“เห้ยแก ดูนี่สิ เพื่อนรักแกมันโดนแฟนทิ้งแล้วนะ” 🤭
“นี่เพื่อนรักแกมันได้งานบริษัทใหญ่เลยเหรอวะ” 🙄
เราทุกคนมักมีบุคคลที่มิตรสหายรอบข้างยกให้เป็น ‘เพื่อนรัก’ อยู่เสมอ ซึ่งหมายถึงเพื่อนที่ทำงาน อดีตเพื่อนสนิท ไปจนถึงบุคคลที่เราอาจจะไม่ลงรอยด้วย ทว่าแม้ในชีวิตจริงเราจะไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนคนนั้นอีกต่อไป แต่เชื่อเถอะว่า ในหลายครั้งเรามักจะเผลอไปเผือกโซเชียลของเพื่อนรักอยู่ตลอด
คุณผู้อ่านเอง อาจจะพบว่าเมื่อสักครู่นี้ เราอาจพึ่งไปส่องโซเชียลมีเดียของคนที่ไม่ชอบมา ไม่ต้องห่วงนะ เราไม่ได้มีอาการผิดแปลกอะไร เพราะมันเป็นอาการของคนทั่วไป ซึ่งหลายคนมักจะทำสิ่งเหล่านี้ เพื่อระบายอารมณ์เชิงลบออกมาก็เท่านั้น
ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มนุษย์มีความกระตือรือร้นในการมีปฏิสัมพันธ์ และพยายามเผือกเรื่องของคนรอบข้าง ไม่ว่าเราจะรักหรือเกลียดเขาก็ตาม การกระทำเหล่านี้กระตุ้นวงจรบางอย่างในสมอง ทำให้สมองหลั่งสารที่ทำให้รู้สึก ‘ฟิน’ เมื่อได้เผือก
ต่อให้เราจะไม่มีเรื่องขัดแย้งกับใคร แต่บ่อยครั้งเราก็มักจะเข้าไปส่องโซเชียลมีเดีย ของคนที่ชอบละเมิดบรรทัดฐานของสังคม อาทิ โซเชียลของโจรในข่าว, บุคคลที่แสดงความคิดเห็นร้ายแรงจนโดนทัวร์ลง ว่าแต่ทำไมเราถึงชอบเผือกคนเหล่านี้กันนะ
😈 1. ภาวะ Schadenfreude 😈
ภาวะชาเดินฟร็อยเดอ (Schadenfreude) คืออารมณ์ที่เรากำลังมีความสุขบนความทุกข์ของคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่เราไม่ชอบหน้า มันเป็นพฤติกรรมที่เรารู้สึกโกรธใครสักคน และตามส่องเขาด้วยความรู้สึกเชิงลบ เสมือนการตามติดตัวร้ายในหนังยังไงยังงั้น
โดยงานวิจัยเรื่อง ‘ภาวะชาเดินฟร็อยเดอ: ความสุขที่เป็นอันตรายในการโต้ตอบบนโซเชียลมีเดีย’ ได้กล่าวไว้ว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ที่จะยินดีกับความโชคร้ายของผู้อื่น แม้ว่าเราอาจไม่อยากให้พวกเขาป่วย แต่การเห็นคนที่เราไม่ชอบประสบปัญหา ก็ทำให้เรามีความสุขบนความทุกข์นี้ได้
😈 2. พฤติกรรม Digital Stalking 😈
ในยุคแห่งการแชร์นั้น คนมากมายทิ้ง ‘ดิจิม่อนฟุตฟิต’ กันเต็มโซเชียลไปหมด บางครั้งเราส่องโซเชียลมีเดียใคร ก็รู้จักคนนั้นมากกว่าการแอบส่องอยู่หน้าบ้านเขาด้วยซ้ำ นั่นทำให้นิสัยการเผือกอย่างเงียบ ๆ ทำให้เรากลายเป็น Digital Stalking โดยไม่ตั้งใจ เพราะการเปิดโซเชียลแล้วด่าในใจ นั้นง่ายกว่าการไปตะโกนด่าหน้าบ้านเขาเป็นไหน ๆ
😈 3. กับดักการเปรียบเทียบทางสังคม 😈
