKRs แบบทะเยอทะยาน
👉 หากเราทำธุรกิจที่มีรายได้ 1–5 แสนบาทต่อเดือนอยู่แล้ว ลองเปลี่ยนเป็นลองตั้งเป้าในการทำธุรกิจให้ได้ 1 ล้านบาทต่อเดือนแทน ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยให้ทั้งองค์กรได้ขับเคลื่อนมากขึ้น ว่าทำอย่างไรถึงจะไปสู่เป้านั้นได้
การปฏิบัติ OKRs แบบทะเยอทะยาน
👉 ทีมมาร์เก็ตติงมีการรีเสิร์ชความต้องการของลูกค้า ในสินค้าใหม่ ๆ
👉 ทีมขายเข้าคอร์สอบรมเพื่อให้ขายในตลาดที่มีรายได้สูงขึ้น
👉 ทีมหลังบ้านย้ายลูกค้ารายเล็กออกไป เพื่อให้บัญชีรายชื่อลูกค้าส่วนใหญ่ มีแต่ลูกค้ารายใหญ่
เราจะเห็นเลยว่าการตั้งเป้าหมายขององค์กรที่ใหญ่ ทำให้ทีมสามารถพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น
📊 สำเร็จคือ 70% 📊
ความทะเยอทะยานเป็นหัวใจสำคัญที่ OKRs มุ่งหวัง และนั่นคือที่มาของ 70%
การใช้เทคนิคนี้ Google จะตั้งเป้าหมายที่สูงไว้ เพื่อให้ทีมฝันใหญ่ นั่นทำให้วัตถุประสงค์อาจดูเวอร์เกินกว่าที่จะเป็นไปได้ ทว่าการตั้งเป้าที่ใหญ่จะช่วยจูงใจลูกทีม ดังนั้นแล้ว การทำ OKRs แบบทะเยอทะยาน จึงไม่จำเป็นต้องทำ 100% แต่ทำถึง 70% ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว เพราะเกินกว่านั้นคือโบนัส
สำหรับใครที่จะนำเทคนิค OKRs ไปใช้ โปรดทราบว่าเทคนิคนี้คือวัตถุประสงค์ระยะสั้น และมีเดดไลน์ตายตัว ซึ่งช่วยเร่งศักยภาพในกรณีที่ทีมโดนเวลาบีบได้ แต่มันไม่ใช่เทคนิคที่ใช้ได้ตลอด เพราะบางครั้งการตั้งเป้าหมายที่สูงเกินไป และสูงอยู่ตลอด ก็อาจทำให้ทีมเสี่ยงต่อภาวะล้า
ฉะนั้นแล้ว แม้เทคนิค OKRs จะเพิ่มประสิทธิภาพได้ถึง 10 เท่า แต่เราก็ควรนำเทคนิคนี้มาใช้เมื่อจำเป็น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการที่มีอยู่ ภายในกรอบเวลาที่กำหนด
แทนที่จะประสบความสำเร็จ 100% ให้ตั้ง OKRs ที่มีเป้าหมาย 70% เพราะการมุ่งมั่นเพื่อ 70% จะทำให้เรารู้สึกว่าเดิมพันสูงน้อยลง ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ทีมมีพื้นที่หายใจ เพื่อนำเวลาเหล่านั้นมาบูสต์แรงจูงใจให้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้มากขึ้น
แปล เรียบเรียง: พีรพล สดทรัพย์
ที่มา
- Google OKR Success Story and Goal-Setting Technique
- OKRs: Why You Should Strive for 70% of Goals
- Google’s OKR success story