คุณสามารถตอบตัวเองได้ไหมว่า “ตัวตนที่แท้จริง” ของเราเป็นอย่างไร ?
เพราะมนุษย์เกิดมาต่างครอบครัว, ต่างสถานที่, ต่างพันธุกรรม สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้ “มนุษย์” เกิดความแตกต่างในการใช้ชีวิต
🤔 ทำไมบางคนถึงดูสดใส ร่าเริง พูดเก่งม๊าก
🤔 ทำไมบางคนไม่มีความมั่นใจ ชอบวิตกกังวลได้ทุกเรื่อง
🤔 ทำไมบางคนอ่อนโยน อยู่ใกล้แล้วใจฟู
🤔 ทำไมบางคนตรงต่อเวลา แต่พอสายนิดเดียวก็เครียดซะแล้ว!
🎯 Big Five Personality Traits จะทำให้เรา ‘รู้จักตัวตนที่แท้จริง’ ของตัวเอง
Big Five Personality Traits หรือ The 5-Factor Model of Personality หลายคนเรียกกันว่า ‘OCEAN’ เป็นหนึ่งในโมเดลที่ได้รับการวิจัยจากนักจิตวิทยาตั้งแต่ยุคสมัยเดิม มาจนถึงปัจจุบัน ที่พูดถึงพื้นฐานบุคลิกลักษณะเฉพาะของมนุษย์
ซึ่งทฤษฎีนี้พัฒนาขึ้นโดย คุณ Donald Winslow Fiske (โดนัลด์ วินสโลว์ ฟิสก์) ในปี 1949 โดยก่อนหน้าทฤษฎีนี้ถูกคิดค้นถึง 4,000 ข้อ และสุดท้ายก็ลดลงมาเหลือ 16 ข้อ แต่ก็ยังถือว่าซับซ้อนมากเกินไปอยู่ดี จนผ่านมาหลายยุคหลายสมัยก็มีผู้พัฒนาต่อยอดมากมาย และท้ายที่สุดก็ถึงคุณพอล คอสตา และ รอเบิร์ต แมคเคร (Paul Costa & Robert McCrae) โดยเน้นไปที่การศึกษาลักษณะนิสัย (Traits) เป็นหลัก จึงเกิดมาเป็น 5 ข้ออย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน ดังนี้
🟡 1. Openness (การเปิดรับประสบการณ์)
คือตัวแทนของ คนรักความท้าทาย ชอบจินตนาการ เป็นคนช่างฝัน คนที่มีความเปิดกว้างสูง ในที่นี้หมายถึงคนที่เล็งเห็นและมักคว้าโอกาส, ไม่ปิดกั้น, เปิดกว้างกับเรื่องใหม่ ๆ เสมอ มักจะมีความสนใจในหลากหลายด้าน ช่างสงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับโลกและผู้คน เปิดรับสิ่งใหม่ และชอบทดลองเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ นอกจากนี้ คนที่มีลักษณะนิสัยนี้มักจะเป็นคนรักการผจญภัยและมีความคิดสร้างสรรค์
😊 คนที่มี Openness ในระดับที่สูง 😊
- เป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ชอบอยู่ในกรอบ
- เปิดรับโอกาสใหม่ ๆ อยู่เสมอ
- ชอบเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ
- มีเซนต์ด้านศิลปะ รับรู้ถึงความงดงาม
🥹 คนที่มี Openness ในระดับที่ต่ำ 🥹
- ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง
- ไม่ชอบลองสิ่งใหม่
- ไม่ค่อยมีจินตนาการ ชอบอยู่ในกรอบ
- ไม่มีเซนต์ด้านศิลปะ หรือรับรู้ถึงความงดงาม
🟣 2. Conscientiousness การมีจิตสำนึก
