ทักษะอะไรบ้าง ที่ต้องเตรียมพร้อมในช่วงเวลาที่เราเริ่มใช้ AI กันมากขึ้น
มีการศึกษาที่น่าสนใจจากนักจิตวิทยาระบุไว้ว่า
"มีทักษะอยู่ 3 ประเภท ที่นัก1เองต้องปรับตัวและพัฒนาทักษะเพื่อให้ยังคงตามโลกปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ที่ในยุคนี้คนทำงานก็เริ่มคุ้นเคยกันมากขึ้น แน่นอนว่าเรื่องนี้สะเทือนถึงคนทำงานด้วยเช่นกัน แต่ในบทความนี้จะขอนำเสนอเพียง 2 ประเภท ที่เหมาะสมกับคนทำงานมากที่สุด นั่นก็คือ ทักษะทางสังคม (Social skills) และ ทักษะการตัดสินใจอย่างสร้างสรรค์ (Creative Decision-Making Skills)"
โดยจะถูกย่อยออกมาเป็น 8 ทักษะที่นักจิตวิทยาต้องเรียนรู้ ซึ่งมีหลาย ๆ ทักษะที่น่าสนใจ เพื่อให้คนทำงานอย่างเรา ๆ สามารถรับมือ และรับรู้ก่อนใคร ยิ่งในโลกอนาคตเป็นโลกที่เราคาดเดาไม่ได้ ดังนั้นการเติมทักษะใหม่ ๆ ที่จะสามารถนำไปปรับใช้กับการทำงาน หรือธุรกิจของเราได้นั้น จะทำให้คุณได้เปรียบในทุก ๆ การเปลี่ยนแปลง!
8 ทักษะคนทำงาน ที่นักจิตวิทยาใช้เพื่อปรับตัวให้ทันโลก และประสบความสำเร็จในยุคของ AI
🎯 กลุ่มที่หนึ่ง: ทักษะทางสังคม (Social skills)
เป็นหนึ่งในทักษะที่ AI ไม่อาจทดแทนเราได้ เพราะหัวใจสำคัญของมนุษย์คือการมีความเห็นอกเห็นใจ แต่กลับกัน AI ยังไม่สามารถสร้างสิ่งเหล่านี้ได้ แต่ทำได้แค่ให้ชุดข้อมูลหรือการวิเคราะห์ข้อมูล แต่ในเชิงการสร้างความสัมพันธ์ยังเป็นเรื่องที่มนุษย์ต้องให้ความสำคัญ จากการศึกษาล่าสุดพบว่าทักษะในด้าน Social skills มีอยู่ด้วยกัน 3 ทักษะ ดังนี้
👉 ทักษะที่ 1: เห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Compassion)
ทักษะสำคัญที่ต้องมีคือความเมตตา มีความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ที่เรารู้จักกันดี แต่ในเชิงของจิตวิทยาทักษะนี้หมายถึงการอ่านใจ ตีความจากอารมณ์ที่เกิดขึ้น และบริบทของสังคมที่เกิดขึ้น เพื่อแสดงถึงความเข้าใจอย่างจริงใจ แม้ AI จะมีความก้าวหน้า แต่มนุษย์ยังคงต้องการความเข้าใจ ความอบอุ่นที่อีกฝ่ายปฏิบัติเสมือนรับรู้ว่าตอนนี้เรากำลังคิดอะไรอยู่ ด้วยความเป็นห่วง ด้วยความรักอย่างแท้จริง
👉 ทักษะที่ 2: ความร่วมมือ (Collaboration)
อีกหนึ่งทักษะสำคัญในการทำงานร่วมกัน เสมือนรู้ใจกันเพื่อไปสู่เป้าหมายบางอย่างร่วมกัน หลาย ๆ นวัตกรรมที่เกิดขึ้นบนโลกก็เกิดมาจากการรวมพลังของคนในองค์กร และการแบ่งปันไอเดียร่วมกัน ซึ่งทักษะเหล่านี้นับเป็นพื้นฐานสำคัญของมนุษย์ เราไม่ใช่ AI ดังนั้นการทำงานคนเดียว จะเป็นอุปสรรคอันใหญ่หลวงต่อการทำงานในโลกอนาคตอันใกล้นี้
👉 ทักษะที่ 3: การสร้างความสัมพันธ์ (Relationship Building)
การจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และลึกซึ้งได้นั้น ต้องอยู่บนพื้นฐานของคำว่า “ไว้วางใจ” ซึ่งถือเป็นทักษะที่มนุษย์ยังทำได้ดีมากๆ โดยส่วนใหญ่แล้วนักจิตวิทยาจะมีเทคนิคในการทำให้บรรยากาศรอบตัวเป็นไปด้วยความสุข ความหวัง และมองทุกสิ่งสามารถประสบความสำเร็จได้ กุญแจสำคัญของทักษะนี้คือเราจะทำอย่างไร ให้การสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เกิดเป็นความไว้ใจในที่สุด
🎯 กลุ่มที่สอง: ทักษะการตัดสินใจอย่างสร้างสรรค์ (Creative Decision-Making Skills)
แม้ว่า AI จะมีความสามารถในการคำนวณวิเคราะห์ที่สูง แต่กลับขาดความสามารถในเชิงกระบวนการคิด ซึ่งเป็นพรสวรรค์ที่ติดตัวมาของสมองมนุษย์ เช่น ความคิดสร้างสรรค์, ความอยากรู้อยากเห็น, การคิดเชิงวิเคราะห์ มีวิจารณญาณ และการแก้ปัญหา คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจาก AI โดยทักษะเหล่านี้จะมีความสำคัญอย่างมากสำหรับคนทำงาน!
