มีคำพูดที่น่าสนใจจาก Kirstin Lynde ผู้ก่อตั้งบริษัทพัฒนาผู้นำ Catalyze Associates ในช่วงศตวรรษที่ 20 ( ค.ศ. 1901 - ค.ศ. 2000 ) ไว้ว่า
“ผู้นำที่ดีในศตวรรษที่ 20 มักจะเป็นผู้ให้คำตอบ คอยกำหนดวิสัยทัศน์และกลยุทธ์จากข้างบน”
แต่กลับกันผู้นำที่ดีที่สุดในศตวรรษที่ 21 (ค.ศ. 2001 - ค.ศ. 2100) หรือปัจจุบัน! คือผู้นำที่แสวงหาคำแนะนำมุมมองใหม่ ๆ รวมถึงตั้งคำถามด้วยความอยากรู้อยากเห็นให้กับตัวเอง และทีมงานของเขา รวมไปถึงสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีรอบตัว” ซึ่งถือเป็นทักษะ 2025 ที่สำคัญของผู้นำยุคใหม่
พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้นำในปัจจุบัน
คุณ Jeffrey Sanchez-Burks นักวิทยาศาสตร์พฤติกรรมจาก Stephen M. Ross School of Business มหาวิทยาลัยมิชิแกน กล่าวว่าการระบาดใหญ่ คือจุดเปลี่ยนที่ส่งผลกระทบอย่างยาวนานต่อการเป็นผู้นำในทุกประเทศ ตั้งแต่การล็อกดาวน์ ทำให้วิถีชีวิตการเรียน, การหางาน, การเข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการ หรือการทำงานทางไกลพร้อม ๆ กับการดูแลครอบครัว ได้หล่อหลอมให้พวกผู้นำ เป็นอย่างที่พวกเขาเป็นในวันนี้
ผู้นำจำเป็นต้องใส่ใจต่อความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ปรับตัวเข้ากับความต้องการ และความท้าทายที่ทีมงานของเราต้องเผชิญ เพราะหลังจากเราพ้นการระบาดใหญ่ เรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีครั้งใหญ่จาก AI ส่วนฝั่งทางด้านพนักงานก็ต้องการความยืดหยุ่น และสมดุลระหว่างงานและชีวิต ในขณะที่องค์กรก็ต้องบริหารความแตกต่างในคุณค่าที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน
ด้วยการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองถึง 6 ทักษะ ในปี 2025 ของผู้นำยุคใหม่ที่จำเป็นต้องมี
1. ทักษะการเปิดรับอารมณ์ (Emotional Aperture)
คุณ Jeffrey Sanchez-Burks นักวิทยาศาสตร์พฤติกรรม ได้คิดคำนี้ขึ้นจากการเป็นหนึ่งในทักษะ 2025 ที่สำคัญว่า การเปิดรับอารมณ์ คือผู้นำที่มีความสามารถในการเข้าใจและเชื่อมต่อกับอารมณ์ของคนทำงานได้ หรือเรียกง่าย ๆ ว่าสามารถเข้าใจอ่านบรรยากาศรอบตัวออก ประเมินอารมณ์โดยรวม และเป็นคนช่างสังเกตอารมณ์คนทำงาน ผู้นำที่ประสบความสำเร็จจากการสังเกตสัญญาณเหล่านี้เพื่อเข้าใจอย่างลึกซึ้งของคนทำงาน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งภายในทีม และรักษาคนในทีมของคุณให้มีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้นต่อการทำงาน
