เคยนั่งคุยกับพนักงานไหมว่า จริง ๆ แล้วพวกเขามีความฝันอะไร 💭💭
ว่ากันว่าพนักงานที่ดีที่สุดไม่ได้มาทำงาน เพราะพวกเขารักองค์กรหรือหัวหน้า แต่พวกเขาทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของชีวิต
บางครั้งเวลาเราถามลูกทีมเรื่องเป้าหมายชีวิตหรือความฝัน หลายคนจึงพูดว่าเป้าหมายก็คือการได้เลื่อนขั้นเป็นหัวหน้า, ได้เป็นผู้จัดการที่มีลูกทีมเก่ง ทว่าพนักงานหลายคนกลับลาออกไปก่อนที่จะได้ขึ้นมาสู่ตำแหน่งนี้ เพราะความจริงแล้ว พวกเขาไม่ได้มีฝันแบบนั้นอยู่จริง ๆ
แมทธิว เคลลี่ (Matthew Kelly) ผู้เขียนหนังสือ The Dream Manager ได้กล่าวว่า “พนักงานที่เก่งที่สุด ไม่ได้ทำงานเพราะรักบริษัท รักงาน หรือรักการทำงานเพื่อเจ้านาย” เขากล่าว “แต่พวกเขามาทำงานเพราะมีความฝันเพื่อตัวเอง และครอบครัว พวกเขาเชื่อว่าการได้โยกย้ายไปที่บริษัทอื่น จะทำให้ความฝันถูกต่อยอด”
อธิบายง่าย ๆ คือทุกคนล้วนทำงานเพื่อปัจจัยหลักของชีวิต หลายคนเข้ามาเพื่อทำงาน และย้ายบริษัท เพื่อไปหารายได้ที่มากขึ้น ซึ่งการที่เขาลาออกไป จึงแปลว่าเรายังไม่สามารถเติมเต็มความฝันของลูกทีมได้มากพอ
✨ ทำไมเราถึงควรจะสนใจความฝันด้านอื่นของลูกทีมที่ไม่ใช่เรื่องงาน ✨
เพราะบางครั้งความฝันคือสิ่งที่เติมพลังพวกเขา ฉะนั้นแล้ว ด้วยการหาทางให้ลูกทีมสามารถทำฝันให้เป็นจริง มันจะช่วยให้ทีมเดินหน้า และสร้างความภักดี ซึ่งจะช่วยให้บริษัทของเราประสบความสำเร็จ
ในฐานะหัวหน้าแล้ว เราสามารถสร้างความภักดีได้ไม่ยาก เพียงแค่รับฟังพนักงาน ความภักดีมีความสำคัญมาก เพราะว่ามันสร้างความรู้สึกว่าเราใส่ใจ ซึ่งสามารถจูงใจ และสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกทีมได้
จากผลสำรวจพบว่า มีคนเพียง 19% ที่พอใจกับงานของตัวเอง โดยพนักงานที่ไม่มีความสุขจะมาทำงานน้อยลง และคุณภาพงานก็แย่ลง กลับกันในวันที่พวกเขามีความสุขมากขึ้น พนักงานก็มีแนวโน้มที่จะผลิตไอเดียใหม่ ๆ ออกมา ซึ่งการรับรู้เรื่องของพนักงาน สามารถส่งผลโดยตรงต่อกำไรได้
แนวคิดในการช่วยให้พนักงานได้ทำตามความฝันอาจดูแปลก หรือเป็นไปไม่ได้สำหรับหัวหน้าบางคน แต่ท้ายที่สุดแล้ว ก็ขอให้คิดว่าพนักงานกำลังทำงานเพื่อบริษัท ไม่ใช่อย่างอื่น ฉะนั้นบางครั้ง เราเองก็ควรหาโซลูชันที่ช่วยเติมเต็มความฝันของพวกเขา
“ความจริงก็คือ เมื่อเราช่วยให้ผู้คนบรรลุความฝัน พวกเขาจะทำทุกอย่างเพื่อเรา… และนั่นช่วยประหยัดเวลาได้มากทีเดียว” แมทธิว เคลลี่ ผู้เขียน The Dream Manager กล่าว
การให้ความสำคัญกับความฝันของพนักงาน อาจต้องมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานบ้าง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ อาจรวมถึงการเปลี่ยนแปลงกำหนดการ เวลาที่ยืดหยุ่น และการขึ้นเงินเดือน หรือถ้าสิ่งเหล่านี้มันยาก เราก็สามารถทำอะไรง่าย ๆ ด้วยการรับฟังข้อเสนอแนะกับข้อกังวลใจของพนักงาน
แล้วเราจะช่วยให้พนักงานบรรลุเป้าหมายได้อย่างไร? หนังสือของ The Dream Manager จึงได้เสนอขั้นตอนเล็ก ๆ ที่ช่วยฟูลฟีลความฝันของพนักงาน
👉 ประการแรก เริ่มต้นที่ตัวเราเอง หาสมุดมาเล่มนึง จากนั้นเขียนความฝันของเราลงไปทั้งหมด
👉 ประการที่สอง ค้นหาว่าลูกทีมของเรามีความฝันอะไร ทำความรู้จักกับพวกเขา และค้นหาว่าความฝันของพวกเขาคืออะไร ซึ่งเราสามารถคุยกันแบบทางการหรือถามแบบชิล ๆ ในช่วงมื้อเที่ยงได้
👉 ประการที่สาม เรียกทุกคนในทีมมาพบกัน หากเราให้โอกาสทุกคนได้พูดคุยเกี่ยวกับความฝันของตัวเอง บางครั้งมันอาจเติมแรงบันดาลใจให้คนอื่นได้
👉 ประการที่สี่ เลือกมาหนึ่งความฝัน จากนั้นดูว่าเราจะมีวิธีไหน ที่จะสามารถช่วยให้ลูกทีมนั้น บรรลุเป้าหมายได้ ไม่ว่าจะคิดคนเดียว หรือให้ลูกทีมคนอื่นมาช่วยคิด
การมีความฝัน เป็นกุญแจสำคัญในการค้นหาเป้าหมายของพนักงาน แม้เราจะซัพพอร์ตเขาไม่ได้ทั้งหมด แต่การรับฟังพวกเขา จะทำให้พวกเขามีเวลา และพื้นที่ในการสร้างสรรค์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสำหรับตนเองกับองค์กร
ลูกทีมของเราต้องการรู้สึกว่าพวกเขามีความสำคัญ และงานของพวกเขาสามารถสร้างความแตกต่างให้กับโลกได้ ถ้าหากเราช่วยให้พวกเขาบรรลุเป้าหมายส่วนตัว ลูกทีมเองก็จะตอบแทนด้วยการทำงานหนักเพื่อรักษาความไว้วางใจที่เรามอบให้ ดังนั้นก่อนที่เราจะใช้วิธีการแบบเดิม ๆ เพื่อจูงใจพนักงาน ให้ค้นหาสิ่งที่พวกเขาต้องการ และดูว่าเราสามารถทำงานซัพพอร์ตความฝันของพวกเขาด้วยวิธีไหน
แปล เรียบเรียง: พีรพล สดทรัพย์
ที่มา
- Do You Dare Your Employees To Dream?
- Why Employees’ Big Dreams Should Be Your Company’s Top Priority