คือตัวแทนของ การมีจิตสำนึกรับผิดชอบ เป็นคนมีสติ, มีการควบคุมอารมณ์ที่ดี และพฤติกรรมที่มุ่งเน้นไปที่เป้าหมาย เป็นคนที่มีความพิถีพิถันสูง มักจะชอบวางแผนล่วงหน้า คิดถึงผลกระทบของพฤติกรรมตัวเองต่อผู้อื่นอยู่เสมอ และมักให้ความสำคัญในเรื่องเวลา
😊 คนที่มี Conscientiousness ในระดับที่สูง 😊
- เป็นคนที่มักจะวางแผนล่วงหน้าอยู่เสมอ
- มีความรับผิดชอบต่องานที่ทำสูง
- มักจะใส่ใจรายละเอียด
- ชอบตารางเวลาที่แน่นอน
- มีความซื่อสัตย์ มีวินัยในตนเอง
🥹 คนที่มี Conscientiousness ในระดับที่ต่ำ 🥹
- ไม่ชอบวางแผนล่วงหน้า
- ไม่เน้นความสำเร็จ แต่ก็ทำเสร็จนะ
- ไม่ค่อยมีจุดมุ่งหมายในชีวิต
- ชอบผัดวันประกันพรุ่ง ไม่ตรงต่อเวลา
- ขาดความน่าเชื่อถือ
🔴 3. Extraversion การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
คือตัวแทนของ การชอบเข้าสังคม ชอบความตื่นเต้น, พูดเก่ง, กล้าแสดงออก และแสดงออกทางด้านอารมณ์เยอะเป็นพิเศษ คนที่มีบุคลิกแบบนี้มักจะร่าเริง, ชอบพูดคุย, พบปะผู้คน การอยู่กับคนอื่นช่วยให้พวกเขารู้สึกมีพลังและตื่นตัวอยู่เสมอ
😊 คนที่มี Extraversion ในระดับที่สูง 😊
- ชอบเป็นจุดสนใจ
- มักเป็นฝ่ายชวนคนอื่นคุยก่อน
- ชอบพบปะคนใหม่ ๆ มีเพื่อนและคนรู้จักเยอะ
- รู้สึกมีพลังเมื่อได้พูดคุยกับผู้อื่น
- ชอบพูดก่อนคิด
🥹 คนที่มี Extraversion ในระดับที่ต่ำ 🥹
- ไม่ชอบเป็นจุดสนใจ
- ไม่ค่อยกล้าเปิดบทสนทนาก่อน
- รู้สึกหมดพลัง เมื่อต้องเข้าสังคม
- ชอบอยู่คนเดียว เป็นการชาร์จพลัง
- คิดไตร่ตรองก่อนพูดเสมอ
🟢 4. Agreeableness การเป็นมิตรต่อผู้อื่น
คือตัวแทนของ การเป็นมิตรต่อผู้อื่น มักจะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่, ไว้วางใจได้ ชอบที่จะร่วมมือไปด้วยกัน เป็นสายตามไม่ใช่สายนำคนอื่น, เป็นผู้เสียสละ, มีความเมตตา, รักการเอาใจเขามาใส่ใจเรา, กลมกลืนกับสังคมได้ดี และชอบช่วยเหลือสังคม
😊 คนที่มี Agreeableness ในระดับที่สูง 😊
- ชอบให้อภัย และชอบช่วยเหลือผู้อื่น
- เป็นคนเห็นอกเห็นใจ และห่วงใยผู้อื่น
- ชอบที่จะส่งเสริมความสุขของผู้อื่น
- มักจะช่วยเหลือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ
- ตรงไปตรงมา อ่อนน้อมถ่อมตน
🥹 คนที่มี Agreeableness ในระดับที่ต่ำ 🥹
- เน้นผลประโยชน์ของตัวเองก่อนเสมอ
- ไม่ค่อยแคร์ หรือ สนใจว่าผู้อื่นรู้สึกอย่างไร
- ไม่สนใจปัญหาของผู้อื่น
- เป็นคนระแวดระวัง เป็นเหตุจากการไม่ไว้วางใจ
- ไม่ค่อยเป็นมิตรกับใคร