📍 เริ่มต้นพัฒนาทักษะ Emotional Aperture ปี 2025
กฎสำคัญของการพัฒนาทักษะนี้คือ “การฝึกฝนและความตั้งใจจริง” โดยเริ่มจาก
เริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการเป็นนักฝึกสังเกตบรรยากาศภายในทีมอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการสังเกตนี้ได้ทั้งภายในที่ทำงาน และนอกสถานที่ทำงาน ตั้งแต่ฝึกการฟังน้ำเสียง, การสนทนา, ภาษากาย เพราะการฝึกเข้าใจรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นหนึ่งในการฝึกสังเกตพฤติกรรมของคนหลายรูปแบบเพื่อทำความเข้าใจอย่างแท้จริง
ลองให้ทุกคนในทีมเขียนสิ่งที่ชอบเกี่ยวกับงาน และสิ่งที่ทำให้รู้สึกอึดอัด (โดยห้ามเปิดเผยชื่อกัน) หลังจากนั้นนำมาวิเคราะห์ เพื่อพูดคุยกับทีมงานทีละคน (ควรเริ่มจากการมีพื้นที่ส่วนตัว) คุยทั้งในด้านบวก และปัญหาที่พบด้วยความจริงใจและเปิดเผยซึ่งกันและกัน การทำแบบนี้จะช่วยทำให้เกิดความโปร่งใส สร้างกำลัง และความเชื่อมั่นให้กับทีม
เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าพนักงานของเรารู้สึกอย่างไร ต่อให้คุณเป็นผู้นำที่เก่ง ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะแก้ไขปัญหาได้เรื่อง ยิ่งคุณใส่ใจทีมมากเท่าไหร่ พนักงานก็จะรับรู้ความใส่ใจนั้นมากขึ้นเท่านั้น เสมือนการส่งเสียงความรู้สึกไปหา ใคร ๆ ก็อยากให้อีกฝ่ายรับรู้ว่าความรู้สึกที่แท้จริงเป็นอย่างไร
2. ทักษะการสื่อสารที่ปรับได้ตามสถานการณ์ (Adaptive Communication)
อีกหนึ่งทักษะ 2025 ที่หมายถึง “รู้ว่าเมื่อไหร่จะปรับให้เข้ากับสถานการณ์นั้น ๆ” ผู้นำที่ประสบความสำเร็จจะสามารถปรับตัวเพื่อให้เข้ากับช่วงเวลานั้น และเพิ่มประสิทธิภาพให้ทีมในเวลาเดียวกัน การที่จะสามารถทำให้ทักษะนี้เกิดได้ นอกจากจะเข้าใจบริบทโดยรอบแล้ว การเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึก และการสร้างบรรยากาศโดยรอบที่ดีก็สำคัญ
📍 เริ่มต้นพัฒนาทักษะ Adaptive Communication ปี 2025
กฎสำคัญของการพัฒนาทักษะนี้คือ “ปฏิบัติต่อผู้อื่นแบบที่ทุกคนต้องการ”
เริ่มต้นจากการพูดคุยกับทีมงานแบบตัวต่อตัว บางครั้งเราก็ไม่ได้จำเป็นต้องพูดเรื่องงานเสมอไป อาจจะลองถามเรื่องอื่นกับทีมงาน เพื่อให้เห็นว่าพวกเขาสนใจอะไร เราค่อย ๆ ทำความเข้าใจ เพื่อเข้าไปถึงความรู้สึก สิ่งสำคัญที่สุดของผู้นำคือการปรับตัวและตั้งใจฟังจากใจจริง โดยไร้อคติทั้งปวง
