ช่วงปี 90s บาร์บาร่า เฟรดิกสัน (Barbara Fridrickson) อาจารย์มหาวิทยาลัย North Corolina at Chapel ได้คิดค้นสิ่งที่เขาเรียกว่า “Undoing Hypothesis” ที่มีความเชื่อว่าความเครียดมีผลต่อสมองและพลังงาน ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของคน
เขาจึงจัดการทดลองด้วยการแจ้งให้นักศึกษากลุ่มหนึ่งออกมาพรีเซ้นต์หน้าห้องโดยมีเวลาเตรียมตัวเพียงแค่ไม่กี่นาที
นักศึกษาทุกคนตกใจและเครียดในทันที
จากนั้นบาร์บาร่าก็ได้แบ่งนักศึกษาออกเป็น 4 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 1 และ 2 จะได้ดูคลิปเชิง positive กลุ่มที่ 3 จะได้ดูคลิปทั่ว ๆ ไป ส่วนกลุ่มที่ 4 จะได้ดูคลิปที่หดหู่
ผลลัพธ์ออกมาดังคาด กลุ่ม 1 และ 2 ที่ได้ดูคลิป positive คลายความกังวลได้รวดเร็วกว่ากลุ่มที่ 3 ขณะที่กลุ่ม 4 ที่ดูคลิปหดหู่นั้นจะยังกังวลต่อไปอีกซักพัก (น่าเห็นใจมาก)
สิ่งนี้พิสูจน์ให้เห็นถึง “Undo Hypothesis” ว่า พลังบวกจะช่วย Undo ผลกระทบที่ได้จากพลังลบ ดังนั้นถ้าความเครียดคือปัญหา ความสุขซึ่งได้จากพลังบวกก็คือทางออก
ผมอ่านเรื่องนี้จากหนังสือ “Feel Good Productivity” ในหนังสือได้เล่าว่าเคล็ดลับของความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นจากการทำงานหนัก แต่เกิดขึ้นจากการทำงานที่มีความสุข
Ali Abdaal ผู้เขียนยังอธิบายในหนังสือว่า การที่มนุษย์หลายคนพยายามทำงานหนักเพื่อประสบความสำเร็จ แต่กลับไม่ได้รับผลสำเร็จตามที่คาดหวังนั้นทำให้เขานึกถึงคำพูดของอาจารย์ในช่วงที่กำลังเรียนแพทย์
อาจารย์ของเขาบอกว่า “ถ้าการรักษาช่วยไม่ได้ ต้องกลับไปดูที่การวินิจฉัยอีกที” (If the treatment isn’t working, question the diagnosis).
หรือเปรียบเทียบได้ว่า ถ้าสิ่งที่ทำอยู่นั้นไม่สามารถพาไปสู่ผลลัพธ์ที่คาดหวังได้ เราคงต้องกลับไปดูจุดเริ่มต้นกระบวนการคิดของเราอีกที
ผมสังเกตดูคนรอบข้างหลายคนที่ประสบความสำเร็จ แล้วพบว่าสูตรลับความสำเร็จไม่ใช่แค่ความขยันเพียงอย่างเดียว แต่เขาต้องสนุกกับสิ่งที่ทำด้วย
คุณแทป รวิศ เป็นหนึ่งในคนที่ผมรู้สึก amazing กับการทำงานของเขามาก ๆ คุณแทปอัดพอดแคสต์ทุกวันไม่เหน็ดเหนื่อย และยังจัดการบริษัทของตัวเอง แถมยังเป็นที่ปรึกษาให้บริษัทอื่น และที่สำคัญคือคุณแทปรับสายผมแทบทุกครั้งที่โทรไปขอคำปรึกษา
ผมเคยถามว่า “เคยมีวันไหนไม่ productive ไหม” คุณแทปบอกว่า “ก็มีนะพี่ ฮ่า ฮ่าา”
แต่ผมเชื่อว่าพลังของคุณแทปไม่ได้มาจากความขยันและ productive เพียงอย่างเดียว แต่มาจากความสนุกและชอบในสิ่งที่ทำ คุณแทปเคยเล่าว่าการทำพอดแคสต์ของเขาทำให้เขาได้รับฟีดแบคที่ดีจากหลายคน และทำให้เขารู้สึกว่าสิ่งที่ทำมีความหมาย
“สุขจึงสำเร็จ ไม่ใช่สำเร็จแล้วจึงมีความสุข”
จริงที่บางคนอาจจะสำเร็จแล้วมีความสุข แต่คงมีคนจำนวนไม่มากที่ประสบความสำเร็จจากการอดทนทำงานที่น่าเบื่อ
หนังสือ Feel Good Productivity ยังอธิบายอีกว่า เพราะความสุขแบบ feel good นี่แหละทำให้เกิด “energy” หรือพลัง และพลังทำให้มีแรงในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ผมไม่ค่อยได้เห็นคนที่ด่าลูกค้าทุกวัน บ่นเพื่อนร่วมงานและนินทาเจ้านายตลอดเวลาประสบความสำเร็จ
ตรงกันข้ามกลับพบคนประสบความสำเร็จหลายคน ถ่อมตัวจนน่าตกใจ มีความสุขกับการพูดคุยและแก้ไขปัญหาให้ลูกค้า ทำงานกับเพื่อนร่วมงานด้วย positive energy
อดทนอย่างเดียวไม่สามารถสำเร็จได้
ขยันอย่างเดียวไม่สามารถสำเร็จได้
รับผิดชอบอย่างเดียวไม่สามารถสำเร็จได้
มีความสุขกับชีวิตอย่างเดียวก็ไม่สามารถสำเร็จได้
วันก่อนผมนั่งนึกถึงคำว่า “Work Life Balance” ที่หลายคนมีมุมมองในมิติที่แตกต่างกัน แล้วกลับคิดว่า แทนที่เราจะ Work Life Balance แต่เราควร Work Life Intelligence คือไม่ใช่แค่สมดุล แต่ต้องทำอย่างฉลาดด้วย
เพราะความสำเร็จไม่ใช่จุดเริ่มต้นของความสุข แต่ความสุขคือจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