เพื่อจะก้าวไปข้างหน้าได้ดีขึ้นและคล่องตัวขึ้น การทิ้งนิสัยบางอย่างที่ฉุดรั้งเราไม่ให้ก้าวไปไหน ก็อาจเป็นสิ่งหนึ่งที่เราแทบไม่ต้องลังเลเลยสักนิดที่จะทิ้งมันไป
มีการศึกษาพบว่ากว่า 40% ของชีวิตประจำวันของเรานั้นถูกกำหนดด้วยพฤติกรรมของเราเอง
Gretchen Rubin ผู้เขียนหนังสือ ‘The Four Tendencies’ และผู้สร้างแอปพลิเคชั่น Happier แอปพลิเคชันที่ช่วยให้ผู้ใช้ได้ติดตามและฝึกพฤติกรรมบางอย่าง ผ่านการเจาะลึกลงไปถึงเทคนิคการสร้างแรงบันดาลใจส่วนตัวของแต่ละคน ซึ่งถ้าคุณมีนิสัยหรือพฤติกรรมที่ดีกับตัวเอง ก็มีความเป็นไปได้สูงที่คุณจะมีความสุขมากขึ้น และมีสุขภาพที่ดีขึ้น มีความ productive และความ creative มากขึ้น แต่ถ้าคุณมีพฤติกรรมหรือนิสัยที่ไม่ดีต่อตัวเอง การจะมีความสุขหรือสุขภาพที่ดีก็จะยากตามไปด้วย เพราะนิสัยหรือพฤติกรรมเป็นโครงสร้างของชีวิตประจำวันของเราที่มองเห็นได้ด้วยตา ซึ่งมันจะเป็นตัว shape โครงสร้างการมีชีวิตทั้งหมดของเรา และมีความสำคัญต่อชีวิตของเราอย่างมาก
ซึ่งถ้าเรากลับมาสำรวจตัวเองแล้วลองคิดว่าถ้า เรายังยึดอยู่กับสามนิสัยหรือพฤติกรรมเหล่านี้ มันจะส่งผลลัพธ์ต่อชีวิตของเราอย่างไร?
‘3 นิสัยที่เราควรโยนทิ้งได้แล้ว’
1. เอาพลังของจิตใจไปใช้กับสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้
จากสถานการณ์ในปัจจุบันที่ไวรัสยังไม่เลิกระบาด หนึ่งในนิสัยที่คุณอาจจะต้องเลิก อาจเป็นการยอมรับว่าตัวเรานั้นไม่สามารถควบคุมในสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นหรือเป็นไปได้
เพราะในความเป็นจริง มันก็พอจะมีสิ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อให้ตัวเองปลอดภัยขึ้นและใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีชีวิตที่น่าพอใจได้ แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่เราต้องปรับตัวให้ชินก็ตาม เพราะความจริงแท้คือมันมีสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้อยู่เสมอ และชั่วขณะที่เรายอมรับและเข้าใจได้ เราจะสามารถทำให้สิ่งรบกวนต่างๆ ที่อยู่รายล้อมสถานการณ์ที่วุ่นวายเหล่านี้เล็กลงไปได้ พร้อมกับให้ตัวเองก้าวไปข้างหน้า
ซึ่งสิ่งรบกวนต่างๆ เหล่านี้ก็อาจเป็นเสียงที่พูดพล่ามไปเรื่อย ซึ่งคอยแต่พ่นเรื่องราวในแง่ลบอยู่ในหัวของเรา คอยฉุดรั้งให้เราติดอยู่กับที่และรู้สึกว่าไร้ที่พึง และมันเป็นปัญหาใหญ่ต่อชีวิตของใครหลายคนไม่น้อยเลย เพราะสิ่งรบกวนเหล่านี้นอกจากจะทำให้เราทำงานของตัวเองได้ยากลำบากขึ้นแล้ว ยังเข้ามารบกวนความสัมพันธ์ของเรากับผู้คนรอบข้าง รวมถึงสุขภาพของเราได้ด้วย ซึ่งความไม่แน่นอนและภาวะที่ควบคุมอะไรไม่ได้ จะเติมเชื้อเพลิงให้กับเสียงในหัวเหล่านั้นของ เห็นได้จากภาวะความวิตกกังวลและซึมเศร้าในช่วงเวลาของโรคระบาด ที่มีอัตราพุ่งสูงเกินกว่า 30%
แต่ยังโชคดีที่เรามีเทคนิคบางส่วนที่สามารถจะนำมาปรับใช้ได้ เพื่อควบคุมเสียงเหล่านั้น อย่าง temporal distancing หรือ mental time travel ที่ในทางจิตวิทยาบอกว่ามันคือความสามารถในการสร้างเหตุการณ์ส่วนบุคคลในทางจิตใจขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีวัตถุดิบมาจากอดีต เหมือนกับการจินตนาการถึงสถานการณ์ที่เป็นไปได้ในอนาคต
ซึ่งแทนที่เราจะโฟกัสกับทุกๆ ชั่วขณะที่เกิดขึ้น ให้เราลองเปลี่ยนเป็นการคิดว่าเราจะรู้สึกอย่างไรในอนาคต เช่น ถ้าเรากำลังจะฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดสในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้า เราก็จะรู้สึกดีขึ้นต่อสถานการณ์ไวรัสมากกว่าที่เป็นอยู่นี้ เพราะว่าเราจะได้รับการป้องกันที่ดีขึ้น หรือเป็นการลองคิดว่าเราจะรู้สึกอย่างไร ถ้าในอนาคตอันใกล้ทุกคนในประเทศได้ฉีดวัคซีนกันครบหมดแล้ว
