ปีใหม่ ฉันจะเริ่มเป็นคนใหม่! (ได้สักกี่วัน) 😰
เมื่อนาฬิกาบอกเวลาเที่ยงคืนซึ่งเป็นสัญญาณของการทิ้งสิ่งเก่า เพื่อเข้าสู่ปีต่อไป สิ่งที่มาพร้อมกันคือการตั้งเป้าหมาย หรือปณิธานที่เราหวังจะทำเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ตั้งแต่การลดน้ำหนัก ทำงานให้ดีขึ้น เข้าสังคม และอื่น ๆ
สิ่งเหล่านี้คือการตั้งปณิธาน ที่สร้างความหวังในการเปลี่ยนแปลงชีวิต ทว่าความจริงที่ตลกร้ายคือ ปณิธานปีใหม่มักจะเป็นสิ่งที่เฟลในเวลาไม่เกิน 2 เดือน ฉะนั้นถ้าปณิธานปีใหม่ของเรา ไปไม่ถึงไหน ไม่ต้องเศร้าใจไปหรอกนะ เพราะว่าคนกว่า 90% ก็เป็นเหมือนกันหมดเลย
จากการสำรวจของ Forbes Health และ OnePoll เมื่อเดือนตุลาคมปี 2023 พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 61.7% รู้สึกกดดันที่จะต้องตั้งปณิธานปีใหม่ นอกจากนี้ บางคนยังวางแผนที่จะตั้งเป้าปณิธานปีใหม่หลายข้อ โดย 66.5% ระบุว่าพวกเขาวางแผนที่จะตั้งปณิธานเกิน 3 ข้อในปีหน้า ทว่าเมื่อคนกว่าครึ่งยึดมั่นการตั้งปณิธานอยู่แล้ว แต่อะไรคือสาเหตุที่ทำให้สิ่งเหล่านี้ไม่สำเร็จกันล่ะ
✨ 1. คิดการใหญ่ แต่ใจไม่นิ่ง ✨
ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดประการหนึ่งของปณิธานปีใหม่ คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของชีวิต เช่น การออกกำลังกายทุกวัน ปรับนิสัยการกิน เล่นดนตรี หรือการพูดภาษาใหม่ได้คล่อง ทว่าในฐานะมนุษย์คนนึนง เรากลับไม่ได้มีจุดเชื่อมโยงในชีวิตที่จะสร้างแรงผลักดันขนาดนั้น
เทอรี่ บลาย (Terri Bly) นักจิตวิทยาจาก Ellie Mental Health กล่าวว่า เพื่อที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้ได้ เราจะต้องอยู่สภาวะที่ฝืนตัวเองเป็นเวลานาน แม้ผู้คนอาจจะวางเป้าหมายใหญ่จนทำมันสำเร็จ แต่การจะไปถึงเป้าได้ เราอาจต้องผ่านถึง 30 ขั้นตอน ดังนั้นหลายคนจึงไม่สามารถจัดการเป้าหมายได้ เพราะใจไม่นิ่งพอ
ถ้าเราต้องการพิชิตเป้าหมาย เราต้องตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ ไปพร้อมกันเพื่อชีวิตให้มีจุดเช็กพอยต์ อาทิ อยากเรียนภาษาใหม่ ลองเสียสละ 5 นาทีต่อวันเพื่อเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ แทนที่จะมากดดันตัวเองให้ต้องพูดภาษาใหม่ให้ได้ใน 4 เดือน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ไม่กดดันจนเกินไปนั้น จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายได้ง่ายขึ้น
✨ 2. ไม่เจ็บใจมากพอ ✨
การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ยาก นั่นทำให้ความต้องการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เหนื่อยล้า อย่างไรก็ตาม เพราะการตั้งปณิธานหลายประการของเรามักจะเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรารู้สึกว่าควรทำ แต่เรากลับไม่ได้โฟกัสมัน ฉะนั้นแล้ว ถ้าเราอยากจะเปลี่ยนแปลงมากขึ้น เราจะต้องคำนึงถึงเหตุผลข้างในจิตใจ
นักจิตวิทยาบลาย กล่าวว่า “โดยปกติแล้ว ปณิธานปีใหม่ไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะรู้สึกว่า เราเกลียดการตั้งเป้าหมายใหม่ ๆ เพราะสิ่งที่เราตั้งนั้น ต้องผ่านความยากลำบาก ความเจ็บปวด กว่าจะทำสำเร็จ ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจเลยว่า ถ้าทำสำเร็จแล้วรางวัลที่ได้รับมันจะคุ้มค่าไหม”
หากปณิธานของเราคือการไปยิมสัปดาห์ละสามครั้ง แต่เราเกลียดการออกกำลังกาย นั่นทำให้เราก็จะไม่มีทางบรรลุเป้าหมาย ฉะนั้นแล้ว ถ้าอยากผ่านขั้นตอนนี้ไป เราต้องทำให้ในใจเรารู้สึกเจ็บปวดใจที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลง มากกว่าจะรู้สึกว่าเหนื่อยล้าเมื่อต้องเปลี่ยนแปลงให้ได้
✨ 3. เข้าไม่ถึงจุด Stages of Change ✨
อีกเหตุผลหนึ่งที่เราไม่สามารถทำตามปณิธานปีใหม่ในระยะยาวได้ก็คือ เราไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง โดยนักจิตวิทยาเผยให้เห็นโมเดล Stages of Change ซึ่งเป็นแนวทางในการทำความเข้าใจกระบวนการที่ผู้คนต้องเผชิญ ก่อนที่พวกเขาจะพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิทยา ซึ่งมีทั้งหมด 5 ระยะ
👉 ระยะการไตร่ตรองล่วงหน้า: เราเริ่มตระหนักว่าอาจมีบางอย่างต้องเปลี่ยนแปลง
👉 ระยะการไตร่ตรอง: เรากำลังคิดที่จะเปลี่ยนแปลง
👉 ระยะการเตรียมการ: เราวางแผนเพื่อทำการเปลี่ยนแปลง
👉 ระยะการดำเนินการ: เราลงมือเปลี่ยนแปลง
👉 ระยะการบำรุงรักษา: เรารักษาการเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นนิสัย
ถ้าเราทุ่มเท และทำแค่เดือนมกราคม มันจะไม่สร้างนิสัยอะไรใหม่เลย ฉะนั้นแล้วการเข้าสู่สภาวะ Stages of Change จะได้ผล ก็ต่อเมื่อเราสร้างปณิธานปีใหม่ที่ไม่รู้สึกอึดอัดจนเกินไป และทำให้เราเชื่อว่าตนเองสามารถทำตามสิ่งนั้น จนสร้างนิสัยใหม่ขึ้นมา
เมื่อเราพยายามที่จะควบคุมนิสัยของตัวเอง สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักถึงเหตุผล หรือปัญหาที่บางครั้งเรามักใช้ขัดขวางการรักษานิสัยที่ดี ด้วยเหตุนี้ แทนที่จะตั้งปณิธานปีใหม่ชุดใหญ่ที่ทำได้ไม่ครบ เราอาจใช้ช่วงเวลาปีใหม่นี้ เพื่อสร้างไทม์ไลน์สำหรับปีหน้า โดยการกำหนดเช็กพอยต์เล็ก ๆ ต่าง ๆ ที่จะช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายที่ใหญ่
แปล เรียบเรียง: พีรพล สดทรัพย์
ที่มา