ทำไมบางครั้ง เวลาเราหัวร้อนกลับคิดงานออกกันนะ
เราทุกคนรู้อยู่แล้วว่า การหัวร้อนในงานเป็นสิ่งไม่ดี เพราะโดยทั่วไป มันจะพาไปสู่ผลลัพธ์ที่อาจจะแย่กว่าเดิม จนอาจทำให้งานเสียได้ ฉะนั้นเราจึงรู้กันว่าอย่าเอาความโกรธ ความหัวร้อนเหล่านี้มาลงใส่งาน เพราะมันทำให้งานมีปัญหาได้
ทว่ากลับมีชายคนหนึ่งที่อารมณ์ร้อนแล้วดันทำให้งานไปรอด ซึ่งเขาคนนั้นไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือสตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) อดีตผู้บริหารของ Apple ผู้ล่วงลับนั่นเอง
ซึ่งคนรอบตัวจอบส์มักจะบอกว่า เวลาลูกทีมทำพลาด จอบส์จะหัวร้อนแรงมาก จนทำให้พนักงานหลายคนกลัวคำดุด่าของจอบส์ไปเลย ทว่าสิ่งนี้แหละกลับเป็นอาวุธลับของสตีฟ จอบส์
แม้จะฟังดูโหดร้าย แต่ในเว็บไซต์ wired.com ก็ได้เผยว่าการหัวร้อนนั้น เป็นส่วนสำคัญของแนวทางการบริหารของจ็อบส์มาโดยตลอด เขาไม่อายที่จะเผชิญหน้ากับความล้มเหลว และจะไม่ระงับความรู้สึกโกรธ เพราะเขาเป็นคนตรงไปตรงมานั่นเอง
ในวารสาร The Journal of Experimental Social Psychology ระบุว่าอาการหัวร้อนช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ได้ดีกว่าความเศร้าหรือสภาวะที่ไร้อารมณ์ นั่นจึงทำให้คนมากมายสามารถแก้ปัญหา หรือคิดงานออกตอนที่หัวร้อนแบบจัด ๆ ว่าแต่ทำไมถึงเป็นแบบนั้น
ในบางบริบท อาการหัวร้อนอาจเป็นประโยชน์จริง ๆ โดยแนวคิดเหล่านี้ได้ถูกวิจัยโดย มัทไธจ์ส บาส (Matthijs Baas), คาร์สเตน เดอ ดรอย (Carsten De Dreu) และเบอร์นาร์ด ไนจ์สตัด (Bernard Nijstad) ซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสาร The Journal of Experimental Social Psychology
ในการศึกษาเบื้องต้น นักวิจัยพบว่าความรู้สึกหัวร้อนช่วยให้เราหาวิธีคิดแบบไม่มีตรรกะได้ ซึ่งสอดคล้องกับการแก้ปัญหาที่ ‘สร้างสรรค์’ โดยในการวิจัยนักวิจัยได้กระตุ้นอารมณ์จากผู้เข้าร่วมการทดลองด้วยการทดลอง 2 แบบ แบบที่ 1 คือทดลองด้วยการให้ครีเอทีฟด้วยความโกรธ และแบบที่ 2 คือทดลองให้ครีเอทีฟด้วยความรู้สึกเศร้า หรือสภาวะที่ไร้อารมณ์
จากนั้นให้ผู้ร่วมทดลองมาระดมความคิด ซึ่งพวกเขาพบว่าผู้เข้าร่วมที่หัวร้อน จะสร้างแนวคิดที่แปลกใหม่มากขึ้น เมื่อเทียบกับผู้เข้าร่วมที่เศร้าหรือไม่แสดงอารมณ์ อย่างไรก็ตาม ประโยชน์นี้ปรากฏเฉพาะในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น เพราะท้ายที่สุด ในตอนท้ายผู้เข้าร่วมที่หัวร้อนก็เค้นไอเดียได้มากเท่ากับผู้เข้าร่วมคนอื่น ๆ เหมือนเดิม
แม้ว่าความโกรธอาจไม่เป็นที่พอใจ แต่ก็มีคุณลักษณะหลายอย่างที่อาจเอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์ได้
👉 ประการแรก ความโกรธเป็นความรู้สึกที่มีพลังสำคัญ สำหรับการเอาใจใส่อย่างต่อเนื่องซึ่งจำเป็นต่อการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์
👉 ประการที่สอง ความโกรธนำไปสู่กระบวนการคิดที่ยืดหยุ่น และไม่มีโครงสร้างมากขึ้น ความยืดหยุ่นนี้เป็นความสามารถในการเชื่อมโยงสิ่งใหม่ เพราะมันเกิดจากความคิดที่ไม่เป็นระบบ
นอกจากนั้นการวิจัยที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุนลักษณะของอาการหัวร้อนพบว่า คนที่โกรธมีแนวโน้มที่จะทำงานได้ดีขึ้นเมื่อต้องเจรจา แต่ต้องเป็นการเจรจาที่อยู่ต่อหน้าเท่านั้น ซึ่งผู้เจรจามักจะต้องการความรู้สึกโกรธ เพื่อทำให้อารมณ์ภายฮึกเหิม
การค้นพบนี้แสดงให้เห็นว่าอารมณ์เชิงลบอย่างความโกรธ ความหัวร้อน อาจส่งผลดีต่อชีวิตประจำวันของเรา อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราควรรู้ไว้คือ ความโกรธไม่น่าจะมีประโยชน์ในทุกบริบท แต่ความโกรธมีแนวโน้มที่จะเป็นประโยชน์เฉพาะในบางสถานการณ์เท่านั้น
การหัวร้อนมีศักยภาพเชิงสร้างสรรค์ที่สามารถนำมาใช้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการแก้ไขปัญหาได้ เพราะสิ่งนี้จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการปลดปล่อยศักยภาพในตัวเรา ซึ่งการปลูกฝังกลยุทธ์ในการจัดการความโกรธอย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยให้เราสามารถใช้ประโยชน์จากมันได้
ฉะนั้นแล้วจงอย่าแปลกใจถ้าเวลาเห็นใครหัวร้อนจนเลือดขึ้นหน้า แล้วเปลี่ยนความโกรธนั้นมาเป็นพลัง เพราะมันช่วยได้จริง ๆ
อย่างไรก็ตาม จงจำไว้ว่าความโกรธไม่อาจเป็นทางแก้ปัญหา และความหัวร้อนก็ไม่สามารถเยียวยาทุกสิ่งได้ เพราะความโกรธทำให้เราหมดพลัง รวมถึงลดประสิทธิภาพเราลงอย่างรวดเร็ว ดังเช่นที่งานวิจัยได้กล่าวไว้
แต่ท้ายที่สุด มันก็เหมือนพลังอย่างหนึ่ง แค่ต้องใช้ให้เป็น รู้จักคิดต่าง หาจุด Think Different ให้เจอ เท่านี้เราก็สามารถแปลงความโกรธเป็นโหมดครีเอทีฟได้แล้ว
แปล เรียบเรียง: พีรพล สดทรัพย์
ที่มา