อีกหนึ่งเทคนิคที่ดีคือการใช้เครื่องมือ เช่น DISC Assessment ให้กับทีมงานเพื่อรับรู้ถึงพฤติกรรมแต่ละคน เพราะการเข้าใจบุคลิกภาพสำคัญ เช่น พนักงานคุณอาจจะเป็นตัว S ที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ใส่ใจผู้อื่น แสดงว่าถ้าเราไม่ให้คุณค่ากับการทำงาน และความเป็นอยู่ที่ดีในองค์กร เขาก็จะไม่กล้าเปิดใจกับเรา
สามารถอ่านเนื้อหา DISC เพิ่มเติมได้ที่
3. ทักษะมีความคิดที่ยืดหยุ่นอยู่เสมอ (Flexible Thinking)
เมื่อโลกใบนี้มีความไม่แน่นอนมากมาย การคิด วิเคราะห์ แยกแยะเพื่อนำไปสู่สิ่งที่ใช่ที่สุด ถือเป็นอีกหนึ่งทักษะ 2025 ที่ผู้นำยุคใหม่จะได้รับความท้าทายเป็นแน่ ดังนั้นคนที่มีความคิดที่ยืดหยุ่น ยอมรับในความไม่ชัดเจน เปิดใจรับฟังความคิดเห็นใหม่ ๆ จะสามารถรับมือกับความท้าทาย และลดความขัดแย้งเชิงความคิดได้ดีกว่าคนที่ยึดติดกับวิธีคิดแบบเดิม ๆ
📍 เริ่มต้นพัฒนาทักษะ Flexible Thinking ปี 2025
กฎสำคัญของการพัฒนาทักษะนี้คือ “การพร้อมยอมรับการเปลี่ยนแปลง”
การตั้งคำถามคือการฝึกฝนที่ดีที่สุด เพราะการถามคำถามที่ดีจะนำไปสู่ การออกจากกรอบความคิดเดิม ๆ และเป็นการเปิดรับความเป็นไปได้ใหม่ ๆ และวิธีคิดที่แตกต่างออกไป
สำหรับใครที่คิดว่ายาก ลองเริ่มฝึกจากการคิดเป็นภาพได้ ผ่าน Mind Mapping เพราะการวาดภาพ คือพื้นฐานของการจัดระเบียบความคิดในหัว หรือเวลาประชุมหากข้อมูลเยอะ ลองทำเป็นภาพก็จะช่วยจำได้ง่ายขึ้น
4. ทักษะการประสานมุมมองที่หลากหลาย (Perspective Seeking, Taking, and Coordinating)
งานวิจัยจากบทความใน HBR ระบุไว้ว่า ‘พลังของอำนาจ มักจะลดความเห็นอกเห็นใจ และทำให้มุมมองแคบลง’ จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้นำหลายคนยึดถือความคิดตัวเองเป็นใหญ่ และมองข้ามความคิดผู้อื่น แต่ทักษะ 2025 ต่อจากนี้ ถ้าเราอยากทำให้ทีมมีประสิทธิภาพ การเปิดรับมุมมองที่เห็นต่าง แล้วสามารถผสมผสานข้อมูลนั้นให้กลายเป็นข้อมูลใหม่ได้สำคัญ เพราะจะส่งไปถึงการสื่อสาร, การบริหารความเสี่ยง, การคิดเชิงกลยุทธ์ และการแก้ไขข้อขัดแย้ง ได้อีกมากมาย
📍 เริ่มต้นพัฒนาทักษะ Perspective Seeking, Taking, and Coordinating ปี 2025
กฎสำคัญของการพัฒนาทักษะนี้คือ “มองให้ลึกถึงมุมมองของผู้อื่นอย่างตั้งใจแทนการมองมุมของตัวเอง แล้วฝึกตั้งคำถาม เพื่อเข้าใจมุมมองของผู้อื่นอย่างแท้จริง”
หากคุณเป็นคนที่ยึดติดกับความคิดตัวเองมากเกินไป ลองเปิดโอกาสไปพบปะผู้คนภายนอก ฝึกฝนด้วยการพูดคุยยอมรับในความคิดเห็นคนอื่น เพราะเมื่อคุณคุยกับคนมากพอ และยอมรับในมุมมองที่แตกต่าง คุณจะค้นพบอคติตัวร้าย และในวันที่คุณค้นพบมัน คุณจะท้าทายมันได้ในที่สุด
