เคยสงสัยไหมว่า ทำไมคนที่ส่งงานช้าถึงมีไอเดียที่ดี หรือคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ มักจะไม่รีบทำ แล้วมาปั่นช่วงใกล้เดดไลน์ แน่ล่ะว่ามันไม่ใช่เรื่องดีเลยที่เราต้องมารอใครซักคนปั่นงาน ในเวลาหน้าสิ่วหน้าขวาน แต่การดองงาน แล้วมาทำทีหลังมันกลับมีความลับบางอย่างที่ซ่อนอยู่ ซึ่งช่วยให้หลายคนทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมชาวผัดวันประกันพรุ่ง ถึงมักครีเอทีฟยังไงล่ะ 😬
การผัดวันประกันพรุ่งเป็นสิ่งที่ถูกมองในแง่ลบมาตั้งแต่เราจำความได้ แต่ผลการวิจัยของ อดัม แกรนท์ (Adam Grant) ศาสตราจารย์ด้านการจัดการ และจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัย Wharton ก็ได้ชี้ให้เห็นว่า ‘การผัดวันประกันพรุ่ง อาจเป็นประโยชน์ต่อความคิดสร้างสรรค์’ ซึ่งนำไปสู่การคิดค้นไอเดีย นวัตกรรม และโซลูชันทางธุรกิจที่ดีขึ้น
“บางครั้งการผัดวันประกันพรุ่งเพียงสั้น ๆ ก็อาจเป็นประโยชน์ได้” ศาสตราจารย์อดัม แกรนท์ เผยว่ามีจุดต่างอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ ระหว่างการทำโปรเจกต์ให้เสร็จทันที กับดองไว้ก่อนจึงค่อยทำ ซึ่งการเลื่อนสิ่งต่าง ๆ ออกไปจะทำให้พนักงานมีประสิทธิผลมากขึ้น หากเราเลื่อนเวลาการทำงานอย่างถูกต้อง
โดยแกรนท์ได้ทำการวิจัยร่วมกับ จีแฮ ชิน (Jihae Shin) เพื่อสำรวจว่าพนักงานผัดวันประกันพรุ่งบ่อยแค่ไหน ในหลายบริษัท โดยขอให้หัวหน้างานให้คะแนนความคิดสร้างสรรค์ของพนักงานเหล่านั้น ซึ่งพวกเขาพบว่า ผู้ที่ผัดวันประกันพรุ่งกลับได้รับคะแนนความคิดสร้างสรรค์สูงกว่ากลุ่มคนขยันซะอีก
ดังนั้นแกรนท์ และ ชิน จึงได้ทำการเจาะลึกลงไปในงานวิจัย โดยได้ขอให้ผู้ร่วมทดลองแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม เพื่อแข่งขันกันหาไอเดียในการทำธุรกิจใหม่ ๆ โดยกลุ่มหนึ่งได้รับมอบหมายให้ทำทันทีหลังได้โจทย์ และอีกกลุ่มหนึ่งให้ใช้เวลา 5 นาทีเพื่อเล่นเกม Minesweeper กับ Solitaire (เกมกู้ระเบิดกับเกมไพ่ในตำนานที่คอมทุกเครื่องต้องมี) ซะก่อน จากนั้นค่อยเริ่มต้นระดมความคิด
ผลลัพธ์ที่ได้นั้นน่าทึ่งมาก เพราะกลุ่มผัดวันประกันพรุ่ง ที่ปล่อยจอยให้ตัวเองได้เล่นเกมก่อนเริ่มคิดงานนั้น สามารถครีเอทีฟไอเดียได้ดีกว่ากลุ่มคนที่ทำงานทันทีถึง 28% เลยล่ะ
ทำไมคนที่ผัดวันประกันพรุ่งถึงครีเอทีฟได้ดีกว่า
เหตุผลเบื้องหลังเรื่องนี้ก็ง่าย ๆ นั่นคือแนวคิดเริ่มแรกที่ออกมาในสมอง มักจะเป็นแนวคิดที่ธรรมดาที่สุด ซึ่งกลุ่มคนที่ทำทันทีนั้นรีบนำแนวคิดแรกเริ่มไปทำทันที ทำให้แนวคิดนั้นออกจะธรรมดา แต่กลุ่มที่ผัดวันประกันพรุ่งนั้น สมองของพวกเขาได้เข้าสู่การชะลอกระบวนการ ซึ่งสิ่งนี้กระตุ้นจิตใจให้กล้าเสี่ยงมากขึ้น จนนำไปสู่การเกิดแนวคิดที่สร้างสรรค์ฉีกกว่าเดิม