👉 ทักษะที่ 4: ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity)
เป็นอีกหนึ่งทักษะที่เรียกได้ว่าแทบจะทุกอาชีพ ทุกคนต้องมี! ไม่ว่าคุณจะทำอาชีพอะไรก็ตาม การก้าวข้ามแนวคิดแบบเดิมไปสู่การพัฒนาสิ่งใหม่ หรือแม้กระทั่งการแก้ปัญหา ก็นับเป็นความคิดสร้างสรรค์อย่างนึง ยิ่งในยุคที่มีปัญหามากขึ้น หรือไอเดียเกิดใหม่มากขึ้น ความซับซ้อนของปัญหาก็มีมากขึ้น เราจะทำอย่างไรถึงจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ และแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ได้ นับเป็นความท้าทายอย่างมากของคนทำงาน
👉 ทักษะที่ 5: ความอยากรู้อยากเห็น (Curiosity)
ความอยากรู้อยากเห็นในที่นี้หมายถึง การที่เราอยากเรียนรู้ อยากเติบโต อยากสำรวจเรื่องราวใหม่ ๆ หรือแนวคิดใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหนึ่งในคำถามสำคัญของทักษะนี้คือ “การตั้งคำถาม” การที่เรามีทัศนคติอยากเรียนรู้, เกิดความสงสัย และการตั้งคำถามต่อข้อสมมติฐานที่สงสัย คือหนึ่งในตัวช่วยที่ทำให้เราเกิดกระบวนการเรียนรู้ใหม่ ๆ ซึ่งนำไปสู่การได้รู้เรื่องใหม่ และแก้ปัญหาด้วยมุมมองใหม่ ๆ ได้เช่นกัน
👉 ทักษะที่ 6: การคิดวิเคราะห์ (Critical thinking)
เราน่าจะคุ้นเคยกับคำว่า คิด-วิเคราะห์-แยกแยะ ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญต่อการทำงาน และการใช้ชีวิต ซึ่งการที่เราวิเคราะห์เป็นจะช่วยให้เราละเอียดมากขึ้น และตัดสินใจอย่างมีเหตุผลมากขึ้น เสมือนเวลาเราป้อน Prompt ให้กับ AI ก็ไม่ได้หมายความว่าข้อความนั้น หรือข้อมูลชุดนั้นจะถูกต้องเสมอไป จึงจำเป็นอย่างมากสำหรับการวิเคราะห์ รับรู้บริบท เห็นมุมมองที่แตกต่าง นำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้อง
👉 ทักษะที่ 7: การมีวิจารณญาณ (Intuition)
การจะมีวิจารณญาณที่ดี ต้องอาศัยสัญชาตญาณในการตัดสินใจในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูง โดยเราจะมีทักษะเหล่านี้ได้มักเกิดจากการได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ต้องรอให้ใครมาสั่ง แต่เราต้องกล้าที่จะลองทำ ลงสนามบ่อย ๆ ขัดเกลาฝีมือไปเรื่อย ๆ โดยคีย์สำคัญของทักษะนี้คือ เราต้องกล้าที่จะตัดสินใจภายใต้สถานการณ์ที่มีความกดดันสูง ถือเป็น Softskills ที่ไม่ง่ายของใครหลายคน แต่เมื่อฝึกบ่อย ๆ เราจะสามารถตัดสินใจได้เฉียบคมมากยิ่งขึ้น
👉 ทักษะที่ 8: การแก้ปัญหา (Problem-solving)
ตั้งแต่เราพูดถึงทักษะกันมาจนถึงทักษะสุดท้ายนี้ ส่วนใหญ่ก็มักจะพูดถึงการแก้ปัญหาอยู่เรื่อย ๆ แต่ Problem-solving จะเป็นการมองทะลุปรุโปร่งว่า ปัญหาที่แท้จริงเกิดจากอะไรกันแน่ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ถูกจุด เพราะมนุษย์ที่มีทักษะการแก้ปัญหาระดับสูงจะมีบทบาทสำคัญในการรับมือกับสถานการณ์ที่ผิดแผกไปจากปกติ หรือความคลุมเครือในบางเรื่อง ความสามารถในการเชื่อมโยงแนวคิดที่แตกต่างหลากหลาย การตั้งคำถามต่อข้อสมมติฐาน และการสร้างสรรค์ความคิดริเริ่มใหม่ ๆ จากสิ่งที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก จะเป็นส่วนเสริมที่ AI ไม่สามารถทดแทนได้
หากลองสังเกตดี ๆ ทักษะที่สำคัญแท้จริงแล้วส่วนใหญ่ จะเป็นเรื่องที่ AI ยังไม่สามารถทำได้ โดยเฉพาะเรื่องของการแก้ปัญหา และคิดวิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นทักษะที่ทุกคนต้องฝึก และเรียนรู้อยู่เสมอ หวังว่าความรู้ในวันนี้เพื่อน ๆ ทุกคนจะนำกลับไปฝึกฝน และพัฒนาทักษะในแบบของตัวเองนะ 😎✌️
แปล เรียบเรียง: กิตติภพ ปานล้ำเลิศ
ที่มา