🔵 5. Neuroticism การวิตกกังวลทางอารมณ์
คือตัวแทนของ มนุษย์เจ้าอารมณ์ เป็นคนที่มีภาวะความเครียดทางจิตใจ มักจะแสดงให้เห็นถึงความกังวล, ร้องไห้ง่าย เศร้าอยู่บ่อยครั้ง, เปราะบางง่าย, หงุดหงิดง่าย และไม่มั่นคงทางอารมณ์ คนที่มีความวิตกกังวลทางอารมณ์ มักจะรู้สึกอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ
😊 คนที่มี Neuroticism ในระดับที่สูง 😊
- เครียดบ่อย เครียดเก่ง
- เป็นคนที่วิตกกังวลในทุก ๆ เรื่อง
- โกรธง่าย หงุดหงิดง่าย
- อารมณ์เปลี่ยนแปลงบ่อย
- ปลงจากความเครียดได้ยาก
🥹 คนที่มี Neuroticism ในระดับที่ต่ำ 🥹
- มีความมั่นคงทางอารมณ์
- จัดการกับความเครียดได้ดี
- ไม่ค่อยรู้สึกเศร้าหรือหดหู่
- เป็นคนไม่ค่อยกังวล และผ่อนคลายได้เก่ง
🎯 หลายคนที่เคยได้ทำ DISC อาจสงสัยว่า เอ๊! แล้วสองเรื่องนี้ต่างกันอย่างไร ?
ต้องบอกก่อนว่า 2 เครื่องมือนี้หน้าที่ใช้ประเมินบุคลิกภาพ แต่มีจุดประสงค์และวิธีการที่แตกต่างกัน
Big Five Personality Traits: จะมุ่งเน้นไปที่ลักษณะนิสัยพื้นฐาน 5 ประการ ที่เป็นรากฐานของบุคลิกภาพของเรา ซึ่งมาจากพันธุกรรม และสภาพแวดล้อม ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งกับการที่เราอยากเข้าใจตัวเองมากขึ้น เรามีลักษณะนิสัยอย่างไร แล้วเราจะปรับปรุงแก้ไขนิสัยเหล่านั้นได้อย่างไร ซึ่งสามารถไปต่อยอดในการพัฒนาตัวเองมากยิ่งขึ้น ทั้งในชีวิตประจำวัน และการทำงาน
ส่วน DISC: จะมุ่งเน้นไปที่พฤติกรรมที่สังเกตได้ทันทีจากภายนอก ซึ่งจะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ และเน้นการทำความเข้าใจพฤติกรรมของคนทำงาน โดยเฉพาะเรื่อง ‘การสื่อสาร’ ในการทำงานร่วมกันให้เกิดความง่ายในการคุยยิ่งขึ้น เกิดความเข้าอกเข้าใจคนแต่ละกลุ่มมากยิ่งขึ้น
🎯 ไปทำแบบทดสอบกัน!
แบบทดสอบที่ทุกคนจะได้ทำนั้น จะระบุ “Personality Trait Scores” ทั้ง 5 ว่าเรามีเปอร์เซนต์ไหนที่สูง และมีเปอร์เซนต์ไหนที่ต่ำ สำหรับใครที่สนใจอยากทดลองสนุก ๆ ว่าตัวเองเป็นคนแบบไหน สามารถทำได้เลยที่ลิงก์ด้านล่างนี้ แต่บอกไว้ก่อนว่า “ถ้าเกิดทดสอบฟรี” จะสามารถดูได้แค่เบื้องต้นเท่านั้น ไม่สามารถอ่านรีพอร์ตได้น๊า ถ้าอยากอ่านรีพอร์ตแบบจัดเต็มต้องจ่ายเงินเพิ่มเติม
แบบทดสอบ Big Five Personality Traits
แปล เรียบเรียง: กิตติภพ ปานล้ำเลิศ
ที่มา
- What Are The Big 5 Personality Traits?
- What Are the Big 5 Personality Traits?
- Big Five Personality Traits: The 5-Factor Model Of Personality
- Big Five VS DISC