โดยแกรนท์ชี้ให้เห็นว่านักคิดผู้ยิ่งใหญ่อย่าง สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs), บิล คลินตัน (Bill Clinton) และแฟรงก์ ลอยด์ ไรต์ (Frank Lloyd Wright) ต่างใช้การผัดวันประกันพรุ่ง ในฐานะตัวเร่งความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขาทั้งสิ้น
หลักการทั้ง 5 ข้อนี้สำหรับการใช้ผัดวันประกันพรุ่งมาเป็นตัวเร่งความคิดสร้างสรรค์
1. พัฒนาสมองให้พร้อมเสมอ
การผัดวันประกันพรุ่งจะเป็นผลดีต่อความคิดสร้างสรรค์ก็ต่อเมื่อ เราได้เตรียมสมองให้พร้อมกับงานที่ทำอยู่แล้ว แต่มันจะไม่ทำให้ไอเดียดี ๆ เกิดขึ้นได้เลย ถ้าเราไม่คิดถึงงานของตนให้อยู่ในหัว ดังนั้นการผัดวันประกันพรุ่ง จะได้ผลดีที่สุดก็ต่อเมื่อเราต้องพิจารณาเรื่องนั้น ๆ อย่างถี่ถ้วนซะก่อน
2. บล็อกเว็บไซต์ที่ทำให้เสียสมาธิทั้งหมด
เราจะผัดวันประกันพรุ่งได้ยังไง ถ้ายังมี Youtube, Tiktok, Facebook, Twitter หรือ Instagram
ซึ่งการ ควบคุมการผัดวันประกันพรุ่งด้วยการบล็อกเว็บไซต์ และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่รบกวนสมาธิไว้ชั่วคราว จะทำให้เราแน่ใจว่าจะไม่เสียเวลาไปกับการไถฟีดเกินไป
3. ผัดวันประกันพรุ่งโดยเจตนา
จงมีส่วนร่วมในการผัดวันประกันพรุ่ง ด้วยการหันเหความสนใจของเราออกไปจากงาน ปิดแล็ปท็อป มองออกไปนอกหน้าต่าง เดินรอบ ๆ ห้อง จัดโต๊ะของตัวเองให้เรียบร้อย เดินเล่น เล่นเกมบนโทรศัพท์ หรืออะไรก็ได้ที่ทำให้เราผละออกจากงาน เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้สมองของเราได้พักสั้น ๆ
4. จำกัดเวลาการพัก อย่าให้นานเกิน
การศึกษาพบว่าการผัดวันประกันพรุ่งเป็นเวลา 5 นาทีนั้นเหมาะสมที่สุด เพราะอะไรก็ตามที่มากกว่านั้น จะทำให้สมองของเรา เริ่มล่องลอยไป
5. ลงมือใส่ไอเดียแบบไม่มีกรอบมากั้น
หลังจากช่วงผัดวันประกันพรุ่งที่กำหนดไว้ ให้ใช้เวลา 5 นาทีถัดไปเพื่อจดไอเดียต่าง ๆ ที่แล่นเข้าหัวลงไปในกระดาษให้ได้มากที่สุด โดยไม่ต้องมีกรอบมากั้น นั่นจะทำให้เราเห็นไอเดียที่น่าสนใจปรากฏขึ้นมา
ท้ายที่สุด ไม่มีการดองงานใด ๆ จะทำให้เกิดผลดี หากเราทำงานออกมาไม่ได้ประสิทธิภาพ แต่การผัดวันประกันพรุ่ง เพื่อพักสมองก่อนทำงานก็เป็นหนึ่งในเทคนิคสำคัญที่ช่วยปลดล็อกความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งหลักการเหล่านี้จะทำให้เราสามารถเข้าถึงความครีเอทีฟที่ซ่อนอยู่ในตัว หากใครมาว่าเราขี้เกียจก็จงจำไว้ว่า
‘ผัดวันประกันพรุ่งอาจจะแย่ในเชิงโปรดักต์ทีฟก็จริง แต่มันก็เป็นผลดีในแง่ของความคิดสร้างสรรค์นะ’ เพราะฉะนั้น เราไม่ได้อู้งาน เราแค่พักจากสมองงานตรงหน้าก็เท่านั้นเอ้งงงงงงงง ✌️ 😎
แปล เรียบเรียง: พีรพล สดทรัพย์
ที่มา
- How Strategic Procrastination Can Boost Creativity and Innovation
- Why Procrastination Makes You More Creative
- How Strategic Procrastination Can Boost Creativity and Innovation