โซเชียลมีเดียเป็นแหล่งบ่มเพาะนิสัยเรื่องการเปรียบเทียบ เรามักจะเปรียบเทียบตัวเองกับสิ่งที่เรามองว่าดีกว่า ฉะนั้นการนั่งส่องโซเชียลของคนที่เราไม่ชอบหน้า ก็ช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นเมื่อเขาประสบกับปัญหา ทว่าก็ทำให้เรารู้สึกหงุดหงิดเช่นกันเมื่อคนนั้นดันได้ดี
นอกจากนี้นักวิจัยยังพบว่าคนที่ใช้โซเชียลมีเดียบ่อย มีแนวโน้มที่จะเป็นคนที่มีหลายมาตรฐาน และชอบการเปรียบเทียบทางสังคมอีกด้วย
😈 4. อยากเห็นกฏแห่งกรรมทำงาน 😈
ในบทความ ‘Why do we keep tabs on people we can’t stand?’ ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ Vox ได้พูดถึงหญิงสาวที่ทำงานเป็นครีเอทีฟคนหนึ่ง ซึ่งเธอยังส่องดูอดีตเพื่อนร่วมชั้นที่ทำให้ชีวิตมัธยมของเธอเปรียบเหมือนนรกบนดิน
ครีเอทีฟสาวคนนั้นกล่าวว่า บางครั้งเราก็ส่องเพราะอยากเห็นว่ากฏแห่งกรรมมันทำงานจริงไหม ซึ่งเธออยากเห็นว่ามีใครที่ได้รับความทุกข์ทรมาน จากสิ่งที่พวกเขาเคยกระทำต่อเธอหรือไม่
น่าเศร้าที่หญิงคนดังกล่าวก็ได้ออกมาบอกว่าภายหลังว่า คนเหล่านั้นกลับได้ดิบได้ดีไปซะงั้น
🤔 การส่องโซเชียลมีเดียของเพื่อนรักทำให้เรามีปัญหาไหมนะ 🤔
คนที่เราไม่ชอบหน้า ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนมัธยมหรือเพื่อนร่วมงาน เราควรส่องแค่พอดี เพราะถ้าเราไม่ระวัง การเผือกโซเชียลของพวกเขา อาจเปลี่ยนจากการกระทำเล็กๆ น้อยๆ ไปสู่ความรู้สึกเชิงลบที่สร้างปัญหาให้กับชีวิตประจำวันของเราขึ้นมาได้
แล้วทำไมเราถึงต้องหลงใหลกับการเผือกโซเชียลของคนที่เราไม่ชอบกันนะ บางทีมันอาจจะเป็นความสุขเล็ก ๆ ต่อการยอมให้ความรู้สึกผิดมันกัดกินใจเราก็ได้ แม้ว่าความเกลียดชังควรจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่เราทำ แต่เรากลับถูกดูดด้วยแม่เหล็กแห่งความชั่วร้ายซะงั้น
ท้ายที่สุดแล้ว ตราบใดที่การเผือกโซเชียลของเพื่อนรัก ไม่ได้สร้างปัญหาให้ใคร การปล่อยให้ตัวเองเผลอใจไปส่องคนที่ไม่ชอบหน้าเป็นครั้งคราว ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งรสชาติชีวิตของมนุษย์ที่ควรลองดูนะ
แปล เรียบเรียง: พีรพล สดทรัพย์
ที่มา
- Schadenfreude: Malicious Joy in Social Media Interactions
- Why do we keep tabs on people we can’t stand?
- Ethical Issues in Forensic Science & Forensic Odontology
- Understanding Social Comparison on Social Media
- Schadenfreude: The Joy of Another's Misfortune