2. ประเมินความสำเร็จด้วยมาตรฐานเดิมๆ
มายด์เซ็ตบางอย่างที่คุณนำมาปรับใช้ในช่วงของสถานการณ์ระบาด อาจกำลังกลายเป็นความเชื่อที่มีข้อจำจัดที่รั้งคุณเอาไว้ไม่ให้กล้าก้าวไปไหนได้
มีผู้คนไม่น้อยที่ชอบพร่ำบอกกับตัวเองด้วยคำพูด อย่างเช่น ‘ฉันทำสิ่งนี้ไม่ได้หรอก’ หรือ ‘จะทำสิ่งนี้ไปทำไม ทำไปเพื่ออะไร?’ ซึ่งคำพูดและความคิดเหล่านี้เองจะกีดกันเราจากการลงมือทำจริง
และความเชื่อที่มีข้อจำกัดอาจเป็นสาเหตุมาจากการประเมินความสำเร็จในอดีต เหมือนกับที่บางคนกำลังดิ้นรนอยู่กับความคิดของตัวเองในเรื่องความสำเร็จ และคอยพร่ำบอกกับตัวเองว่า ‘ฉันทำแบบนั้นไม่ได้หรอก’ ‘ฉันประสบความสำเร็จไม่ได้หรอก’
คำแนะนำของเรื่องนี้ก็คือให้เราสร้างนิยามรูปร่างหน้าตาของความสำเร็จเสียใหม่ เพราะการประเมินความสำเร็จที่ดีขึ้น อาจมาจากการที่เราเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานของตัวเอง และแทนที่เรื่องราวในเชิงลบ ด้วยเรื่องใหม่ๆ ที่เชื่อมโยงกับการก้าวไปข้างหน้าของเรา
3. ใช้ชีวิตโดยไม่วางแผนสำหรับ NEXT NORMAL
เมื่อหลายคนเริ่มคุ้นชินกับการทำงานแบบ remote หรือ WFH แล้วผู้ว่าจ้างหลายคนก็เริ่มเรียกพนักงานให้กลับสู่ออฟฟิศ หรือให้พนักงานกลับมาทำงานแบบ hybrid ซึ่งเรื่องนี้สามารถกลายมาเป็นสิ่งที่ disrupt พฤติกรรมหรือนิสัยการทำงานที่พนักงานหลายคนเพิ่งจะได้ปรับจนเข้าที่ไปแล้วเรียบร้อย หลายพฤติกรรมและหลายนิสัยจึงถูก disrupt ไปในระหว่างที่เกิดภาวะโรคระบาด
แม้ในภาวะโรคระบาดหลายคนอาจได้ริเริ่มพฤติกรรมในเชิงบวกอยู่บ้าง เช่น การทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น เพราะว่าไ้ด้ทำอาหารเอง หรือได้มีเวลาตอนเช้าในการจัดตารางชีวิตของตัวเอง เพราะไม่ต้องเร่งรีบออกจากบ้าน แต่ก็มีบางพฤติกรรมหรือนิสัยย่ำแย่บางอย่างที่เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน เช่นดูโทรทัศน์มากขึ้น จ้องหน้าจอมากขึ้น หรือไม่ได้ไปออกกำลังกายที่ไหนเลย สิ่งสำคัญที่จะช่วยปรับนิสัยและพฤติกรรมให้ดีขึ้น จึงเป็นการที่เราซื่อสัตย์กับตัวเอง ด้วยการถามว่า เรากำลังยึดติดอะไรบางอย่างที่ส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตหรือความสำเร็จไหม?
ลองคิดถึงสิ่งที่จะเป็น next normal ของคุณดู เพราะมันอาจช่วยสะท้อนอะไรบางอย่างตลอดปีสองปีที่ผ่านมาของคุณได้ ว่าเราอะไรที่ควรทำต่อ หรืออะไรที่เราควรปล่อยหรือเลิกได้แล้ว แล้วจงเลือกเก็บและทิ้งสิ่งเหล่านั้นไปอย่างมีสติ
เพราะว่านิสัยหรือพฤติกรรมบางอย่างของคนเรานั้น มักจะเกิดขึ้นก่อนที่เราจะได้ตระหนักถึงมัน เหมือนกับปฏิกิริยาตอบโต้อัตโนมัติที่เรามีต่อสิ่งแวดล้อมของเรา การถอยหลังกลับมามองตัวเอง และให้เวลาว่างกับตัวเองเพื่อทบทวนสิ่งต่างๆ บ้างจึงเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนั้นการนึกถึงชีวิตที่เราอยากให้เป็นแบบนั้นแบบนี้ และการถามตัวเองว่าอะไรเวิร์คไม่เวิร์ค แล้วค่อยกำหนดว่าเราจะสร้าง next normal ของตัวเอง หรือนิสัยใหม่ของตัวเองอย่างมีสติรู้ตัวได้อย่างไรก็เป็นสิ่งที่สำคัญต่อการใช้ชีวิตในปัจจุบันและอนาคตของเราเช่นกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
เรื่อง: ป่าน – อดามาส
Content Creator ผู้ชอบงานเขียนมากกว่าทุกสิ่ง และชอบตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิตที่หาคำตอบไม่ค่อยเจอ