อีกเทคนิคที่น่าสนใจคือ ‘อ่านนิยายให้มากขึ้น’เหตุผลเพราะว่าการอ่านนิยายจะช่วยพาคุณไปสู่มุมมองของตัวละครที่มีภูมิหลังแตกต่างกัน ตั้งแต่เชื้อชาติ, สัญชาติ, เพศ, วิถีชีวิต โดยงานวิจัยระบุไว้ว่า การเปิดรับสิ่งเหล่านี้จะช่วยขยายความเข้าใจได้มากขึ้น
เพราะคุณจะรู้สึกถึงความท้าทายที่คนอื่นกำลังเผชิญ ตัวละครนี้กว่าจะฝ่าฟันอุปสรรคมาได้ เขาต้องเผชิญอะไรมามากมาย รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้แหละ จะยิ่งทำให้คุณเป็นคนที่ละเอียดอ่อนขึ้น เข้าใจมุมมองที่ต่างจากที่เราเห็นเพียงภายนอก ยิ่งคุณทำบ่อย ๆ เท่าไหร่ ทักษะนี้ก็จะมีมากขึ้น และเป็นผลดีในอนาคต
5. ทักษะสร้างกลยุทธ์รับการเปลี่ยนแปลง (Strategic Disruption Skills)
ทักษะนี้คือการตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็นอยู่ แทนที่จะยึดติดกับสิ่งที่เคยสำเร็จมาก่อน เรียกได้ว่านี่น่าจะเป็นทักษะปัจจุบัน ส่งผลไปถึง ทักษะ 2025 และจะส่งผลต่อไปเรื่อย ๆ อีกในอนาคต เพราะผู้นำต้องหมั่นสังเกตและตั้งคำถามอยู่เสมอ วิธีคิดแบบเดิม ๆ จะไม่สามารถพัฒนาผลลัพธ์ได้ดีขึ้นได้ เพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ และปรับปรุงให้ดีขึ้นอยู่เสมอ และที่สำคัญมาก ๆ ของทักษะนี้จะทำให้พนักงานของคุณ กล้าที่จะเปิดใจแลกเปลี่ยนไอเดียกับผู้นำได้ง่ายขึ้น ไม่กลัวที่จะเสนอไอเดียใหม่ ๆ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญขององค์กรที่สามารถทำให้สภาพแวดล้อมการทำงานมีแต่คนคิดสร้างสรรค์
📍 เริ่มต้นพัฒนาทักษะ Strategic Disruption Skills ปี 2025
กฎสำคัญของการพัฒนาทักษะนี้คือ “การเปิดรับไอเดียใหม่และเปิดรับมุมมองจากผู้อื่นเพื่อเพิ่มโอกาส”
ผู้นำต้องกล้าขอไอเดียจากคนอื่นให้เป็นนิสัย เพราะการเปิดใจยอมรับโดยไม่อิงว่าเราถูกต้องที่สุด หรือฉลาดที่สุด จะช่วยให้ผู้อื่นรู้สึกว่าความคิดของเขามีคุณค่า มีความหมายต่อองค์กร เราอาจจะเริ่มง่าย ๆ ในที่ประชุมได้ เช่น 10 นาทีสุดท้ายของการประชุม ผู้นำอาจจะขอความเห็น ขอไอเดีย ว่าเราจะพัฒนาให้ดีกว่าเดิมได้อย่างไร เพราะผู้นำก็ไม่ได้รู้ทุกเรื่อง คีย์สำคัญของการขอการมีส่วนร่วมจากทุกคนคือ เราจะได้เห็นว่าทุกคนในทีมมีความรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อไปสู่ความสำเร็จที่เกิดจากทุกคนอย่างแท้จริง
