ทำไมเราถึงจดจำบางคนได้ ไม่มีวันลืม…
เคยเป็นไหมครับ เวลาเห็นบางอย่างก็จะนึกถึงคนบางคน
ไม่แปลกครับมันขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราทำ
เค้าบอกว่าชีวิตคนเราขึ้นอยู่กับการ “ตัดสินใจ” และในวัน ๆ หนึ่งเราต้องตัดสินใจมากกว่า 200 ครั้งต่อวัน ไม่ว่าจะตัดสินใจว่าจะกินข้าวเช้า ข้าวเที่ยง ข้าวเย็น เป็นอะไร ตัดสินใจว่าจะเดินทางด้วยรถไฟ หรือรถยนต์ ตัดสินใจว่าจะโทรหาลูกค้าเลยดีไหม การตัดสินใจเต็มไปหมด
เราสามารถเลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างไรก็ได้ แต่เราไม่สามารถเลือกที่จะไม่หยุดใช้ชีวิตได้
ใช่ครับ ผมหมายถึงความตาย..
สิ่งหนึ่งที่พวกเรารู้อยู่แก่ใจก็คือ ไม่ว่าเราจะใช้ชีวิตอย่างไร สนุกสนานขนาดไหน ทำงานหนักมีเงินทองมากมายเท่าไหร่ มีรถหรูขนาดไหน ถึงวันที่ “ต้องไป” ก็ไม่มีใครนำอะไรติดไปได้ซักอย่าง
เพราะความตายเป็นสิ่งเดียวที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ และไม่มีใครรู้ว่าระหว่างวันพรุ่งนี้กับความตายอะไรจะมาถึงก่อนกัน
ดังนั้นการเลือกใช้ชีวิตระหว่างที่ยังอยู่จึงเป็นสิ่งที่เราควร “ตัดสินใจเลือกใช้ให้ดี”
ภาพยนตร์เรื่อง “All the Light We Cannot See” มีฉากหนึ่งที่ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งกำลังจะได้รับมอบของขวัญชิ้นหรูจากผู้ชายที่ต้องการเข้ามาขอเจรจางาน
ผู้ใหญ่ท่านนี้ถามว่า คุณซื้อของเหล่านี้มาทำไม มันสิ้นเปลือง คนที่มีเงินน่ะเค้าไม่ใช้เงินไปกับการซื้อของสิ้นเปลืองมากมายหรอก!
ผู้โดนต่อว่าถามกลับว่า “แล้วเขานำเงินไปซื้ออะไร?”
ผู้ใหญ่คนนี้จึงถามต่อด้วยหน้าตานิ่งเฉย
“คุณรู้ไหมว่า คนผลิตระเบิดไดนาไมต์ชื่ออะไร?”
ผู้ถูกถามทำหน้างง
จากนั้นผู้ใหญ่ก็เล่าให้ฟังว่า ไม่มีใครจำได้เลยว่าผู้ที่คิดค้นระเบิดทำลายล้างบ้านเรือน ระเบิดที่เป็นอาวุธใช้ฆ่าผู้คนนั้น มีชื่อว่าอะไร
ตัวผู้คิดค้นเองก็รู้ดีว่าสิ่งที่เขาคิดเป็นสิ่งที่ไม่ดี และเขาก็ไม่อยากให้คนจดจำเขาตลอดไปว่าเป็นคนคิดอาวุธที่น่าขยะแขยงนี้
เพื่อเป็นการปกปิด ผู้คิดค้นจึงคิดค้นอีกสิ่งหนึ่งขึ้นมา แต่คราวนี้ไม่ใช่อาวุธ มันคือสถาบัน เขาตั้งสถาบันขึ้นมาเพื่อให้รางวัลกับนักวิทยาศาสตร์ผู้สร้างคุณงามความดี และคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ให้กับโลกใบนี้
และสถาบันนี้ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นสถาบันที่ทรงเกียรติ ใครก็ตามที่ได้รับรางวัลจากที่นี่ ถือเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่น่ายกย่องระดับโลก
โดยผู้ก่อตั้งสถาบันนั้นตั้งชื่อรางวัลตามชื่อตัวเอง
นั่นคือ “รางวัลโนเบล”
ใช่ครับ.. เราไม่เคยรู้เลยว่าใครเป็นผู้ผลิตระเบิดทำลายล้าง แต่เรารู้จักรางวัลโนเบล ซึ่งคือคน ๆ เดียวกัน นั่นคือคุณ อัลเฟรด โนเบล (Alfred Nobel) นักเคมีชาวสวีเดนนั่นเอง
คุณ อัลเฟรด โนเบล ไม่ได้มองแค่ว่าเขาจะได้ใช้ชีวิตอย่างไรในวันที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่เขามองไปถึงว่า “ผู้คนจะนึกถึงเขาอย่างไรในวันที่เขาไม่อยู่”
นึ่คือหนึ่งในหลักความคิดที่น่าสนใจ
“Begin with the End in mind”
จะทำอะไรให้เริ่มคิดก่อนว่า วันที่เราไม่อยู่นั้น ผู้คนจะพูดถึงเราอย่างไร แล้วเราจะอยากทำชีวิตให้ดีขึ้น
มองเห็นคนอื่นมากขึ้น และใช้ชีวิตได้ถูกต้องมากขึ้น
แล้วคุณจะกลายเป็นอีกคนที่ผู้คนจดจำได้ไม่มีวันลืม...