AI ช่วยให้ทุกคนทำงานได้ดีขึ้นจริงไหม ทำไมบางคนยิ่งใช้ ประสิทธิภาพยิ่งแย่ลง
ปี 2024 เป็นปีที่เราเดินหน้าเข้าสู่ยุคแห่ง AI เต็มรูปแบบ จะเห็นเลยว่าตั้งแต่มีการเปิดตัว Generative AI เจ้าปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้ ได้กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น ผู้คนมากมายนำ AI ไปใช้ในการทำงาน ตั้งแต่ส่วนบุคคล ระดับกลุ่ม ไปจนถึงภาคธุรกิจ เรียกได้ว่า AI เนี่ย เป็นเสมือนผู้ช่วยที่ขาดไม่ได้ไปเรียบร้อย
เมื่อเป็นอย่างนั้น เหล่านักวิจัยจึงมีการตั้งสมมติฐานว่า AI จะสามารถทำให้ทุกคนทำงานได้ดีขึ้นจริงไหม เพราะนักวิจัยเชื่อว่าการที่เราได้สนทนากับโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) อาทิ ChatGPT จะช่วยให้เราได้รับความช่วยเหลือ ข้อเสนอแนะ คำแนะนำที่มีคุณค่า ที่นำไปสู่การปรับปรุงประสิทธิภาพ และการเติบโตของตนเองได้
นักวิจัยจึงลงมือศึกษาในหัวข้อ ‘ผลกระทบของ Generative AI ต่อประสิทธิภาพของผู้ประกอบการ’ (The Uneven Impact of Generative AI on Entrepreneurial Performance)
การวิจัยนี้มีเป้าหมายเพื่อวัดผลกระทบของการใช้ AI ต่อประสิทธิภาพของผู้ประกอบการที่มีรายได้น้อย ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจขนาดเล็ก และขนาดกลาง
โดยประเทศที่พวกเขาเลือกจะลงไปทำการวิจัยคือประเทศเคนยา เนื่องจากเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา และยังไม่ได้มีการลงวิจัยในเรื่องผลกระทบด้านประสิทธิภาพการทำงานที่ได้จาก Generative AI
ทีมวิจัยจึงได้ลงประกาศใน Facebook เพื่อดึงดูดผู้ประกอบการมากมายให้มาสมัคร โดยนักวิจัยได้นักธุรกิจหลากหลายอาชีพกว่า 640 ราย ในเคนยามาเข้าร่วมการทดลอง ซึ่งการประเมินต้องครอบคลุมผลกำไร รายได้ และแนวทางการทำงาน เพื่อจะได้มั่นใจว่าสามารถเปรียบเทียบในแง่ของประสิทธิภาพได้อย่างถูกต้อง
ส่วนของการวิจัย ทีมนักวิจัยก็ได้ประดิษฐ์ Mentor ขึ้นมา โดย Mentor เป็น AI ที่สร้างมาจาก GPT-4 ซึ่งเป็นโมเดลภาษาขนาดใหญ่ของ OpenAI และพวกเขาก็นำมันมาติดตั้งไว้บน WhatsApp ที่ผู้ประกอบการชาวเคนยาสามารถเข้าถึงได้
Mentor มีเป้าหมายในการให้คำแนะนำสำหรับการทำธุรกิจ โดยผู้ใช้สามารถถามคำถาม และ Mento ก็จะให้คำตอบในการปฏิบัติ 3-5 ข้อต่อคำถามที่ผู้ประกอบการตั้งไว้ ซึ่งการโต้ตอบกับ Mentor มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้ สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจาดคำแนะนำที่ได้รับ
และนักวิจัยก็หมายมั่นว่า การที่ผู้ประกอบการใช้ Mentor จะทำให้ได้เห็นความต่างชั้นทางธุรกิจขนากดเล็กมากขึ้น
สิ่งที่นักวิจัยพบก็คือ ในประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างเคนยา AI ไม่มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพทางธุรกิจมากนัก ทว่ามันกลับเพิ่มช่องว่างด้านประสิทธิภาพระหว่างคนที่เก่ง (High Performance) และคนที่ไม่เก่ง (Low Performance) แทน โดยผู้ประกอบการที่เก่งจะได้รับประโยชน์จาก AI มากขึ้นถึง 20% แต่ผู้ประกอบการที่ไม่เก่งดันทำงานได้แย่ลงถึง 10%
พวกเขาพบว่าคนที่ไม่เก่ง จะถามคำถามที่ยาก ซึ่งอยู่นอกเหนือความเข้าใจของ AI แต่คนที่เก่ง มักจะรู้ขอบเขตของคำถาม เวลาต้องการอะไร พวกเขาก็จะถามได้ตรงจุดมากกว่า นั่นทำให้คนที่เก่ง จึงสามารถถามคำถามที่สามารถจัดการได้ง่ายกว่า ซึ่ง AI สามารถให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ได้
การวิจัยของในเคนยานี้ทำให้เราได้รู้ว่า ท้ายที่สุด AI ก็เป็นเพียงเครื่องมือชนิดหนึ่งที่จำเป็นต่อทุกอุตสาหกรรม และช่วยในการทำธุรกิจ แต่ AI ก็ไม่สามารถทำให้ทุกคนทำงานดีขึ้นได้ เพราะคนที่เข้าใจจะสามารถใช้มันได้ดีกว่า และยิ่งคนที่ไม่เก่งได้มาใช้ก็จะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง
องค์กรต่าง ๆ เองควรจะต้องประเมินความต้องการของตนอย่างรอบคอบ ว่าจะพัฒนากลยุทธ์ยังไง และลงทุนในความเชี่ยวชาญแบบไหน เพื่อให้แน่ใจว่า AI จะกลายเป็นเครื่องมือสำหรับความก้าวหน้าของทุกคน ไม่ใช่เครื่องมือที่สร้างช่องว่างของความแตกต่างด้านความสามารถ
แล้วคุณผู้อ่านล่ะ คิดว่า AI ช่วยให้ทุกคนทำงานได้ดีขึ้นจริงไหม
แปล เรียบเรียง: พีรพล สดทรัพย์
ที่มา