ผู้นำต้องสนับสนุนให้ได้ทีมทดลองสิ่งใหม่ การทดลองโปรเจกต์ใหม่ ๆ จะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้สิ่งใหม่และความล้มเหลวได้ดี รวมไปถึงตัวผู้นำก็จะไม่หยุดนิ่ง เราจะได้เห็นสิ่งใหม่ ได้เป็นที่ปรึกษาแนะนำการแก้ไขปัญหาใหม่ ๆ ช่วยกระตุ้นให้เราได้ลองทำสิ่งใหม่ ได้ทดสอบสิ่งที่ทำ และปรับปรุงเพื่อสิ่งที่ดีกว่าอยู่เสมอ
6. ทักษะตระหนักรู้ในตนเองอย่างยืดหยุ่น (Resilient Self-Awareness)
หากสังเกตทั้ง 6 ทักษะที่ทุกคนได้อ่านมาทั้งหมด มักมีเรื่องของความยืดหยุ่นสอดแทรกอยู่เสมอ เพราะในฐานะผู้นำ มันไม่ใช่ตัวเราเพียงคนเดียว แต่คุณต้องพร้อมเสนอ Solution เพื่อช่วยสนับสนุนทีม ทั้งในเรื่องของงาน และสุขภาพจิต เพราะผู้นำก็เป็นมนุษย์ไม่ได้ต่างจากพนักงานเลย แถมในบางครั้งอาจจะรู้สึกโดดเดี่ยวยิ่งกว่า
ดังนั้นการตระหนักรู้ในตนเอง คือการรู้ข้อจำกัดของตัวเรา ว่าเมื่อไหร่ควรหาความช่วยเหลือ และเมื่อไหร่ควรเข้าไปช่วยเหลือ เพราะทักษะนี้จะช่วยให้ผู้นำรับรู้ขีดจำกัดตัวเอง และยังส่งผลในการจัดการความเครียดของตัวเองได้ดี เมื่อคุณจัดการความเครียดได้แล้ว โอกาสที่คุณจะสร้างบรรยากาศที่ดีต่อการทำงานก็จะมากขึ้น
📍 เริ่มต้นพัฒนาทักษะ Resilient Self-Awareness ปี 2025
กฎสำคัญของการพัฒนาทักษะนี้คือ “ยอมรับจุดอ่อน เพื่อพัฒนาอย่างยืดหยุ่นอยู่เสมอ”
คุณ Jeffrey Sanchez-Burks แนะนำให้ศึกษาและรับแรงบันดาลใจของนักกีฬาที่เราชื่นชอบ เพื่อเจาะลึกดูว่าเขาสามารถจัดการสภาพร่างกายและจิตใจอย่างไร เพื่อให้ทำงานผลงานได้ดีอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงเขาอาจจะเจอกับความล้มเหลว แล้วเขาจัดการกับความรู้สึกนั้นได้อย่างไร เพราะการทำงานเต็มที่ตลอดเวลาไม่ได้หมายถึงคุณเก่งที่สุด แต่คนที่เก่งคือคนที่รู้ว่าจังหวะไหนควรพักฟื้นตัวเอง คุณต้องฝึกเรียนรู้ทั้งจุดแข็ง และจุดอ่อน เพื่อพัฒนาตัวเองอย่างหยืดหยุ่นอยู่เสมอ
การพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำทั้ง 6 ข้อนี้ ไม่ใช่แค่เพื่อการเติบโตส่วนบุคคลเท่านั้น! แต่ยังเกี่ยวข้องกับการสร้างอนาคตของการทำงาน และการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรอบตัว เพราะผู้นำในปัจจุบันต้องเผชิญกับความกดดันใหม่ ๆ เพื่อไปสู่เป้าหมายที่สูงกว่าเดิมอย่างรวดเร็ว
ถึงแม้การเป็นผู้นำในวันนี้จะยากขึ้น แต่มันก็น่าตื่นเต้น เป็นความท้าทายและโอกาสที่มากขึ้นในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง และผลกระทบที่ดีในระยะยาว
แปล เรียบเรียง: กิตติภพ ปานล้ำเลิศ
ที่มา
- 6 Essential Leadership Skills — and How to Develop Them
- Becoming Powerful Makes You Less Empathetic
- The Case for Reading Fiction